February 29, 2008

| มหรสพแห่งความฝัน ความหวัง และอุดมคติ (The Amusement of Dream Hope and Perfection) |




นิทรรศการ มหรสพแห่งความฝัน ความหวัง และอุดมคติ
โดย นที อุตฤทธิ์
หอศิลป์วิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์หมาวิทยาลัย
18 ต.ค. ถึง 24 พ.ย. 2550

ผมขออนุญาตคัดบางส่วนของบทความประกอบนิทรรศการ
“การจู่โจมของวัตถุ: ภาพลักษณ์ที่แผ่ขยายออกไปสถิตย์อยู่ทุกหนทุกแห่ง” เขียนโดย สุรกานต์ โตสมบุญ
เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการชมผลงานจิตรกรรม และการมีบทความประกอบนิทรรศการศิลปะ
จะทำให้ผู้คนใกล้ชิดและสามารถเชื่อมโยงกับงานศิลปะมากขึ้น


ในการวิเคราะห์ข้อความที่มาจากจดหมายรักที่ว่า “Fair Countess, I am dying for love of your beautiful eyes” Vincent Descombes
ได้ผ่าแบ่งประโยคออกเป็น 5 องค์ประกอบย่อยได้แก่ (a) “Fair Countess” (b) “I am” (c) “dying” (d) “for love” และ
(e) “of your beautiful eyes” จากองค์ประกอบย่อยนี้ เมื่อได้ทำการเรียงสลับกันใหม่ เราจะได้วิธีการเรียงที่ต่างกันถึง 120 แบบไม่ซ้ำกัน
และในการเรียงแต่ละแบบก็จะให้ความรู้สึกและความหมายที่ต่างกันออกไปด้วย แต่เมื่อถามว่าแบบใดดีที่สุด Descombes กล่าวว่าคือแบบแรก
(หรือ a b c d e) เพราะเป็นแบบที่สอดรับกับรหัสหรือกฎเกณฑ์ทางสังคมในขณะนั้น – อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเรียงในแบบใด มีวิธีเล่าแบบใด
หรือเนื้อเรื่องมีรายละเอียดต่างกันอย่างไร ก็ยังสามารถสืบกลับไปได้ว่ายังเป็น “จดหมายรัก” อยู่ และทุกครั้งที่มีการเรียงประโยคใหม่
ความหมายตรง (denotation) คือการพรรณนาถึง “ความรักที่มีต่อผู้หญิง” หรือ “การหลงใหลในผู้หญิงคนนั้น”
ก็จะยังมีอยู่ในทุกครั้งของการเรียงสลับ แต่ ความหมายแฝง (connotation) จะเปลี่ยนแปลงไปทุกครั้ง ในการวิเคราะห์ดังกล่าว
ชัยรัตน์ เจริญสินโอฬาร ชี้ให้เห็นว่า ความหมายแฝง ซึ่งหมายถึง “ค่านิยมของสังคมในแต่ละช่วงสมัย” ของ Descombes
ก็คือสิ่งเดียวกันกับที่ Roland Barthes หมายถึง “อุดมการณ์หลัก” หรือ “มายาคติ” ซึ่งสังคมนั้นๆ กำหนดหรือเชื่อถือกันอยู่นั่นเอง

การผ่าแบ่งส่วนเสี้ยวของประโยคออกจากกันแต่ปรากฏว่า “องค์ประกอบย่อย” ยังคงมีอยู่ในประโยคที่จัดเรียงใหม่ได้ถึง 120 แบบตามที่
Descombes ยกตัวอย่างนั้น อาจนำมาเปรียบได้กับการพยายามที่จะคัดแยกเอาองค์ประกอบทางสายตา ซึ่งหมายถึง คุณสมบัติ
(ผลทางการมองผิวเนื้อวัสดุ, สีสัน, รูปทรง, ขนาด-สัดส่วน, ความเฉพาะของพื้นที่ตั้ง, ฯลฯ) และกฎเกณฑ์ของแสงสี (การสะท้อนแสง-สี,
การสื่อแสดงของแสงเงา, ฯลฯ) ที่มีอยู่บนผิวพื้นหรือรูปทรงสัญญะที่เป็นจริงของวัตถุสิ่งของ, ธงชาติ, รูปประติมากรรม, ดอกไม้, ถุงหิ้ว
และตุ๊กตาเด็กเล่น ออกเป็นส่วนเสี้ยวต่างๆ แล้วจึงดัดแปลงหรือแปรสภาพในแบบที่ยังคงทิ้งร่องรอยดั้งเดิมให้ผู้ชมยังคงสามารถย้อนกลับไปรับรู้
สภาวะดั้งเดิม (รูปประโยคเดิม หรือรูปสัญญะ/ตัวตนวัตถุต้นแบบ) ได้ ก็คือการยังคงส่วนเสี้ยวต่างๆ จากรูปประโยคเดิมให้ผู้อ่านยังปรากฏรับรู้
ว่าประโยคนั้นมี ความหมายตรง ว่าอะไร หรือให้ผู้ชมยังรับรู้ว่ารูปสัญญะนั้นยังคงเป็น/หมายถึง ธงชาติไทย, พระบรมรูปทรงม้า, ฯลฯ
อยู่การแปรเปลี่ยนคุณสมบัติและกฎเกณฑ์ของแสงสีที่เคยปรากฏเป็นผลสื่อแสดงทางสายตาจากตัววัตถุ/รูปทรงสัญญะเดิม แล้วนำมาจัดวางไว้บน
ผืนผ้าใบใหม่เป็นภาพจิตรกรรมหุ่นนิ่งชุด “The Amusement of Dreams, Hope and Perfection” ด้วยกรรมวิธีของการผ่าแบ่งแล้วจัดเรียงใหม่
เช่นเดียวกับกระบวนการวิเคราะห์/ตีแผ่รหัสสัญญะที่มีอยู่ในสังคมของนักสัญวิทยาดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น จึงเป็นกลวิธีที่อาจจะทำให้เกิดการ
สร้าง ความหมายแฝง ชุดใหม่ พร้อมๆ ไปกับเป็นการลดทอนเอาชุดความหมายซึ่งเป็น ค่านิยม/มายาคติ ที่มีอยู่เดิมให้หลุดลอกออกไปจากบริบท
(ความหวัง ความฝัน และอุดมคติ) ในการรับรู้ของสังคมไทย จนเสมือนกับเป็น “ภาพเปล่า” ซึ่งผู้ชมสามารถจะเข้ามาร่วมกันกำหนดตีความ/
กำหนดสร้างใหม่ได้โดยนัยยะต่างๆ กัน

No comments: