โดย สันติ ลอรัชวี
Article / A Day Weekly Magazine
พฤษภาคม ๒๕๔๗ ฉบับที่ ๑
// น้องเตยตอน ป.๓ เป็นเด็กหญิงน่ารักน่าชัง ชอบวาดรูปเป็นชีวิตจิตใจ น้องเตยวาดต้นไม้ บ้าน พระอาทิตย์ ผีเสื้อ วาดพ่อ วาดแม่ วาดอาอี๊ อาเจ็ก อาเฮีย อาม่า ไม่มีเว้น เป็นที่ชื่นชมของผู้ใหญ่ในครอบครัว โดยเฉพาะอาเจ็กอย่างผมที่คาดว่าน่าจะมีหลานโตขึ้นมาในสายศิลปะ จะได้รับบทบาทเป็นป๋าดันกับเขาบ้าง (อาจเป็นอาเจ็กดันก็ได้) พ่อกับแม่ของน้องเตยเคยเปรยกับผมถึงการจะให้น้องเตยได้ไปเรียนศิลปะตามสถาบันศิลปะเด็กต่างๆที่เปิดกันเต็มบ้านเต็มเมือง แต่ผมกลับเห็นว่าถ้าจะสนับสนุนหรือส่งเสริมเด็ก สิ่งสำคัญเห็นจะเป็นการสร้างความผูกพันระหว่างศิลปะกับเด็กมากกว่าจะเป็นกติกาหรือกิจวัตรที่ทุกเสาร์หรืออาทิตย์ เก้าโมงเช้าถึงเที่ยงเด็กจะต้องไปเรียนเปียโน บ่ายโมงถึงห้าโมงเย็นต่อด้วยเรียนวาดรูป จนบางคนกลายเป็นเครื่องมือให้พ่อแม่ไปอวดบารมีกัน ดังนั้นน้องเตยก็เลยไม่ได้ไปเรียนอะไรที่ไหน แต่จะได้อิสระในการวาดรูปที่ตัวเองชอบ สีที่อยากใช้ เพื่อนวาดรูปหรือครูศิลปะ(แล้วแต่ความต้องการของน้องเตย)ที่อาเจ็กจะสวมบทบาทเพื่อเสริมบรรยากาศ พอบรรยากาศที่สนุกสนานเริ่มหอมฟุ้ง บรรดาเฮียๆของน้องเตยก็พากันมาร่วมในกิจกรรมวาดรูปที่จะมีกันเป็นประจำทุกวันหยุดที่บ้านอาเจ็กอย่างผมเอง สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่งทำให้ผมตั้งข้อสังเกตว่า โดยพื้นฐานแล้วเด็กๆโดยส่วนใหญ่มีความชอบในการวาดรูปเกือบทุกคนโดยไม่ต้องมานั่งบอกกันว่าศิลปะดีอย่างไร ช่วยให้เรามีความอิ่มเอมใจและพาให้สมองซีกจินตนาการมีชีวิตชีวาเพียงใด (เหมือนที่ผู้ใหญ่หลายๆคนลืมรึเปล่า) เหมือนครั้งที่ผมเคยไปกับเพื่อนอาจารย์รวมถึงลูกศิษย์หลายคนไปจัดกิจกรรมนอกสถานที่บริเวณสวนสาธารณะตรงป้อมพระสุเมร เราเตรียมกระดาษ เฟรมผ้าใบเล็กๆ สี พู่กัน ไปตั้งเต้นท์ จัดโต๊ะให้เด็กๆที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นได้มาวาดรูปกันโดยมีนักศึกษาศิลปะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้ วาดเสร็จแล้วก็แขวนโชว์ให้ได้ชื่นชมกัน ผมพบว่ามีเด็กที่เข้ามาร่วมกิจกรรมเยอะมาก บางคนมาแล้วเดี๋ยวก็มาอีก พาลทำให้ผมนึกสงสัยว่าเด็กๆรอบตัวผมที่พบมาก็ชื่นชมกับศิลปะกันทั้งนั้น