August 01, 2004

สวัสดิกะ

โดย สันติ ลอรัชวี
Article / A Day Weekly Magazine
สิงหาคม ๒๕๔๗ ฉบับที่ ๑๓

ปัจุบันทัศนคติของผู้คนทั่วไปที่มีต่อสัญลักษณ์สวัสดิกะหรือเครื่องหมาย
แห่งพรรคนาซีน่าจะแตกต่างไปจากผู้คนในยุคก่อนหน้านี้
และก็น่าจะแตกต่างไปจากผู้คนก่อนหน้าโน้นอีกที...



การปรากฏสัญลักษณ์นี้ตามสิ่งของต่างๆ ในสังคมยุคบริโภค เช่น เสื้อยืด
รอยสัก ลวดลายตามกำแพง เป็นต้น เวลาและยุคสมัยกลับค่าให้สัญลักษณ์
ที่เคยเป็นเครื่องหมายแห่งความรุนแรงและ เป็นที่ต่อต้านของผู้คนทั่วโลก
เป็นเพียงลวดลายที่นำมาใช้ประดับตกแต่งเครื่องแต่งกายหรือเป็นแค่สัญลักษณ์
ของวัยรุ่นที่อยากจะนำเสนอความขัดแย้งกับสังคม แต่ระดับความเข้มข้นนั้น
อาจเทียบไม่ได้กับที่มันเคยเป็น...

สัญลักษณ์สวัสดิกะมีบทบาทและเป็นที่จดจำของคนแทบทั้งโลก
จากการเป“นเครื่องหมายแห่งพรรคนาซีในยุค สงครามโลกครั้งที่ 2
แต่หลายคนคงยังไม่รู้จักสวัสดิกะในความเป็นสัญลักษณ์เก่าแก่ของโลก

เชื่อว่าสัญลักษณ์สวัสดิกะ (Swastika) มีวิวัฒนาการมากว่าสามพันปี
จากอักษรอียิปต์โบราณ คือ ตัว "อันค์" (Ankh) ซึ่งหมายถึง ชีวิต (Life)
ซึ่งที่มาแรกเริ่มก็ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดและยังเป็นที่โต้แย้งในหมู่นักโบราณคดี
และนักวิชาการ อาจจะเนื่องจาก สัญลักษณ์สวัสดิกะถูกพบไปทั่วโลก
ในที่ต่างพื้นที่และต่างวัฒนธรรมกัน เช่น พบตามเครื่องปั้นดินเผาและ เหรียญโบราณ
ที่อยู่ใต้ดินในพื้นที่ๆ เคยเป็นที่ตั้งของกรุงทรอยด์ สิ่งทอของยุคอินคา
รวมทั้งพบตามประเทศต่างๆ ในทวีปเอเซีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย

ไม่ว่าสัญลักษณ์นี้จะมีที่มาจากที่ใด แต่น่าจะมีการแพร่กระจายไป
พร้อมๆกับการค้าและการเผยแพร่ศาสนา ผ่านเส้นทางการค้าทั้งเส้นทางสายไหม
และเส้นทางขนส่งเครื่องเทศทางทะเล

คำว่า "สวัสดิกะ" (Swastika) มาจากภาษาสันสกฤต
โดยประกอบด้วยคำว่า "สุ" (Su) แปลว่า ดี รวมกับคำว่า "อัสติ" (Asti) แปลว่า มี
และต่อท้ายด้วย "กะ" เป็นอาคม (ส่วนที่ต่อท้ายคำ) เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึง
ความมีชีวิต ความกระตือรือร้น อำนาจ ความแข็งแกร่ง และความโชคดี

จะเห็นได้ว่าแรกเริ่มเดิมทีสัญลักษณ์สวัสดิกะ ถูกใช้ในความหมายที่ดี
จนกระทั่งในปี คศ. 1920 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้ดัดแปลงสัญลักษณ์สวัสดิกะมาเป็น
เครื่องหมายแห่งพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน (National Socialist
Workers Party หรือ The Nazis) ในหนังสือ From The Men Behind Hitler
เขียนโดย Bernard Schreiber ได้บอกว่าแนวคิดในการนำสัญลักษณ์สวัสดิกะ
มาใช้กับนาซีมาจากความคิดของทันตแพทย์ที่เป็นสมาชิกที่ชื่อ Dr. Friedrich
Krohn แต่ในหนังสือ Mein Kampf (My Struggle) ของฮิตเลอร์
กลับไม่ได้กล่าวถึง Krohn แต่อย่างใด กลับกล่าวถึงการออกแบบสัญลักษณ์ว่า...
"เขาได้ออกแบบและพยายามนับครั้งไม่ถ้วน ในการจัดการให้ได้มาซึ่งรูปแบบ
ที่สมบูรณ์ จนได้ธงที่มีพื้นหลังสีแดง มีวงกลมสีขาวอยู่ตรงกลาง
และมีสัญลักษณ์สวัสดิกะสีดำอยู่ในวงกลม"

อย่างไรก็ตามสัญลักษณ์สวัสดิกะคงไม่ถูกนำมาดัดแปลงใช้ ถ้าฮิตเลอร์ไม่ต้องการ
และนำมาจัดการจนเสมือนระบบอัตลักษณ์ (Identity System) ของตนเอง
ทั้งในด้านการแสดงตัวตนและด้านการโฆษณาชวนเชื่อ และมีการคำนึงถึงคุณภาพ
ในการสื่อสารผ่านการออกแบบสัญลักษณ์สวัสดิกะ ดังจะเห็นจากตอนหนึ่ง
ในหนังสือ Mein Kampf เกี่ยวกับสีของธงนาซีว่า...
"สีแดงในธงเราเห็นความคิดเชิงสังคม ในขณะที่สีขาวแสดงถึงความเป็นชนชาติ
โดยสัญลักษณ์สวัสดิกะสีดำเป็น เจตจำนงค์ในการต่อสู้เพื่อชัยชนะ
และต่อต้านชนชาติยิว"

และหลังจากนั้นสัญลักษณ์ที่ดูคล้ายตะขอไขว้ก็แผ่ขยายไปในองค์ประกอบต่างๆ
ของพรรคนาซี กลายเป็นสัญลักษณ์ที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองและสังคมโลก
และขณะที่ธงสวัสดิกะนาซีโบกสบัดเป็นเวลาเดียวกันกับการเลือนหายของ
สัญลักษณ์สวัสดิกะเดิมในอดีต ผู้คนสามารถมองเห็นการกระทำที่รุนแรง
โหดร้ายต่างๆ ผ่านสัญลักษณ์สวัสดิกะนาซี
ผู้คนเกิดความรู้สึกหวาดกลัวและชิงชังเพียงแค่เห็นธงโบกสบัด

เนื้อหาที่อยู่ในสัญลักษณ์นั้นแปรเปลี่ยนจากเดิม
ให้ผู้คนและโลกปรับเปลี่ยนการรับรู้ต่อสัญลักษณ์
ที่ใช้เป็นเครื่องหมายอวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข
มาเป็นสัญลักษณ์แห่งพรรคนาซีภายใต้การนำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์

ความสำเร็จของสัญลักษณ์สวัสดิกะนาซีในยุคสมัยฮิตเลอร์
ไม่สามารถนำมาเป็นเครื่องประเมินคุณค่าทางการออกแบบได้เลย...

Stefan Sagmiester เคยเขียนไว้ในบทความของเขาว่า งานออกแบบที่ดี
ควรจะต้องมีองค์ประกอบที่ดี 2 อย่าง คือ การออกแบบที่ดี (good design)
กับ จุดมุ่งหมายที่ดี (good cause)
ซึ่งเราก็คงไม่สามารถจะบอกได้ว่าสัญลักษณ์สวัสดิกะแห่งพรรคนาซีเป็น
งานออกแบบที่ดี แม้รูปแบบที่โดดเด่นและความเป็นที่จดจำของมันจะมี
ประสิทธิภาพสักแค่ไหน อาจจะง่ายกว่าในการจะเลือกชื่นชมป้ายบอกตาม
ถนนหนทางทางที่ชาวบ้านเขียนขึ้นเอง
เพราะอย่างน้อยก็มีประโยชน์ต่อผู้คนแม้จะไม่สวยงามและได้มาตรฐาน

การตายของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในปี คศ. 1945
เป็นเวลา 25 ปีหลังจากสัญลักษณ์สวัสดิกะถูกดัดแปลงนำมาใช้ สงครามและ
ความสูญเสียของมนุษยชาติได้ยุติลง ประเทศเยอรมนีรวมประเทศกลับมาเป็น
ส่วนหนึ่งของสังคมโลก ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 มีให้ศึกษาและค้นคว้า
อย่างนับไม่ถ้วน แต่สำหรับสถานภาพของสัญลักษณ์สวัสดิกะ
จากสัญลักษณ์แห่งความมีชีวิต (well being) และความโชคดี (good fortune, luck)
สู่สัญลักษณ์ที่มีพลังและบทบาทแห่งยุคสมัยภายใต้ตัวแทนแห่งความชั่วร้ายและเกลียดชัง

...น่าสนใจว่าเวลาและยุคสมัย
จะสามารถชำระเลือดที่เปรอะเปื้อนรูปตะขอไขว้นี้ได้หมดหรือไม่...

...น่าสนใจว่าสัญลักษณ์สวัสดิกะบนเสื้อยืดจะพาสัญลักษณ์นี้เดินทางไปสู่นัยะใด...

(บางส่วนของบทความเรียบเรียงจาก
The Swastika, Design Literacy - Understanding Graphic Design, Steven Heller and Karen Pomeroy)

No comments: