November 12, 2004

“จุด” หน่วยของแรงบันดาลใจ

“จุด” หน่วยของแรงบันดาลใจ
บทสนทนา โดย สันติ ลอรัชวี และ นาถวัฒน์ ธัมพิพิธ
ภาพ : ผลงานชื่อ Be inspired No 1 จากนิทรรศการ Inspired by O
Article / A Day Weekly Magazine
พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ฉบับที่ ๒๖



// ตั้งแต่เด็ก ผมมักทำอะไรตามใจตัวเอง เลือกเรียนวิชาที่อยากเรียน โดดเรียนวิชาที่ไม่ชอบ ฟังเพลงของนักดนตรีที่ชื่นชอบ อ่านหนังสือของนักเขียนคนโปรด ถ้าจะเรียกสิ่งเหล่านั้นว่าแรงบันดาลใจ มันก็บันดาลให้ผมตัดสินใจทำอะไรหลายๆ อย่างที่ส่งผลกับตัวผมจนถึงทุกวันนี้ เมื่อเอากล้องขยายส่องภาพพิมพ์ของตัวผมในปัจจุบันก็จะพบเม็ดสกรีนเล็กๆ หลากสีมากมาย เรียงตัวประกอบกันจนปรากฏภาพของคนๆ หนึ่ง ผมใช้กล้องขยายที่มีกำลังขยายมากขึ้นกว่าเดิมส่องดูอีกครั้ง ผมพบว่าในจุดเล็กๆ นั้นมีบางอย่างอยู่ในนั้น บางจุดคล้ายๆ บุคคลคุ้นเคย บางจุดคล้ายการ์ตูนที่เคยดูตอนเด็กๆ บางจุดมีข้อความจากหนังสือที่เคยอ่านอยู่ในนั้นและอีกหลายๆ จุดล้วนแล้วแต่มีสิ่งที่ประสบมาแล้วทั้งสิ้น...

ขณะที่เดินชมงานนิทรรศการ Inspired by O ของนาถวัฒน์ ธัมพิพิธ ผมพบงานภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนของเขา ผมจึงเอากล้องขยายส่องเม็ดสกรีนดูว่า จุดเล็กๆ ของเขาเป็นอย่างไรบ้าง...

->ถาม (สันติ) : พูดถึงแรงบันดาลใจ สำหรับคุณมักได้สิ่งเหล่านี้มาจากไหน
<-ตอบ (นาถวัฒน์) : อันแรกสุดเลยคือตัวเอง สิ่งที่อยู่ข้างในที่มาจากตัวเอง ตั้งแต่เด็กๆ ตัวผมเองชอบศิลปะหรืออะไร ก็ตามที่เป็นของสวยๆ งามๆ มาตลอด เพราะธุรกิจที่บ้านเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ และข้อดีก็คือ เราได้ซึมซับงานออกแบบสวยๆ สีสัน และองค์ประกอบต่างๆมาอยู่ในตัวเรา
->ถาม : ฟังดูเหมือนแรงบันดาลใจส่วนใหญ่ของคุณจะเป็นสิ่งที่มองเห็น
<-ตอบ : ใช่ ผมว่าเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะมันเป็นส่วนที่จับต้องได้ หรือแม้แต่คุณพ่อของผมเอง ท่านก็เป็นแรงบันดาลใจที่ดีมาก ผมถือว่าท่านก็เป็นศิลปินคนหนึ่ง
->ถาม : การเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในชีวิตของคุณแปรผันไปตามแรงบันดาลใจมากน้อยแค่ไหน
<-ตอบ : สำหรับผม แรงบันดาลใจเป็นอันดับแรกในการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่เหตุผลและสถานการณ์น่าจะเป็นปัจจัยที่เป็นรองลงไป อย่างธุรกิจที่ผมทำก็เป็นเพราะความชอบในงานออกแบบผมก็เลยพยายามเอางานสองลักษณะนี้มารวมกัน โดยดึงเอาสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงรอบๆ ตัวให้เข้ามาผสมกับความชอบส่วนตัว เพื่อทำให้เราสามารถทำทั้งสองอย่างได้ในเวลาเดียวกัน ให้มันเป็นแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน จนสามารถทำให้สิ่งที่เราต้องทำเป็นสิ่งที่เรารักด้วย
->ถาม : คุณสามารถจำแนกแรงบันดาลใจของคุณได้มั้ย
<-ตอบ : ก็คงมีหลายอย่าง แต่ถ้าให้จำแนกน่าจะเป็นแรงบันดาลใจจากข้างในเลย เช่น สิ่งที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็ก ความชอบความสนใจส่วนตัว กับอีกอย่างคือแรงบันดาลใจที่อยู่รอบๆ ตัวเรา จากภายนอก จากที่มองสิ่งแวดล้อมต่างๆ การอยากเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างที่อยู่รอบๆ ตัว เช่น รูปแบบการพิมพ์ที่ผมจะพยายามนำเสนอแนวทางใหม่ๆอยู่เสมอ
->ถาม : การทำงานภายใต้เนื้อหาของจุดในนิทรรศการครั้งนี้ ดูเหมือนคุณจะพยายามสะท้อนความเป็นมืออาชีพที่ทำงานเกี่ยวกับงานพิมพ์ซิลค์สกรีน
<-ตอบ : จริงๆ แล้วงานพิมพ์แทบทุกชนิดมันเริ่มจากจุด ถ้าเราเอาแว่นขยายส่องดูเราจะเห็นจุดไม่ว่าระบบการพิมพ์ใดก็ตาม มันจะประกอบด้วยจุดเล็กๆ รวมกันกลายเป็นน้ำหนักสี จากสีรวมกันกลายเป็นภาพต่างๆ อย่างที่เราเห็นกัน สำหรับเนื้อหาเกี่ยวกับจุดมันเป็นเนื้อหาทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงก็คือการสะท้อนกับมาที่งานพิมพ์ซึ่งเป็นสื่อที่ผมใช้ ส่วนเรื่องทางอ้อมก็เป็นการพูดถึงเรื่องของจุดเริ่มต้น ไม่ว่าใครทำอะไรก็ต้องเริ่มจากจุดเริ่มต้น
->ถาม : การแสดงตัวตนของเม็ดสกรีนในงานพิมพ์ซิลค์สกรีนของคุณที่มีความหยาบกว่างานพิมพ์ออฟเซ็ตทั่วๆ ไป ดูเหมือนคุณจะมีเจตนาและเหตุผลในการเลือกที่จะทำมันออกมาแบบนี้
<-ตอบ : อย่างที่เห็นในงานของผมว่าจะมีการทำให่เม็ดสกรีนมีความเด่นชัด ถึงแม้ว่าทุกวันนี้เราจะสามารถพิมพ์ให้เม็ดสกรีนละเอียดจนมองไม่เห็นแล้วก็ตาม แต่โดยรากฐานของมันแล้ว เมื่อพูดถึงซิลค์สกรีน เรามักนึกถึงเม็ดสกรีนไปด้วย และนั่นก็เป็นสิ่งที่ผมตั้งใจและพยายามจะรักษาบุคลิกของเม็ดสกรีนเอาไว้ให้สอดคล้องกับรูปแบบและแนวคิดของงาน
->ถาม : ในปัจจุบันงานพิมพ์ซิลค์สกรีนมีความเป็น mass มากขึ้น คุณค่าของมันลดลงไปมั้ย
<-ตอบ : มีคนพยายามทำให้มันเป็น mass มากๆ โดยพยายามทำให้ไปเทียบเคียงงานพิมพ์ออฟเซ็ต แต่ผมว่ามันไม่ใช่ แล้วคนที่พยายามทำให้มันเป็น mass นี่แสดงว่าไม่เข้าใจในธรรมชาติของมัน ในระบบอุตสาหกรรมการพิมพ์สมัยใหม่ ผมถือว่าซิลค์สกรีนเป็นงานพิมพ์ที่ใกล้เคียงความเป็นงานศิลปะมากที่สุด เพราะคนยังมีบทบาทสำคัญในกระบวนการอยู่ ผมไม่ได้มองว่ามันเชย มันเก่า หรือสู้ระบบอื่นไม่ได้ และนั่นก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ผมมีความตั้งใจว่า ผมจะพิสูจน์ว่าการพิมพ์ซิลค์สกรีนสามารถทำอะไรได้อีกมากมาย และผมเองก็เป็น head ในแผนกค้นคว้าและพัฒนาของบริษัทด้วย เพื่อแสดงศักยภาพบางอย่างที่ซิลค์สกรีนสามารถทำได้ และจากการที่ผมเดินทางดูงานการพิมพ์ต่างประเทศมาตลอดระยะเวลา 10 ปี พบว่าเทคนิคการพิมพ์ของเรายังไม่มีที่ไหนทำออกมา ทั้งในแง่ความยาก ความกล้า และความจริงจัง แต่ผมก็ไม่ได้บอกว่าผมทำได้คนเดียวนะ...
->ถาม : คุณมีงานที่ชื่อ by combining innovative and ideas คุณคิดยังไงกับคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีสิ่งใดสร้างสรรค์ขึ้นมาจากความว่างเปล่า”
<-ตอบ : จริงๆ แล้วผมอาจจะยังไม่ประสบด้วยตัวเอง คืออาจจะมีคนที่สามารถทำอย่างนั้นได้จริงๆ สร้างสรรค์อะไรบางอย่างโดยไม่ได้รับแรงบันดาลใจจากอะไรเลย ส่วนผมจะมีอะไรที่ยึดหลักบ้าง มีอะไรที่เป็นโครงสร้างหลักบ้าง อย่างงานชุดนี้ ผมก็ยังยึดหรือได้แรงบันดาลใจจากจุด อย่างน้อยก็ยังมีจุด ไม่ได้เกิดจากความว่างเปล่าเลย
->ถาม : แล้วคุณคิดอย่างไรกับคำว่า original
<-ตอบ : อะไรที่ original จริงๆ ผมว่าทุกวันนี้มันมีอยู่น้อยมาก ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ามันมีหรือเปล่า ผมว่าแต่ละคนก็มีแรงบันดาลใจที่ได้มากันคนละอย่าง ทำให้ผมไม่แน่ใจกับการมีอยู่ของคำๆ นี้

ผมถอนสายตาออกจากกล้องขยาย หลับตาเพื่อคลายความมึนจากการเพ่งสายตา เนื่องจากเม็ดสกรีนของคุณนาถวัฒน์ที่ผมเห็นเป็นเม็ดสกรีนซ้อนอีกที...

นิทรรศการ Inspired by O โดย นาถวัฒน์ ธัมพิพิธ และ อิสสริยา วิรัชศิลป์
จัดแสดง ณ หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต ชั้น 2 อาคารหอสมุดสุรัตน์ฯ
26 ตุลาคม – 2 ธันวาคม 2547 เวลา 8.30 – 17.00 น. วันอังคาร – วันเสาร์ //

October 20, 2004

ผู้ใหญ่ไม่กล้าวาดรูป

โดย สันติ ลอรัชวี
ARTicle • a day weekly magazine •
ฉบับที่ ๒๔ • ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๗

// ช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอม เป็นช่วงเวลาที่เด็กๆทั้งหลายจะได้พักสมอง
จากการคร่ำเคร่งกับการไปโรงเรียน หลายๆคนได้มีโอกาสนอนตื่นสาย
ออกไปเตร็ดเตร่วิ่งเล่นกับเพื่อนๆในละแวกแถวบ้าน ได้ไปเที่ยวสวนสัตว์
สวนสนุก สวนน้ำ และอีกสารพัดสวน เปิดหูเปิดตาไปกับสิ่งอื่นๆ
ที่อยู่นอกเหนือตำราเรียน แต่อีกหลายๆคนก็น่าเห็นใจเพราะมี
ความจำเป็นต้องไปเรียนพิเศษในช่วงปิดเทอมตามความเห็นชอบ
ของพ่อแม่ผู้ปกครอง ทั้งติววิชาการหรือเรียนเสริมด้านอื่นๆ
การเรียนเสริมของเด็กๆในยุคที่ทุกเรื่องดูจะเป็นการแข่งขันไปซะหมด
แนวคิดในรูปแบบของการกำจัดจุดอ่อนดูจะเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น
วิธีการตัดตัวเลือกที่ไม่ต้องการออกให้เหลือเพียงคนคนเดียวหรือคนกลุ่มเดียว
เพื่อให้ได้สิทธิในการทำหรือได้รับอะไรบางอย่าง อาจมีส่วนทำให้เรารู้สึกว่า
เราไม่มีสิทธิที่จะทำอะไรบางอย่าง เพียงเพราะเราไม่ได้การยอมรับจากสังคม
ว่าเราสามารถทำได้ดี เด็กๆหลายคนในยุคนี้จึงพยายามเริ่มที่จะสร้างสิทธิใน
การทำอะไรบางอย่างด้วยวินัยและความเป็นเลิศ ซึ่งในบางแง่มุมผมว่าก็น่าจะดี
แต่ก็อย่าลืมทำอะไรเล่นๆบ้างนะน้องๆ....

ส่วนหลานๆของผมช่วงนี้ก็มานอนค้างอ้างแรมกันที่บ้านของผมตลอดช่วงปิดเทอม
กิจกรรมช่วงนี้ก็เป็นกิจกรรมสันทนาการแบบเด็กๆทั่วไป จะมีอะไรนอกเหนือไปกว่า
การนั่งเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ อ่านการ์ตูน ดูวีซีดี ส่วนวันหยุดเราก็จะไปเที่ยวชมตาม
เทศกาลและสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงนี้มีให้เลือกไปเที่ยวกันเยอะแยะไปหมด
ไปเดินดูความรู้วิทยาการต่างๆในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และไปเลือกซื้อ
หนังสือนิทานในสัปดาห์หนังสือ อาหลานก็กระเตงกันไปทั่วให้คุ้มค่ากับการปิดเทอม
แต่กิจกรรมพื้นๆที่ผมกับหลานทำด้วยกันอยู่เสมอก็คือการนั่งวาดรูป ผมพบข้อสังเกต
ตั้งแต่หลานรุ่นก่อนที่ตอนนี้เป็นวัยรุ่นกันหมดแล้วว่า เวลาที่คุณต้องการให้เด็กอยู่นิ่งๆซักพัก
ไม่ป่วนจนคุณไม่สามารถจัดการกับภารกิจส่วนตัวบางอย่าง วิธีหนึ่งที่ผมใช้และมักได้ผล
อยู่เสมอก็คือการเอากระดาษ ดินสอ ดินสอสี มากองบนโต๊ะแล้วก็ให้เจ้าตัวเล็กเริ่มละเลงกันได้เลย
ผมจะให้หัวข้อในการวาดเพื่อเพิ่มความสนุกสนานในการวาดรูปของเด็กๆ

“อ้าว...เมื่อวานไปสวนสัตว์กันมา ลองวาดดูซิว่า เราไปเจอสัตว์อะไรมาบ้าง”
“ยีราฟ....สิงโต....นกแก้ว....กวาง....................” เด็กๆแย่งกันตอบก่อนเริ่มก้มหน้าก้มตาจัดการ
กับกระดาษของตัวเอง การวาดรูปสมาชิกในบ้านก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่เป็นที่นิยมกันในกลุ่มหลานๆของผม
วาดกันจนครบคนไม่เว้นแม้กระทั่งหมาแมว เพราะนับเป็นสมาชิกในบ้านด้วย...


ภาพประกอบ โดย ปังปอนด์ และ ลูกหมี

เด็กๆ วาดได้ทุกอย่างครับ... ยานอวกาศ จรวด ตึกรามบ้านช่อง สิงห์สาราสัตว์ ผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก
ผู้ใหญ่ ไม่มีปัญหาวาดได้หมด ดูเหมือนจะไม่มีสิ่งมาปิดกั้นการวาดรูปของเด็กๆ พวกเขาไม่กลัว
ว่าจะวาดไม่สวย ไม่สนใจว่าจะมีใครมาวิจารณ์ว่าดีหรือไม่ ไม่ยึดติดว่าสิ่งที่วาดออกมาจะเหมือนจริง
ซักแค่ไหน สิ่งสำคัญอยู่ที่การได้ถ่ายทอดประสบการณ์และจินตนาการของตัวเองออกมาอย่างสนุกสนาน
และมีความสุข ย้ำครับ! ว่าอย่างสนุกสนานและมีความสุข และนั่นแหละครับที่คงทำให้พวกเด็กๆ
นั่งใจจดใจจ่ออยู่กับแผ่นกระดาษของตัวเองโดยไม่ลุกไปซนที่ไหน....

เมื่อพูดถึงความไม่กลัวหรือความไม่มีอาการวิตกกังวลของเด็กๆ ครั้งหนึ่งผมเคยเดินไปเจอหมากับแมว
คู่หนึ่งกำลังขู่ฟ่อๆเตรียมจะต่อสู้กัน เป็นคุณจะทำอย่างไร ผมเองก็ได้แต่ยืนดูเฉยๆไม่อยากเข้าไปห้ามทัพ
เพราะกลัวลูกหลง แต่จู่ๆก็มีเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่งเข้ามาอุ้มเจ้าแมวของเธอออกจากบรรยากาศการต่อสู้
โดยไม่มีความกังวลเลยว่าเจ้าหมากับเจ้าแมวที่กำลังอยู่ในภวังค์จะหันกลับมากัดเธอ
ต่างกับผู้ใหญ่อย่างผมที่ทำได้แค่เพียงยืนดู ไม่รู้ว่าความวิตกกังวลของผู้ใหญ่รึเปล่าที่ทำให้เราระมัดระวังมาก
เกินกว่าจะพาตนเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรหลายๆอย่างที่ไม่ใช่ธุระของตน แม้กระทั่งแค่การวาดรูป
ผู้ใหญ่หลายๆคนยังไม่ค่อยกล้าจะวาดรูปเลย ผมเคยลองให้เพื่อนๆหรือคนรู้จักหลายๆคนวาดรูปในหัวข้อต่างๆ
เหมือนกับที่ผมให้หลานๆวาด มักจะได้คำตอบว่า ไม่เอาง่ะ ไม่วาดดีกว่า วาดไม่ค่อยเป็นแล้ว วาดไม่สวย
วาดไม่เหมือน ผมเองก็เป็นเวลาเราจะวาดอะไรบางอย่างที่เราไม่แน่ใจก็จะไม่ค่อยกล้าวาดออกมา

เมื่อเติบโตขึ้น เรามักมีกำแพงกั้นขวางในการทำอะไร
บางอย่างที่เราเคยทำได้อย่าง่ายดายตอนเด็กๆอยู่เสมอ พวกเราหลายๆคนจะมีเพื่อนหรือญาติวัยเดียวกัน
ที่เป็นเพื่อนเล่นกันมาตั้งแต่เด็กแต่กลายเป็นแค่คนรู้จักหรือเพื่อนสมัยเด็กในปัจจุบันเท่านั้น
เด็กๆคบหากันง่ายกว่าผู้ใหญ่ ไม่มีอะไรต้องระแวดระวังกันมากนัก เล่นด้วยกัน ทะเลาะกัน
แล้วก็กลับมาเล่นกันใหม่ แต่ผู้ใหญ่มีข้อแม้มากกว่านั้นที่เป็นปัจจัยในการเปิดใจให้กับใครซักคนหรืออะไรซักอย่าง...

วาดรูปกันเถอะครับ...คุณผู้ใหญ่
ลองหาสมุดบันทึกซักเล่ม แล้วขีดเขียนอะไรก็ได้ลงไปในนั้น จะเป็นสิ่งที่เคยพบเห็นหรือสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงก็ได้
เขียนด้วยปากกาหรือดินสอก็ไม่มีปัญหา ระบายสีหรือไม่ก็ไม่มีใครมาคอยกำหนด
บางทีคุณอาจจะพบโลกส่วนตัวที่ไร้ขอบเขตของเสรีภาพทางความคิดและจินตนาการ
แต่สิ่งที่ผมอยากจะย้ำอีกครั้งก็คือ...
...เด็กๆวาดได้ทุกอย่าง...ผู้ใหญ่ก็วาดได้ทุกอย่างเหมือนกันครับ...//

September 18, 2004

เนื้อเสียงของนิตยสาร

เรื่อง โดย สันติ ลอรัชวี
ARTicle • a day weekly magazine •
ฉบับที่ ๑๘ • กันยายน ๒๕๔๗


แบบตัวอักษร โดย อนุทิน วงศ์สรรคกร

วิธีที่ผมมักจะสังเกตว่าผู้คนในพื้นที่ต่างๆนั้นๆมีความสนใจในเรื่องอะไรบ้างเวลาไปต่างจังหวัด
หรือต่างประเทศ ก็คือการไปดูตามแผงนิตยสารของเมืองนั้นๆ มันทำให้ผมพอที่จะรับรู้เนื้อหา
ทางสังคมของพื้นที่นั้นได้ดีพอสมควร ถึงแม้ว่าการปรากฏขึ้นของนิตยสารบางฉบับจะไม่ได้เกิดขึ้น
จากความต้องการของผู้คนในสังคม แต่บางครั้งอาจมาจากความต้องการของผู้ผลิตนิตยสารเอง
ไม่ว่าจะเป็นความต้องการทางการตลาดหรือเป็นความต้องการทางความสนใจหรือความชอบ
อย่างไรก็ตามแผงนิตยสารสำหรับผมก็ยังเป็นเสมือนป้ายแนะนำตัวเองของเมืองหรือสังคมหนึ่งๆ
ที่ผมจะต้องไปยืนเปิดหูเปิดตาอยู่เสมอ

นิตยสารอาจเป็นสะพานเชื่อมโยงกลุ่มผู้คนที่มีความสนใจ ความชอบ ความเชื่อในเรื่องเดียวกัน
ให้เกิดการสื่อสาร รับรู้ และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน จนในที่สุดก็เกิดความเคลื่อนไหว
หรือการตอบสนองบางอย่างของกลุ่มนั้น ๆอย่างเป็นรูปธรรม

ขณะที่ผมยืนอยู่หน้าแผงนิตยสารแห่งหนึ่ง มีปกนิตยสารกว่าสามสิบฉบับกำลังประชันโฉมอวดรูปแบบ
และแข่งขันเรียกร้องความสนใจ ทั้งหัวนิตยสาร รูปนางแบบ ภาพประกอบ ข้อความพาดหัว
ต่างทำงานกันอย่างแข็งขันเพื่อให้ผู้อ่านได้สะดุดตาสะดุดใจอันนำมาสู่การตัดสินใจซื้อ
ปัจจัยหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อนิตยสารนอกจากเนื้อหาที่สนใจแล้ว ก็คือรูปแบบ
ของนิตยสารที่ผมมักจะลองซื้อนิตยสารที่มีการออกแบบที่น่าสนใจ โดยมากก็มักจะเป็นการอ่าน
เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ทางการออกแบบเสียมากกว่า

ถ้าจะเปรียบการอ่านนิตยสารเหมือนกับการนั่งคุยกับคนๆหนึ่ง รูปเล่มและหน้าปกก็คงเป็นรูปร่างหน้าตา
บุคลิกภาพ การแต่งกาย หรือท่าทางต่างๆของคนๆนั้น ส่วนเนื้อหาของนิตยสารก็เหมือนกับหัวเรื่อง
ที่พูดคุยกัน และแบบตัวหนังสือของนิตยสารก็น่าจะเปรียบได้กับเนื้อเสียงของคนๆนั้นที่เรากำลังนั่งคุยด้วย
และนั่นก็คือประเด็นที่ผมอยากจะเขียนถึงแบบตัวอักษรที่ใช้ในนิตยสารซึ่งโดยมากนักออกแบบมักจะเลือก
หรือซื้อแบบตัวอักษรสำเร็จรูปที่เห็นว่าเหมาะสมกับนิตยสาร ไม่ว่าจะเป็นในเชิงรูปแบบและการอ่าน
บางครั้งการเลือกแบบตัวอักษรมาใช้นั้นก็มีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะแบบตัวอักษรภาษาไทย
ที่อาจมีอยู่ไม่มากพอต่อความหลากหลายของการนำไปใช้ อันเนื่องมาจากอาชีพนักออกแบบตัวอักษร
ในบ้านเรายังไม่สามารถยึดเป็นอาชีพหลักในการหาเลี้ยงปากท้องได้ เพราะคนไทยยังมีความเคยชิน
ในการใช้ฟอนต์หรือตัวอักษรแบบไม่เสียเงิน (ฟรี) อาชีพนักออกแบบตัวอักษรที่มีอยู่จึงเป็นเหมือนงานรอง
ทำไปเพราะใจรักหรือออกแบบไว้ใช้กันเอง ไม่สามารถสร้างรายได้เป็นชิ้นเป็นอัน เพราะขนาดแบบตัวอักษร
ที่ทำขึ้นมาใช้กันเองในวงแคบๆ บางทียังไปเจออยู่ในซีดีผีที่พันธุ์ทิพย์อยู่เสมอ

วัฒนธรรมการซื้อฟอนต์ตัวอักษรนั้นไม่สามารถสร้างและทำให้เกิดการยอมรับได้ในวันนี้พรุ่งนี้
เนื่องด้วยวิชาชีพการออกแบบกราฟิกในบ้านเรามีปัจจัยบังคับหลายอย่างด้วยกัน การเพิ่มต้นทุนในการ
ซื้อฟอนต์ของนักออกแบบขณะที่ลูกค้าที่เป็นผู้จ่ายเงินยังไม่สามารถเข้าใจกับความจำเป็นของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ความเคยชินกับการให้กันง่ายและได้มาง่ายของนักศึกษาและนักออกแบบด้วยกันเองเป็นต้น อย่างไรก็ดีกระแส
เชิงบวกที่ให้ความสำคัญต่อแบบตัวอักษรก็มีมากขึ้นและเห็นเป็นรูปธรรมขึ้นเรื่อยๆเหมือนกัน
เริ่มตั้งแต่การมีกลุ่มนักศึกษาที่รวมตัวกันผลิตฟอนต์อักษรเพื่อขายในงานเทศกาลต่างๆ

จนล่าสุดมีนิตยสารฉบับหนึ่งได้ผลิตแบบตัวอักษรของตัวเองเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะของนิตยสารฉบับนี้เท่านั้น
อย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่าโดยส่วนใหญ่นิตยสารบ้านเรามักจะใช้แบบตัวอักษรสำเร็จรูปที่มีอยู่แล้ว
แต่การที่นิตยสารดีเอ็นเอฉบับโฉมใหม่ได้ให้นักออกแบบตัวอักษรไทยคือ อนุทิน วงศ์สรรคกร
มาออกแบบฟอนต์ที่ชื่อ ทัศนะ เพื่อนำมาใช้เป็นตัวหัวเรื่องและตัวโปรย และที่ชื่อ อนุภาพ
เพื่อนำมาใช้เป็นเนื้อความในนิตยสาร ซึ่งนับได้ว่าเป็นก้าวย่างสำคัญในการออกแบบนิตยสารของบ้านเรา
ที่นิตยสารฉบับหนึ่งได้ให้ความสำคัญและพิถีพิถันต่อแบบตัวอักษรที่จะใช้ในเล่ม
เพราะตัวอักษรก็คือเครื่องมือในการสื่อสารให้เราได้รับรู้เนื้อหานั้นๆ
เราไม่อาจปฏิเสธว่าเนื้อเสียงของคนๆหนึ่งมีผลต่อการพูดคุยทั้งด้านการสื่อสารและ
ด้านความรู้สึก ตราบใดที่เรายังใช้ภาษาเขียนเป็นเครื่องมือหลักในการอ่าน
ฟอนต์ตัวอักษรก็มีความสำคัญเคียงคู่กับภาษาที่เราใช้ไปในขณะเดียวกัน

ผมดีใจและตื่นเต้นต่อความเคลื่อนไหวนี้ ...
ในฐานะผู้ใช้ฟอนต์ตัวอักษร... มาร่วมกันซื้อฟอนต์ไทย
ในฐานะนักออกแบบ... มาร่วมกันออกแบบตัวอักษรไทย
ในฐานะคนไทย... มาร่วมกันใช้ภาษาไทย

August 15, 2004

:: ภาพผู้ว่า ::

เรื่อง โดย สันติ ลอรัชวี
ARTicle • a day weekly magazine •
ฉบับที่ ๑๕ • สิงหาคม ๒๕๔๗



:: กระแสการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังคงเป็นที่สนใจของผมและอีกหลายๆคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งป้ายหาเสียงตามถนนหนทางต่างๆที่ถูกจัดทำขึ้นมาเพื่อสื่อสารถึงอัตลักษณ์และนโยบายการบริหารของแต่ละคน รูปแบบตัวอักษร ภาพที่ใช้ในการนำเสนอบุคลิกภาพและตัวตนของผู้สมัคร รวมถึงการใช้สีให้มีบทบาทสำคัญในการเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายแทนตัวผู้สมัครแต่ละคน สีฟ้า เขียว ส้ม ชมพู หรือแดง ก็สามารถทำให้ผู้คนสามารถรับรู้และนึกถึงตัวผู้สมัครได้ทันทีเหมือนกันเมื่อพบเห็นป้าย ใบปิด หรือเสื้อ ที่มีสีนั้นๆ กลวิธีทางการออกแบบถูกนำมาใช้เป็นปัจจัยสำคัญทางการเมืองสมัยใหม่ มีการกำหนดกลยุทธ์ทางการสื่อสารอย่างมีเป็นระบบ การใช้มืออาชีพทางการสื่อสารในด้านต่างๆเข้ามามีส่วนในการระดมสมองเพื่อเกิดประสิทธิภาพทางการสื่อสารสูงสุดกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการวางกลยุทธ์การสื่อสารหรือโน้มน้าว การสร้างคำ การออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ฯลฯ

ภาพของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีการพัฒนารูปแบบมาอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน อาจมีรูปแบบที่ซ้ำหรือคล้ายคลึงกันของภาพผู้สมัคร ภาพหน้าตรง แต่งกายสุภาพด้วยชุดสากล เครื่องแบบตามอาชีพและสถานภาพของแต่ละบุคคล แต่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ธรรมเนียมปฏิบัติในการใช้ภาพ ก็เริ่มมีรูปแบบที่มีความหลากหลายขึ้น ตัวภาพเองมีเนื้อหาที่แฝงเข้ามามากขึ้น ภาพทำงานร่วมกับคำ หรือ นโยบายในการหาเสียงอย่างสอดคล้อง ตัวอย่างที่หลายคนคงจำได้ดีได้แก่ภาพของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ที่เคยใช้ภาพที่มีลักษณะชี้นิ้วไปบนฟ้า และมองไปยังจุดนำสายตานั้นอย่างมุ่งมั่น ซึ่งนับได้ว่าเป็นการพลิกบทบาทในการใช้ภาพมาสื่อสารทางการเมืองจนประสบความสำเร็จ

ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ เราพบกลวิธีการนำเสนอภาพบุคคลที่มีความน่าสนใจอย่างมาก หลายๆรูปแบบไม่ผิดไปกับผลงานออกแบบโฆษณาที่พบเห็นในหน้านิตยสาร แม้กระทั่งภาพของผู้สมัครคนเดียวก็ยังมีรูปแบบที่หลากหลายเพื่อนำเสนอภาพพจน์และศักยภาพของตนให้เห็นในหลายๆด้าน เริ่มจากป้ายของคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ก็มีการนำเสนอภาพของนักบริหารในชุดสูทสากล ฉากหลังเป็นมหานคร กทม. สะท้อนภาพพจน์ที่มีวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการ แต่ก็ยังมีภาพที่ต้องการนำเสนอความเป็นนักปฏิบัติ ดังจะเห็นได้จากป้ายที่มีรูปคุณอภิรักษ์ กำลังปรึกษากับทีมงานอยู่บนยอดตึก ที่มีฉากหลังเป็นเมือง แต่งกายในชุดลำลอง และสวมหมวกแบบวิศวกรซึ่งให้ความหมายของการทำงานในพื้นที่ ที่ไม่ใช่เพียงแค่นั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานในห้องปรับอากาศเท่านั้น ซึ่งภาพลักษณะเดียวกันนี้ก็ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นนักปฏิบัติในป้ายหาเสียงของคุณปวีณา หงสกุลด้วยเช่นกัน แต่การที่ผู้สมัครซึ่งสวมหมวกวิศวกร และกำลังปรึกษากับทีมงานเช่นเดียวกับคุณอภิรักษ์นั้น ก็มีความแตกต่างกันของฉากหลังที่ไม่ได้อยู่บนยอดอาคาร แต่กลับอยู่บนพื้นดินท่ามกลางการก่อสร้าง ที่ให้ความรู้สึกที่มีความใกล้ชิดและลงลึกกับภารกิจมากกว่า แต่คุณปวีณาก็ไม่ลืมที่จะนำเสนอภาพของคนทำงานทางด้านสิทธิเด็กและสตรี ด้วยการใช้ภาพที่กำลังอยู่ร่วมกับกลุ่มเด็กๆ โดยมีการจัดแสงของภาพที่อบอุ่นและไม่ดูเป็นภาพข่าวเหมือนกับภาพที่กำลังคุมงาน การนำเสนอภาพของนักปฏิบัติดูเหมือนจะเป็นที่นิยมของผู้สมัครหลายๆคนในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพียงแต่มีกลวิธีที่ต่างกันออกไป การใช้ภาพที่มีคุณภาพต่ำ ขาดการจัดองค์ประกอบของภาพอย่างจงใจ เหมือนกับภาพที่ใช้ในหน้าหนังสือพิมพ์หรือเป็นภาพเชิงสารคดี ที่เน้นความจริงของสิ่งที่ปรากฏในภาพ ดูเหมือนจะเป็นวิธีการนำเสนอหลักของคุณพิจิตต รัตตกุล ที่ต้องการให้ภาพลักษณ์ของคนที่ทำงานอย่างจริงจังและทุ่มเทได้สื่อสารออกไป การไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแต่งกายที่ต้องเรียบร้อยและสุภาพเท่านั้น แต่บางครั้งการที่เราเห็นชายเสื้อหลุดออกนอกกางเกงของคุณพิจิตตในป้ายหาเสียง กลับให้ความหมายถึงความทุ่มเทในการทำงานมากกว่าการแต่งกายเรียบร้อยด้วยซ้ำ ทำให้คุณภาพที่ชัดเจนและองค์ประกอบที่สวยงามถูกผู้สมัครหลายๆคนปฏิเสธที่จะนำมาใช้ ซึ่งแตกต่างกับป้ายของคุณมานะ มหาสุวีระชัย ที่พิถีพิถันกับคุณภาพของภาพถ่ายและองค์ประกอบศิลป์ ภาพของคุณมานะที่กำลังมองขึ้นด้านบน เหมือนจะแสดงให้เห็นถึงความมีวิสัยทัศน์ และอุดมการณ์ โดยฉากหลังเป็นภาพของทางด่วนที่ตัดไปมาอย่างลงตัวในองค์ประกอบศิลป์ ถือว่าเป็นป้ายหาเสียงที่มีความสวยงามทางด้านการออกแบบที่สุดป้ายหนึ่ง แต่การมองขึ้นด้านบนของคุณมานะก็อาจจะเป็นจุดที่ทำให้ชาวกทม.หลายๆคนไม่แน่ใจกับสิ่งที่อยู่ด้านบนที่ผู้สมัครกำลังมองอันเป็นสัญลักษณ์เชิงอุดมคติ อาจจะย้อนแย้งกับสถานการณ์ปัญหาของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

การแสดงออกเชิงอารมณ์ในภาพถ่ายที่เรามักพบเห็นในงานโฆษณาหรือภาพยนตร์ ก็ถูกนำมาใช้เพื่อที่จะสร้างอารมณ์ร่วมให้กับชาวกทม. โดยป้ายของคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ที่หาแนวร่วมในการเรียกร้องความจริงจากการบริหารประเทศ ด้วยภาพที่ผู้สมัครชี้นิ้วมาทางผู้ดูด้วยสีหน้าที่เครียดและจริงจัง ลักษณะแบบนี้ทำให้นึกถึงโปสเตอร์ที่มีชื่อว่า “I want you for the U.S. Army” * ในสมัยสงครามโลกครั้งที่1 การสื่อสารโดยแสดงออกทางอากัปกิริยา(gestures) มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความมีส่วนร่วมของคนดู คือการชี้ของผู้สมัครนั้นอาจหมายถึงการถูกชักชวนให้คนดูมีส่วนร่วมกับแนวคิดหรือนโยบายโดยไม่รู้ตัวเลยก็ได้ ทำให้เกิดการโต้ตอบระหว่างผู้ดูกับภาพซึ่งบางครั้งก็สร้างความน่าสนใจ และนำมาสู่ความสัมพันธ์ จนในที่สุดอาจเกิดความเห็นพ้องได้อย่างแยบยล ในชุดภาพของคุณชูวิทย์เอง ก็ยังมีการใช้ภาพในเชิงการแสดงออกทางอารมณ์ในลักษณะอื่นๆอีกด้วย เช่น การขอโอกาส การแสดงภาพลักษณ์ที่ตรงไปตรงมา เป็นต้น

“มันจะติดกันไปทำไมทุกเสาไฟฟ้า....” เพื่อนขาประจำบ่นพึมพัม

หลายๆคนคงรู้สึกรำคาญใจ กับมลภาวะทางสายตาบนถนนหนทางในกทม. ท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงของภาพและตัวอักษร แต่ในความคิดของผม สิ่งน่ารำคาญเหล่านี้ไม่อาจทำให้เรามองข้าม หรือไม่สนใจป้ายหาเสียงเหล่านี้ได้ นอกเหนือจากการดูหน้าคร่าตา อ่านคำขวัญ จำนโยบายแล้ว การพยายามจะวิเคราะห์และเข้าใจวิธีการสื่อสารของผู้สมัครแต่ละคนก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและสำคัญไม่น้อย เพราะบางครั้งการปรุงแต่งอะไรเกินจริงหรือฝืนธรรมชาติของตนมากเกินไป ไม่ว่าจะปรุงแต่งด้วยสิ่งที่ดูเหนือจริง หรือสิ่งที่ดูเสมือนจริง ก็เหมือนกับการโกหกคำโต... ไม่ว่าจะโกหกด้วยการพูด หรือภาพก็ตาม

“แค่ป้ายหาเสียง...คิดมากไปหรือเปล่า?” เพื่อนขาประจำบ่นอีกแล้ว

*** I want you for the U.S. Army เป็นโปสเตอร์ที่มีชื่อเสียงมาก เป็นภาพลุงแซม(Uncle Sam) ใช้มือขวาชี้ออกไปทางผู้ที่ดูโปสเตอร์ ออกแบบโดย James Montgomery Flagg ถูกตีพิมพ์กว่า 4ล้านใบ ในช่วงปีค.ศ. 1917-1918 จากการที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่1 โดยใช้โปสเตอร์นี้รณรงค์ให้ชายชาวอเมริกันมาสมัครเป็นทหาร

August 01, 2004

สวัสดิกะ

โดย สันติ ลอรัชวี
Article / A Day Weekly Magazine
สิงหาคม ๒๕๔๗ ฉบับที่ ๑๓

ปัจุบันทัศนคติของผู้คนทั่วไปที่มีต่อสัญลักษณ์สวัสดิกะหรือเครื่องหมาย
แห่งพรรคนาซีน่าจะแตกต่างไปจากผู้คนในยุคก่อนหน้านี้
และก็น่าจะแตกต่างไปจากผู้คนก่อนหน้าโน้นอีกที...



การปรากฏสัญลักษณ์นี้ตามสิ่งของต่างๆ ในสังคมยุคบริโภค เช่น เสื้อยืด
รอยสัก ลวดลายตามกำแพง เป็นต้น เวลาและยุคสมัยกลับค่าให้สัญลักษณ์
ที่เคยเป็นเครื่องหมายแห่งความรุนแรงและ เป็นที่ต่อต้านของผู้คนทั่วโลก
เป็นเพียงลวดลายที่นำมาใช้ประดับตกแต่งเครื่องแต่งกายหรือเป็นแค่สัญลักษณ์
ของวัยรุ่นที่อยากจะนำเสนอความขัดแย้งกับสังคม แต่ระดับความเข้มข้นนั้น
อาจเทียบไม่ได้กับที่มันเคยเป็น...

สัญลักษณ์สวัสดิกะมีบทบาทและเป็นที่จดจำของคนแทบทั้งโลก
จากการเป“นเครื่องหมายแห่งพรรคนาซีในยุค สงครามโลกครั้งที่ 2
แต่หลายคนคงยังไม่รู้จักสวัสดิกะในความเป็นสัญลักษณ์เก่าแก่ของโลก

เชื่อว่าสัญลักษณ์สวัสดิกะ (Swastika) มีวิวัฒนาการมากว่าสามพันปี
จากอักษรอียิปต์โบราณ คือ ตัว "อันค์" (Ankh) ซึ่งหมายถึง ชีวิต (Life)
ซึ่งที่มาแรกเริ่มก็ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดและยังเป็นที่โต้แย้งในหมู่นักโบราณคดี
และนักวิชาการ อาจจะเนื่องจาก สัญลักษณ์สวัสดิกะถูกพบไปทั่วโลก
ในที่ต่างพื้นที่และต่างวัฒนธรรมกัน เช่น พบตามเครื่องปั้นดินเผาและ เหรียญโบราณ
ที่อยู่ใต้ดินในพื้นที่ๆ เคยเป็นที่ตั้งของกรุงทรอยด์ สิ่งทอของยุคอินคา
รวมทั้งพบตามประเทศต่างๆ ในทวีปเอเซีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย

ไม่ว่าสัญลักษณ์นี้จะมีที่มาจากที่ใด แต่น่าจะมีการแพร่กระจายไป
พร้อมๆกับการค้าและการเผยแพร่ศาสนา ผ่านเส้นทางการค้าทั้งเส้นทางสายไหม
และเส้นทางขนส่งเครื่องเทศทางทะเล

คำว่า "สวัสดิกะ" (Swastika) มาจากภาษาสันสกฤต
โดยประกอบด้วยคำว่า "สุ" (Su) แปลว่า ดี รวมกับคำว่า "อัสติ" (Asti) แปลว่า มี
และต่อท้ายด้วย "กะ" เป็นอาคม (ส่วนที่ต่อท้ายคำ) เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึง
ความมีชีวิต ความกระตือรือร้น อำนาจ ความแข็งแกร่ง และความโชคดี

จะเห็นได้ว่าแรกเริ่มเดิมทีสัญลักษณ์สวัสดิกะ ถูกใช้ในความหมายที่ดี
จนกระทั่งในปี คศ. 1920 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้ดัดแปลงสัญลักษณ์สวัสดิกะมาเป็น
เครื่องหมายแห่งพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน (National Socialist
Workers Party หรือ The Nazis) ในหนังสือ From The Men Behind Hitler
เขียนโดย Bernard Schreiber ได้บอกว่าแนวคิดในการนำสัญลักษณ์สวัสดิกะ
มาใช้กับนาซีมาจากความคิดของทันตแพทย์ที่เป็นสมาชิกที่ชื่อ Dr. Friedrich
Krohn แต่ในหนังสือ Mein Kampf (My Struggle) ของฮิตเลอร์
กลับไม่ได้กล่าวถึง Krohn แต่อย่างใด กลับกล่าวถึงการออกแบบสัญลักษณ์ว่า...
"เขาได้ออกแบบและพยายามนับครั้งไม่ถ้วน ในการจัดการให้ได้มาซึ่งรูปแบบ
ที่สมบูรณ์ จนได้ธงที่มีพื้นหลังสีแดง มีวงกลมสีขาวอยู่ตรงกลาง
และมีสัญลักษณ์สวัสดิกะสีดำอยู่ในวงกลม"

อย่างไรก็ตามสัญลักษณ์สวัสดิกะคงไม่ถูกนำมาดัดแปลงใช้ ถ้าฮิตเลอร์ไม่ต้องการ
และนำมาจัดการจนเสมือนระบบอัตลักษณ์ (Identity System) ของตนเอง
ทั้งในด้านการแสดงตัวตนและด้านการโฆษณาชวนเชื่อ และมีการคำนึงถึงคุณภาพ
ในการสื่อสารผ่านการออกแบบสัญลักษณ์สวัสดิกะ ดังจะเห็นจากตอนหนึ่ง
ในหนังสือ Mein Kampf เกี่ยวกับสีของธงนาซีว่า...
"สีแดงในธงเราเห็นความคิดเชิงสังคม ในขณะที่สีขาวแสดงถึงความเป็นชนชาติ
โดยสัญลักษณ์สวัสดิกะสีดำเป็น เจตจำนงค์ในการต่อสู้เพื่อชัยชนะ
และต่อต้านชนชาติยิว"

