August 15, 2004

:: ภาพผู้ว่า ::

เรื่อง โดย สันติ ลอรัชวี
ARTicle • a day weekly magazine •
ฉบับที่ ๑๕ • สิงหาคม ๒๕๔๗



:: กระแสการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังคงเป็นที่สนใจของผมและอีกหลายๆคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งป้ายหาเสียงตามถนนหนทางต่างๆที่ถูกจัดทำขึ้นมาเพื่อสื่อสารถึงอัตลักษณ์และนโยบายการบริหารของแต่ละคน รูปแบบตัวอักษร ภาพที่ใช้ในการนำเสนอบุคลิกภาพและตัวตนของผู้สมัคร รวมถึงการใช้สีให้มีบทบาทสำคัญในการเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายแทนตัวผู้สมัครแต่ละคน สีฟ้า เขียว ส้ม ชมพู หรือแดง ก็สามารถทำให้ผู้คนสามารถรับรู้และนึกถึงตัวผู้สมัครได้ทันทีเหมือนกันเมื่อพบเห็นป้าย ใบปิด หรือเสื้อ ที่มีสีนั้นๆ กลวิธีทางการออกแบบถูกนำมาใช้เป็นปัจจัยสำคัญทางการเมืองสมัยใหม่ มีการกำหนดกลยุทธ์ทางการสื่อสารอย่างมีเป็นระบบ การใช้มืออาชีพทางการสื่อสารในด้านต่างๆเข้ามามีส่วนในการระดมสมองเพื่อเกิดประสิทธิภาพทางการสื่อสารสูงสุดกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการวางกลยุทธ์การสื่อสารหรือโน้มน้าว การสร้างคำ การออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ฯลฯ

ภาพของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีการพัฒนารูปแบบมาอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน อาจมีรูปแบบที่ซ้ำหรือคล้ายคลึงกันของภาพผู้สมัคร ภาพหน้าตรง แต่งกายสุภาพด้วยชุดสากล เครื่องแบบตามอาชีพและสถานภาพของแต่ละบุคคล แต่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ธรรมเนียมปฏิบัติในการใช้ภาพ ก็เริ่มมีรูปแบบที่มีความหลากหลายขึ้น ตัวภาพเองมีเนื้อหาที่แฝงเข้ามามากขึ้น ภาพทำงานร่วมกับคำ หรือ นโยบายในการหาเสียงอย่างสอดคล้อง ตัวอย่างที่หลายคนคงจำได้ดีได้แก่ภาพของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ที่เคยใช้ภาพที่มีลักษณะชี้นิ้วไปบนฟ้า และมองไปยังจุดนำสายตานั้นอย่างมุ่งมั่น ซึ่งนับได้ว่าเป็นการพลิกบทบาทในการใช้ภาพมาสื่อสารทางการเมืองจนประสบความสำเร็จ

ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ เราพบกลวิธีการนำเสนอภาพบุคคลที่มีความน่าสนใจอย่างมาก หลายๆรูปแบบไม่ผิดไปกับผลงานออกแบบโฆษณาที่พบเห็นในหน้านิตยสาร แม้กระทั่งภาพของผู้สมัครคนเดียวก็ยังมีรูปแบบที่หลากหลายเพื่อนำเสนอภาพพจน์และศักยภาพของตนให้เห็นในหลายๆด้าน เริ่มจากป้ายของคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ก็มีการนำเสนอภาพของนักบริหารในชุดสูทสากล ฉากหลังเป็นมหานคร กทม. สะท้อนภาพพจน์ที่มีวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการ แต่ก็ยังมีภาพที่ต้องการนำเสนอความเป็นนักปฏิบัติ ดังจะเห็นได้จากป้ายที่มีรูปคุณอภิรักษ์ กำลังปรึกษากับทีมงานอยู่บนยอดตึก ที่มีฉากหลังเป็นเมือง แต่งกายในชุดลำลอง และสวมหมวกแบบวิศวกรซึ่งให้ความหมายของการทำงานในพื้นที่ ที่ไม่ใช่เพียงแค่นั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานในห้องปรับอากาศเท่านั้น ซึ่งภาพลักษณะเดียวกันนี้ก็ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นนักปฏิบัติในป้ายหาเสียงของคุณปวีณา หงสกุลด้วยเช่นกัน แต่การที่ผู้สมัครซึ่งสวมหมวกวิศวกร และกำลังปรึกษากับทีมงานเช่นเดียวกับคุณอภิรักษ์นั้น ก็มีความแตกต่างกันของฉากหลังที่ไม่ได้อยู่บนยอดอาคาร แต่กลับอยู่บนพื้นดินท่ามกลางการก่อสร้าง ที่ให้ความรู้สึกที่มีความใกล้ชิดและลงลึกกับภารกิจมากกว่า แต่คุณปวีณาก็ไม่ลืมที่จะนำเสนอภาพของคนทำงานทางด้านสิทธิเด็กและสตรี ด้วยการใช้ภาพที่กำลังอยู่ร่วมกับกลุ่มเด็กๆ โดยมีการจัดแสงของภาพที่อบอุ่นและไม่ดูเป็นภาพข่าวเหมือนกับภาพที่กำลังคุมงาน การนำเสนอภาพของนักปฏิบัติดูเหมือนจะเป็นที่นิยมของผู้สมัครหลายๆคนในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพียงแต่มีกลวิธีที่ต่างกันออกไป การใช้ภาพที่มีคุณภาพต่ำ ขาดการจัดองค์ประกอบของภาพอย่างจงใจ เหมือนกับภาพที่ใช้ในหน้าหนังสือพิมพ์หรือเป็นภาพเชิงสารคดี ที่เน้นความจริงของสิ่งที่ปรากฏในภาพ ดูเหมือนจะเป็นวิธีการนำเสนอหลักของคุณพิจิตต รัตตกุล ที่ต้องการให้ภาพลักษณ์ของคนที่ทำงานอย่างจริงจังและทุ่มเทได้สื่อสารออกไป การไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแต่งกายที่ต้องเรียบร้อยและสุภาพเท่านั้น แต่บางครั้งการที่เราเห็นชายเสื้อหลุดออกนอกกางเกงของคุณพิจิตตในป้ายหาเสียง กลับให้ความหมายถึงความทุ่มเทในการทำงานมากกว่าการแต่งกายเรียบร้อยด้วยซ้ำ ทำให้คุณภาพที่ชัดเจนและองค์ประกอบที่สวยงามถูกผู้สมัครหลายๆคนปฏิเสธที่จะนำมาใช้ ซึ่งแตกต่างกับป้ายของคุณมานะ มหาสุวีระชัย ที่พิถีพิถันกับคุณภาพของภาพถ่ายและองค์ประกอบศิลป์ ภาพของคุณมานะที่กำลังมองขึ้นด้านบน เหมือนจะแสดงให้เห็นถึงความมีวิสัยทัศน์ และอุดมการณ์ โดยฉากหลังเป็นภาพของทางด่วนที่ตัดไปมาอย่างลงตัวในองค์ประกอบศิลป์ ถือว่าเป็นป้ายหาเสียงที่มีความสวยงามทางด้านการออกแบบที่สุดป้ายหนึ่ง แต่การมองขึ้นด้านบนของคุณมานะก็อาจจะเป็นจุดที่ทำให้ชาวกทม.หลายๆคนไม่แน่ใจกับสิ่งที่อยู่ด้านบนที่ผู้สมัครกำลังมองอันเป็นสัญลักษณ์เชิงอุดมคติ อาจจะย้อนแย้งกับสถานการณ์ปัญหาของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