แต่ผู้ใหญ่หลายๆคนรอบตัวผมกลับรู้สึกว่าศิลปะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับเขาจนทำให้ไม่อยากเข้าไปสนใจ ผมเองก็ได้แต่สงสัยว่าเด็กๆเหล่านี้ถ้าโตขึ้นไปเป็นนักการเมือง นักธุรกิจ วิศวกร ทนายความ ฯลฯ เค้าจะยังจำวันที่เค้ามานั่งวาดรูปในสวนได้มั้ย เค้าจะพยายามเดินเข้าไปดูงานในหอศิลปบ้างมั้ย(การเดินทางไปหอศิลปหรือแกลเลอรี่ในกรุงเทพฯผมถือว่าต้องมีความพยายาม เพราะมีจำนวนไม่มากและรถติด) หรือเค้าก็คงจะลืมไปแล้วก็คิดว่ากรุงเทพฯไม่จำเป็นต้องมีสถานที่ทางศิลปะเพิ่ม หรือถ้าจะมีก็รวมกับศูนย์การค้าก็ได้
ผมสงสัยเรื่องเด็กๆกับผู้ใหญ่อยู่หลายปีจนเมื่อน้องเตยอยู่ชั้น ป.๖ ผมก็พบข้อสังเกตเพิ่มเติมในเรื่องนี้
น้องเตยตอน ป.๖ เริ่มเป็นเด็กสาว แต่ยังน่ารักน่าชังเหมือนเดิม ช่วงระหว่างนี้ผมไม่ค่อยได้พบและทำกิจกรรมกับหลานๆเท่าไหร่ เพราะด้วยเหตุเรื่องการงานที่ยุ่งขึ้นบ้าง แต่ก็ได้พบกันในงานเลี้ยงรวมญาติ น้องเตยมาบอกผมว่า “เจ็ก..เตยไม่ชอบวาดรูปแล้วล่ะ” พอผมได้ยินเป็นอันต้องจับน้องเตยมานั่งซักไซร้ไล่เรียงกันหน่อยว่าทำไมไม่เจอกันไม่กี่เดือนถึงสรุปออกมาได้ว่าไม่ชอบวาดรูปแล้ว คำตอบที่ได้ในตอนแรกก็เป็นในลักษณะที่อ้างถึงกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับเธอมากกว่าการวาดรูป เช่น เกมส์ ออน ไลน์ บ้างล่ะ การนัดเดินเล่นกับเพื่อนสาวๆตามห้างสรรพสินค้าในวันหยุดบ้างล่ะ ว่ายน้ำ เทนนิส ต่างต่างนานาตามประสาน้องคนเล็กที่แวดล้อมไปด้วยกิจกรรมอันหลากหลายทั้งของตัวเองและของอาเฮีย
“ไม่ได้วาดรูปเลยเหรอ” ผมอยากรู้
“ก็มีบ้างล่ะ” น้องเตยตอบแบบผ่านๆขณะที่เล่นเกมส์เจ้างูน้อย ๒ ในโทรศัพท์มือถืออยู่
”อ้าว...แล้วบอกว่าไม่ชอบ ยังวาดอยู่ก็ดีแล้วนี่”
“ที่วาดน่ะ...ไม่ได้อยากวาด แต่ต้องวาดส่งครู” เธอเฉลย
ในที่สุดผมก็ถึงบางอ้อจนได้ว่าที่น้องเตยไม่อยากวาดรูป(ไม่ใช่ไม่ชอบ)แล้วก็เพราะตั้งแต่ขึ้น ป.๖ มา เธอได้คะแนนไม่ค่อยดีในวิชาศิลปะ วิชาที่เธอเคยทำได้ดีมาตลอด ผลงานที่ส่งอาจารย์แต่ละชิ้นได้ผลการตัดสินที่ทำให้เธอรู้สึกว่าเธอคงวาดรูปไม่เก่ง มีเพื่อนที่ทำได้ดีกว่าเธอหลายคน วิชาศิลปะยากและไม่สนุกซะแล้ว จนในที่สุดการวาดรูปกับน้องเตยก็เป็นเหมือนวิชาคณิตศาสตร์กับเด็กอีกหลายคน สิ่งที่ผมบอกกับหลานออกไปอาจจะดูเหมือนอาเข้าข้างหลาน แต่เหตุผลจริงๆก็คือเข้าข้างหลานแหละครับ ผมบอกหลานไปอย่างยะโสว่า “ครูที่สอนเตยน่ะคงไม่เข้าใจศิลปะ เพราะงานศิลปะมันวัดเป็นคะแนนไม่ได้หรอก เจ็กก็ยังคิดว่าเตยวาดรูปได้สวยอยู่ดี”