และหลังจากนั้นสัญลักษณ์ที่ดูคล้ายตะขอไขว้ก็แผ่ขยายไปในองค์ประกอบต่างๆ
ของพรรคนาซี กลายเป็นสัญลักษณ์ที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองและสังคมโลก
และขณะที่ธงสวัสดิกะนาซีโบกสบัดเป็นเวลาเดียวกันกับการเลือนหายของ
สัญลักษณ์สวัสดิกะเดิมในอดีต ผู้คนสามารถมองเห็นการกระทำที่รุนแรง
โหดร้ายต่างๆ ผ่านสัญลักษณ์สวัสดิกะนาซี
ผู้คนเกิดความรู้สึกหวาดกลัวและชิงชังเพียงแค่เห็นธงโบกสบัด

เนื้อหาที่อยู่ในสัญลักษณ์นั้นแปรเปลี่ยนจากเดิม
ให้ผู้คนและโลกปรับเปลี่ยนการรับรู้ต่อสัญลักษณ์
ที่ใช้เป็นเครื่องหมายอวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข
มาเป็นสัญลักษณ์แห่งพรรคนาซีภายใต้การนำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์

ความสำเร็จของสัญลักษณ์สวัสดิกะนาซีในยุคสมัยฮิตเลอร์
ไม่สามารถนำมาเป็นเครื่องประเมินคุณค่าทางการออกแบบได้เลย...

Stefan Sagmiester เคยเขียนไว้ในบทความของเขาว่า งานออกแบบที่ดี
ควรจะต้องมีองค์ประกอบที่ดี 2 อย่าง คือ การออกแบบที่ดี (good design)
กับ จุดมุ่งหมายที่ดี (good cause)
ซึ่งเราก็คงไม่สามารถจะบอกได้ว่าสัญลักษณ์สวัสดิกะแห่งพรรคนาซีเป็น
งานออกแบบที่ดี แม้รูปแบบที่โดดเด่นและความเป็นที่จดจำของมันจะมี
ประสิทธิภาพสักแค่ไหน อาจจะง่ายกว่าในการจะเลือกชื่นชมป้ายบอกตาม
ถนนหนทางทางที่ชาวบ้านเขียนขึ้นเอง
เพราะอย่างน้อยก็มีประโยชน์ต่อผู้คนแม้จะไม่สวยงามและได้มาตรฐาน

การตายของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในปี คศ. 1945
เป็นเวลา 25 ปีหลังจากสัญลักษณ์สวัสดิกะถูกดัดแปลงนำมาใช้ สงครามและ
ความสูญเสียของมนุษยชาติได้ยุติลง ประเทศเยอรมนีรวมประเทศกลับมาเป็น
ส่วนหนึ่งของสังคมโลก ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 มีให้ศึกษาและค้นคว้า
อย่างนับไม่ถ้วน แต่สำหรับสถานภาพของสัญลักษณ์สวัสดิกะ
จากสัญลักษณ์แห่งความมีชีวิต (well being) และความโชคดี (good fortune, luck)
สู่สัญลักษณ์ที่มีพลังและบทบาทแห่งยุคสมัยภายใต้ตัวแทนแห่งความชั่วร้ายและเกลียดชัง

...น่าสนใจว่าเวลาและยุคสมัย
จะสามารถชำระเลือดที่เปรอะเปื้อนรูปตะขอไขว้นี้ได้หมดหรือไม่...

...น่าสนใจว่าสัญลักษณ์สวัสดิกะบนเสื้อยืดจะพาสัญลักษณ์นี้เดินทางไปสู่นัยะใด...

(บางส่วนของบทความเรียบเรียงจาก
The Swastika, Design Literacy - Understanding Graphic Design, Steven Heller and Karen Pomeroy)

May 01, 2004

หนูไม่ชอบวาดรูปแล้วล่ะ

โดย สันติ ลอรัชวี
Article / A Day Weekly Magazine
พฤษภาคม ๒๕๔๗ ฉบับที่ ๑



// น้องเตยตอน ป.๓ เป็นเด็กหญิงน่ารักน่าชัง ชอบวาดรูปเป็นชีวิตจิตใจ น้องเตยวาดต้นไม้ บ้าน พระอาทิตย์ ผีเสื้อ วาดพ่อ วาดแม่ วาดอาอี๊ อาเจ็ก อาเฮีย อาม่า ไม่มีเว้น เป็นที่ชื่นชมของผู้ใหญ่ในครอบครัว โดยเฉพาะอาเจ็กอย่างผมที่คาดว่าน่าจะมีหลานโตขึ้นมาในสายศิลปะ จะได้รับบทบาทเป็นป๋าดันกับเขาบ้าง (อาจเป็นอาเจ็กดันก็ได้) พ่อกับแม่ของน้องเตยเคยเปรยกับผมถึงการจะให้น้องเตยได้ไปเรียนศิลปะตามสถาบันศิลปะเด็กต่างๆที่เปิดกันเต็มบ้านเต็มเมือง แต่ผมกลับเห็นว่าถ้าจะสนับสนุนหรือส่งเสริมเด็ก สิ่งสำคัญเห็นจะเป็นการสร้างความผูกพันระหว่างศิลปะกับเด็กมากกว่าจะเป็นกติกาหรือกิจวัตรที่ทุกเสาร์หรืออาทิตย์ เก้าโมงเช้าถึงเที่ยงเด็กจะต้องไปเรียนเปียโน บ่ายโมงถึงห้าโมงเย็นต่อด้วยเรียนวาดรูป จนบางคนกลายเป็นเครื่องมือให้พ่อแม่ไปอวดบารมีกัน ดังนั้นน้องเตยก็เลยไม่ได้ไปเรียนอะไรที่ไหน แต่จะได้อิสระในการวาดรูปที่ตัวเองชอบ สีที่อยากใช้ เพื่อนวาดรูปหรือครูศิลปะ(แล้วแต่ความต้องการของน้องเตย)ที่อาเจ็กจะสวมบทบาทเพื่อเสริมบรรยากาศ พอบรรยากาศที่สนุกสนานเริ่มหอมฟุ้ง บรรดาเฮียๆของน้องเตยก็พากันมาร่วมในกิจกรรมวาดรูปที่จะมีกันเป็นประจำทุกวันหยุดที่บ้านอาเจ็กอย่างผมเอง สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่งทำให้ผมตั้งข้อสังเกตว่า โดยพื้นฐานแล้วเด็กๆโดยส่วนใหญ่มีความชอบในการวาดรูปเกือบทุกคนโดยไม่ต้องมานั่งบอกกันว่าศิลปะดีอย่างไร ช่วยให้เรามีความอิ่มเอมใจและพาให้สมองซีกจินตนาการมีชีวิตชีวาเพียงใด (เหมือนที่ผู้ใหญ่หลายๆคนลืมรึเปล่า) เหมือนครั้งที่ผมเคยไปกับเพื่อนอาจารย์รวมถึงลูกศิษย์หลายคนไปจัดกิจกรรมนอกสถานที่บริเวณสวนสาธารณะตรงป้อมพระสุเมร เราเตรียมกระดาษ เฟรมผ้าใบเล็กๆ สี พู่กัน ไปตั้งเต้นท์ จัดโต๊ะให้เด็กๆที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นได้มาวาดรูปกันโดยมีนักศึกษาศิลปะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้ วาดเสร็จแล้วก็แขวนโชว์ให้ได้ชื่นชมกัน ผมพบว่ามีเด็กที่เข้ามาร่วมกิจกรรมเยอะมาก บางคนมาแล้วเดี๋ยวก็มาอีก พาลทำให้ผมนึกสงสัยว่าเด็กๆรอบตัวผมที่พบมาก็ชื่นชมกับศิลปะกันทั้งนั้น แต่ผู้ใหญ่หลายๆคนรอบตัวผมกลับรู้สึกว่าศิลปะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับเขาจนทำให้ไม่อยากเข้าไปสนใจ ผมเองก็ได้แต่สงสัยว่าเด็กๆเหล่านี้ถ้าโตขึ้นไปเป็นนักการเมือง นักธุรกิจ วิศวกร ทนายความ ฯลฯ เค้าจะยังจำวันที่เค้ามานั่งวาดรูปในสวนได้มั้ย เค้าจะพยายามเดินเข้าไปดูงานในหอศิลปบ้างมั้ย(การเดินทางไปหอศิลปหรือแกลเลอรี่ในกรุงเทพฯผมถือว่าต้องมีความพยายาม เพราะมีจำนวนไม่มากและรถติด) หรือเค้าก็คงจะลืมไปแล้วก็คิดว่ากรุงเทพฯไม่จำเป็นต้องมีสถานที่ทางศิลปะเพิ่ม หรือถ้าจะมีก็รวมกับศูนย์การค้าก็ได้