การแสดงออกเชิงอารมณ์ในภาพถ่ายที่เรามักพบเห็นในงานโฆษณาหรือภาพยนตร์ ก็ถูกนำมาใช้เพื่อที่จะสร้างอารมณ์ร่วมให้กับชาวกทม. โดยป้ายของคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ที่หาแนวร่วมในการเรียกร้องความจริงจากการบริหารประเทศ ด้วยภาพที่ผู้สมัครชี้นิ้วมาทางผู้ดูด้วยสีหน้าที่เครียดและจริงจัง ลักษณะแบบนี้ทำให้นึกถึงโปสเตอร์ที่มีชื่อว่า “I want you for the U.S. Army” * ในสมัยสงครามโลกครั้งที่1 การสื่อสารโดยแสดงออกทางอากัปกิริยา(gestures) มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความมีส่วนร่วมของคนดู คือการชี้ของผู้สมัครนั้นอาจหมายถึงการถูกชักชวนให้คนดูมีส่วนร่วมกับแนวคิดหรือนโยบายโดยไม่รู้ตัวเลยก็ได้ ทำให้เกิดการโต้ตอบระหว่างผู้ดูกับภาพซึ่งบางครั้งก็สร้างความน่าสนใจ และนำมาสู่ความสัมพันธ์ จนในที่สุดอาจเกิดความเห็นพ้องได้อย่างแยบยล ในชุดภาพของคุณชูวิทย์เอง ก็ยังมีการใช้ภาพในเชิงการแสดงออกทางอารมณ์ในลักษณะอื่นๆอีกด้วย เช่น การขอโอกาส การแสดงภาพลักษณ์ที่ตรงไปตรงมา เป็นต้น

“มันจะติดกันไปทำไมทุกเสาไฟฟ้า....” เพื่อนขาประจำบ่นพึมพัม

หลายๆคนคงรู้สึกรำคาญใจ กับมลภาวะทางสายตาบนถนนหนทางในกทม. ท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงของภาพและตัวอักษร แต่ในความคิดของผม สิ่งน่ารำคาญเหล่านี้ไม่อาจทำให้เรามองข้าม หรือไม่สนใจป้ายหาเสียงเหล่านี้ได้ นอกเหนือจากการดูหน้าคร่าตา อ่านคำขวัญ จำนโยบายแล้ว การพยายามจะวิเคราะห์และเข้าใจวิธีการสื่อสารของผู้สมัครแต่ละคนก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและสำคัญไม่น้อย เพราะบางครั้งการปรุงแต่งอะไรเกินจริงหรือฝืนธรรมชาติของตนมากเกินไป ไม่ว่าจะปรุงแต่งด้วยสิ่งที่ดูเหนือจริง หรือสิ่งที่ดูเสมือนจริง ก็เหมือนกับการโกหกคำโต... ไม่ว่าจะโกหกด้วยการพูด หรือภาพก็ตาม

“แค่ป้ายหาเสียง...คิดมากไปหรือเปล่า?” เพื่อนขาประจำบ่นอีกแล้ว

*** I want you for the U.S. Army เป็นโปสเตอร์ที่มีชื่อเสียงมาก เป็นภาพลุงแซม(Uncle Sam) ใช้มือขวาชี้ออกไปทางผู้ที่ดูโปสเตอร์ ออกแบบโดย James Montgomery Flagg ถูกตีพิมพ์กว่า 4ล้านใบ ในช่วงปีค.ศ. 1917-1918 จากการที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่1 โดยใช้โปสเตอร์นี้รณรงค์ให้ชายชาวอเมริกันมาสมัครเป็นทหาร

August 01, 2004

สวัสดิกะ

โดย สันติ ลอรัชวี
Article / A Day Weekly Magazine
สิงหาคม ๒๕๔๗ ฉบับที่ ๑๓

ปัจุบันทัศนคติของผู้คนทั่วไปที่มีต่อสัญลักษณ์สวัสดิกะหรือเครื่องหมาย
แห่งพรรคนาซีน่าจะแตกต่างไปจากผู้คนในยุคก่อนหน้านี้
และก็น่าจะแตกต่างไปจากผู้คนก่อนหน้าโน้นอีกที...



การปรากฏสัญลักษณ์นี้ตามสิ่งของต่างๆ ในสังคมยุคบริโภค เช่น เสื้อยืด
รอยสัก ลวดลายตามกำแพง เป็นต้น เวลาและยุคสมัยกลับค่าให้สัญลักษณ์
ที่เคยเป็นเครื่องหมายแห่งความรุนแรงและ เป็นที่ต่อต้านของผู้คนทั่วโลก
เป็นเพียงลวดลายที่นำมาใช้ประดับตกแต่งเครื่องแต่งกายหรือเป็นแค่สัญลักษณ์
ของวัยรุ่นที่อยากจะนำเสนอความขัดแย้งกับสังคม แต่ระดับความเข้มข้นนั้น
อาจเทียบไม่ได้กับที่มันเคยเป็น...

สัญลักษณ์สวัสดิกะมีบทบาทและเป็นที่จดจำของคนแทบทั้งโลก
จากการเป“นเครื่องหมายแห่งพรรคนาซีในยุค สงครามโลกครั้งที่ 2
แต่หลายคนคงยังไม่รู้จักสวัสดิกะในความเป็นสัญลักษณ์เก่าแก่ของโลก

เชื่อว่าสัญลักษณ์สวัสดิกะ (Swastika) มีวิวัฒนาการมากว่าสามพันปี
จากอักษรอียิปต์โบราณ คือ ตัว "อันค์" (Ankh) ซึ่งหมายถึง ชีวิต (Life)
ซึ่งที่มาแรกเริ่มก็ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดและยังเป็นที่โต้แย้งในหมู่นักโบราณคดี
และนักวิชาการ อาจจะเนื่องจาก สัญลักษณ์สวัสดิกะถูกพบไปทั่วโลก
ในที่ต่างพื้นที่และต่างวัฒนธรรมกัน เช่น พบตามเครื่องปั้นดินเผาและ เหรียญโบราณ
ที่อยู่ใต้ดินในพื้นที่ๆ เคยเป็นที่ตั้งของกรุงทรอยด์ สิ่งทอของยุคอินคา
รวมทั้งพบตามประเทศต่างๆ ในทวีปเอเซีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย

ไม่ว่าสัญลักษณ์นี้จะมีที่มาจากที่ใด แต่น่าจะมีการแพร่กระจายไป
พร้อมๆกับการค้าและการเผยแพร่ศาสนา ผ่านเส้นทางการค้าทั้งเส้นทางสายไหม
และเส้นทางขนส่งเครื่องเทศทางทะเล

คำว่า "สวัสดิกะ" (Swastika) มาจากภาษาสันสกฤต
โดยประกอบด้วยคำว่า "สุ" (Su) แปลว่า ดี รวมกับคำว่า "อัสติ" (Asti) แปลว่า มี
และต่อท้ายด้วย "กะ" เป็นอาคม (ส่วนที่ต่อท้ายคำ) เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึง
ความมีชีวิต ความกระตือรือร้น อำนาจ ความแข็งแกร่ง และความโชคดี

จะเห็นได้ว่าแรกเริ่มเดิมทีสัญลักษณ์สวัสดิกะ ถูกใช้ในความหมายที่ดี
จนกระทั่งในปี คศ. 1920 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้ดัดแปลงสัญลักษณ์สวัสดิกะมาเป็น
เครื่องหมายแห่งพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน (National Socialist
Workers Party หรือ The Nazis) ในหนังสือ From The Men Behind Hitler
เขียนโดย Bernard Schreiber ได้บอกว่าแนวคิดในการนำสัญลักษณ์สวัสดิกะ
มาใช้กับนาซีมาจากความคิดของทันตแพทย์ที่เป็นสมาชิกที่ชื่อ Dr. Friedrich
Krohn แต่ในหนังสือ Mein Kampf (My Struggle) ของฮิตเลอร์
กลับไม่ได้กล่าวถึง Krohn แต่อย่างใด กลับกล่าวถึงการออกแบบสัญลักษณ์ว่า...
"เขาได้ออกแบบและพยายามนับครั้งไม่ถ้วน ในการจัดการให้ได้มาซึ่งรูปแบบ
ที่สมบูรณ์ จนได้ธงที่มีพื้นหลังสีแดง มีวงกลมสีขาวอยู่ตรงกลาง
และมีสัญลักษณ์สวัสดิกะสีดำอยู่ในวงกลม"

อย่างไรก็ตามสัญลักษณ์สวัสดิกะคงไม่ถูกนำมาดัดแปลงใช้ ถ้าฮิตเลอร์ไม่ต้องการ
และนำมาจัดการจนเสมือนระบบอัตลักษณ์ (Identity System) ของตนเอง
ทั้งในด้านการแสดงตัวตนและด้านการโฆษณาชวนเชื่อ และมีการคำนึงถึงคุณภาพ
ในการสื่อสารผ่านการออกแบบสัญลักษณ์สวัสดิกะ ดังจะเห็นจากตอนหนึ่ง
ในหนังสือ Mein Kampf เกี่ยวกับสีของธงนาซีว่า...
"สีแดงในธงเราเห็นความคิดเชิงสังคม ในขณะที่สีขาวแสดงถึงความเป็นชนชาติ
โดยสัญลักษณ์สวัสดิกะสีดำเป็น เจตจำนงค์ในการต่อสู้เพื่อชัยชนะ
และต่อต้านชนชาติยิว"

และหลังจากนั้นสัญลักษณ์ที่ดูคล้ายตะขอไขว้ก็แผ่ขยายไปในองค์ประกอบต่างๆ
ของพรรคนาซี กลายเป็นสัญลักษณ์ที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองและสังคมโลก
และขณะที่ธงสวัสดิกะนาซีโบกสบัดเป็นเวลาเดียวกันกับการเลือนหายของ
สัญลักษณ์สวัสดิกะเดิมในอดีต ผู้คนสามารถมองเห็นการกระทำที่รุนแรง
โหดร้ายต่างๆ ผ่านสัญลักษณ์สวัสดิกะนาซี
ผู้คนเกิดความรู้สึกหวาดกลัวและชิงชังเพียงแค่เห็นธงโบกสบัด

เนื้อหาที่อยู่ในสัญลักษณ์นั้นแปรเปลี่ยนจากเดิม
ให้ผู้คนและโลกปรับเปลี่ยนการรับรู้ต่อสัญลักษณ์
ที่ใช้เป็นเครื่องหมายอวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข
มาเป็นสัญลักษณ์แห่งพรรคนาซีภายใต้การนำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์

ความสำเร็จของสัญลักษณ์สวัสดิกะนาซีในยุคสมัยฮิตเลอร์
ไม่สามารถนำมาเป็นเครื่องประเมินคุณค่าทางการออกแบบได้เลย...

Stefan Sagmiester เคยเขียนไว้ในบทความของเขาว่า งานออกแบบที่ดี
ควรจะต้องมีองค์ประกอบที่ดี 2 อย่าง คือ การออกแบบที่ดี (good design)
กับ จุดมุ่งหมายที่ดี (good cause)
ซึ่งเราก็คงไม่สามารถจะบอกได้ว่าสัญลักษณ์สวัสดิกะแห่งพรรคนาซีเป็น
งานออกแบบที่ดี แม้รูปแบบที่โดดเด่นและความเป็นที่จดจำของมันจะมี
ประสิทธิภาพสักแค่ไหน อาจจะง่ายกว่าในการจะเลือกชื่นชมป้ายบอกตาม
ถนนหนทางทางที่ชาวบ้านเขียนขึ้นเอง
เพราะอย่างน้อยก็มีประโยชน์ต่อผู้คนแม้จะไม่สวยงามและได้มาตรฐาน

การตายของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในปี คศ. 1945
เป็นเวลา 25 ปีหลังจากสัญลักษณ์สวัสดิกะถูกดัดแปลงนำมาใช้ สงครามและ
ความสูญเสียของมนุษยชาติได้ยุติลง ประเทศเยอรมนีรวมประเทศกลับมาเป็น
ส่วนหนึ่งของสังคมโลก ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 มีให้ศึกษาและค้นคว้า
อย่างนับไม่ถ้วน แต่สำหรับสถานภาพของสัญลักษณ์สวัสดิกะ
จากสัญลักษณ์แห่งความมีชีวิต (well being) และความโชคดี (good fortune, luck)
สู่สัญลักษณ์ที่มีพลังและบทบาทแห่งยุคสมัยภายใต้ตัวแทนแห่งความชั่วร้ายและเกลียดชัง

...น่าสนใจว่าเวลาและยุคสมัย
จะสามารถชำระเลือดที่เปรอะเปื้อนรูปตะขอไขว้นี้ได้หมดหรือไม่...

...น่าสนใจว่าสัญลักษณ์สวัสดิกะบนเสื้อยืดจะพาสัญลักษณ์นี้เดินทางไปสู่นัยะใด...

(บางส่วนของบทความเรียบเรียงจาก
The Swastika, Design Literacy - Understanding Graphic Design, Steven Heller and Karen Pomeroy)