ในความเห็นของผมการวัดผลในวิชาศิลปะ ระดับประถมศึกษา โดยเฉพาะการให้คะแนนของผลงานควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมในการทำงานศิลปะของเด็กมากกว่าจะคอยใส่ตัวเลขว่า เธอวาดสวย(ในสายตาใคร?)เอาไป ๑๐ คะแนน เธอวาดพอใช้(ในสายตาใคร?)เอาไป ๗ คะแนน เธอวาดไม่สวย(ในสายตาใคร?)เอาไป ๔ คะแนน ผลสุดท้ายอาจจะเป็นกระบวนการหนึ่งที่กีดกันให้ศิลปะกลายเป็นของคนกลุ่มเล็กๆ และคนอื่นๆก็จะรู้สึกไม่อยากเกี่ยวข้อง ไม่อยากสนใจ เพราะเคยถูกตัดสินมาแล้วคุณทำได้ไม่ดี คุณไม่เก่ง จนในที่สุดก็คือ คุณไม่เกี่ยว ผมจึงขอฝากข้อคิดไปถึง ครู อาจารย์ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางด้านการศึกษาในเรื่องการสร้างความผูกพันทางศิลปะให้แก่เยาวชนน่าจะเป็นภาระสำคัญที่สถาบันการศึกษาควรจะมองเห็น ในระดับประถมศึกษาถ้าเรามุ่งเน้นเชิงคุณภาพกับเด็กอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีเท่ากับการสร้างบรรยากาศในการเรียนศิลปะ เพื่อซึบซับความชอบ ความสนใจ จนนำมาสู่ความผูกพันที่หยั่งรากลึกลงไปไม่ว่าในอนาคตเด็กคนนั้นจะเป็นนักวิทยาศาสตร์(ที่มีศิลปะในหัวใจ) ผู้ว่าราชการ CEO (ที่มีศิลปะในหัวใจ) โดยหวังว่าผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าเหล่านี้จะช่วยพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นบ้านเมืองที่ให้ความสำคัญกับศิลปะวัฒนธรรม (ไม่ยืนยันว่าเป็นความหมายเดียวกับกระทรวงวัฒนธรรม) เจริญทั้งทางวัตถุและจิตใจ
น้องเตยตอน ม.๑ สาวน้อยน่ารัก มีกิจกรรมของสาวแรกรุ่นเพิ่มเติมเข้ามาบ้าง เช่นคุยโทรศัพท์กับเพื่อนนานๆ เข้าร้านทำผมเวลาไปงานเลี้ยง ไม่ค่อยสนใจอาเจ็กคนนี้แล้ว แต่สิ่งที่น้องเตยยังชื่นชอบและทำอย่างสม่ำเสมอก็คือการวาดรูป ที่เปลี่ยนไปก็เห็นจะเป็นแค่เนื้อหาในรูปวาดของน้องเตยเท่านั้น ที่ผมเห็นอะไรบางอย่างคล้ายๆที่ผู้ใหญ่เรียกว่า แฟชั่น กระมัง //
May 01, 2004
หนูไม่ชอบวาดรูปแล้วล่ะ
Posted by Tik Lawrachawee at Saturday, May 01, 2004
Labels: Article