ผมสงสัยเรื่องเด็กๆกับผู้ใหญ่อยู่หลายปีจนเมื่อน้องเตยอยู่ชั้น ป.๖ ผมก็พบข้อสังเกตเพิ่มเติมในเรื่องนี้

น้องเตยตอน ป.๖ เริ่มเป็นเด็กสาว แต่ยังน่ารักน่าชังเหมือนเดิม ช่วงระหว่างนี้ผมไม่ค่อยได้พบและทำกิจกรรมกับหลานๆเท่าไหร่ เพราะด้วยเหตุเรื่องการงานที่ยุ่งขึ้นบ้าง แต่ก็ได้พบกันในงานเลี้ยงรวมญาติ น้องเตยมาบอกผมว่า “เจ็ก..เตยไม่ชอบวาดรูปแล้วล่ะ” พอผมได้ยินเป็นอันต้องจับน้องเตยมานั่งซักไซร้ไล่เรียงกันหน่อยว่าทำไมไม่เจอกันไม่กี่เดือนถึงสรุปออกมาได้ว่าไม่ชอบวาดรูปแล้ว คำตอบที่ได้ในตอนแรกก็เป็นในลักษณะที่อ้างถึงกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับเธอมากกว่าการวาดรูป เช่น เกมส์ ออน ไลน์ บ้างล่ะ การนัดเดินเล่นกับเพื่อนสาวๆตามห้างสรรพสินค้าในวันหยุดบ้างล่ะ ว่ายน้ำ เทนนิส ต่างต่างนานาตามประสาน้องคนเล็กที่แวดล้อมไปด้วยกิจกรรมอันหลากหลายทั้งของตัวเองและของอาเฮีย
“ไม่ได้วาดรูปเลยเหรอ” ผมอยากรู้
“ก็มีบ้างล่ะ” น้องเตยตอบแบบผ่านๆขณะที่เล่นเกมส์เจ้างูน้อย ๒ ในโทรศัพท์มือถืออยู่
”อ้าว...แล้วบอกว่าไม่ชอบ ยังวาดอยู่ก็ดีแล้วนี่”
“ที่วาดน่ะ...ไม่ได้อยากวาด แต่ต้องวาดส่งครู” เธอเฉลย
ในที่สุดผมก็ถึงบางอ้อจนได้ว่าที่น้องเตยไม่อยากวาดรูป(ไม่ใช่ไม่ชอบ)แล้วก็เพราะตั้งแต่ขึ้น ป.๖ มา เธอได้คะแนนไม่ค่อยดีในวิชาศิลปะ วิชาที่เธอเคยทำได้ดีมาตลอด ผลงานที่ส่งอาจารย์แต่ละชิ้นได้ผลการตัดสินที่ทำให้เธอรู้สึกว่าเธอคงวาดรูปไม่เก่ง มีเพื่อนที่ทำได้ดีกว่าเธอหลายคน วิชาศิลปะยากและไม่สนุกซะแล้ว จนในที่สุดการวาดรูปกับน้องเตยก็เป็นเหมือนวิชาคณิตศาสตร์กับเด็กอีกหลายคน สิ่งที่ผมบอกกับหลานออกไปอาจจะดูเหมือนอาเข้าข้างหลาน แต่เหตุผลจริงๆก็คือเข้าข้างหลานแหละครับ ผมบอกหลานไปอย่างยะโสว่า “ครูที่สอนเตยน่ะคงไม่เข้าใจศิลปะ เพราะงานศิลปะมันวัดเป็นคะแนนไม่ได้หรอก เจ็กก็ยังคิดว่าเตยวาดรูปได้สวยอยู่ดี”

ในความเห็นของผมการวัดผลในวิชาศิลปะ ระดับประถมศึกษา โดยเฉพาะการให้คะแนนของผลงานควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมในการทำงานศิลปะของเด็กมากกว่าจะคอยใส่ตัวเลขว่า เธอวาดสวย(ในสายตาใคร?)เอาไป ๑๐ คะแนน เธอวาดพอใช้(ในสายตาใคร?)เอาไป ๗ คะแนน เธอวาดไม่สวย(ในสายตาใคร?)เอาไป ๔ คะแนน ผลสุดท้ายอาจจะเป็นกระบวนการหนึ่งที่กีดกันให้ศิลปะกลายเป็นของคนกลุ่มเล็กๆ และคนอื่นๆก็จะรู้สึกไม่อยากเกี่ยวข้อง ไม่อยากสนใจ เพราะเคยถูกตัดสินมาแล้วคุณทำได้ไม่ดี คุณไม่เก่ง จนในที่สุดก็คือ คุณไม่เกี่ยว ผมจึงขอฝากข้อคิดไปถึง ครู อาจารย์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางด้านการศึกษาในเรื่องการสร้างความผูกพันทางศิลปะให้แก่เยาวชนน่าจะเป็นภาระสำคัญที่สถาบันการศึกษาควรจะมองเห็น ในระดับประถมศึกษาถ้าเรามุ่งเน้นเชิงคุณภาพกับเด็กอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีเท่ากับการสร้างบรรยากาศในการเรียนศิลปะ เพื่อซึบซับความชอบ ความสนใจ จนนำมาสู่ความผูกพันที่หยั่งรากลึกลงไปไม่ว่าในอนาคตเด็กคนนั้นจะเป็นนักวิทยาศาสตร์(ที่มีศิลปะในหัวใจ) ผู้ว่าราชการ CEO (ที่มีศิลปะในหัวใจ) โดยหวังว่าผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าเหล่านี้จะช่วยพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นบ้านเมืองที่ให้ความสำคัญกับศิลปะวัฒนธรรม (ไม่ยืนยันว่าเป็นความหมายเดียวกับกระทรวงวัฒนธรรม) เจริญทั้งทางวัตถุและจิตใจ

น้องเตยตอน ม.๑ สาวน้อยน่ารัก มีกิจกรรมของสาวแรกรุ่นเพิ่มเติมเข้ามาบ้าง เช่นคุยโทรศัพท์กับเพื่อนนานๆ เข้าร้านทำผมเวลาไปงานเลี้ยง ไม่ค่อยสนใจอาเจ็กคนนี้แล้ว แต่สิ่งที่น้องเตยยังชื่นชอบและทำอย่างสม่ำเสมอก็คือการวาดรูป ที่เปลี่ยนไปก็เห็นจะเป็นแค่เนื้อหาในรูปวาดของน้องเตยเท่านั้น ที่ผมเห็นอะไรบางอย่างคล้ายๆที่ผู้ใหญ่เรียกว่า แฟชั่น กระมัง //