เรื่อง โดย สันติ ลอรัชวี
ARTicle • a day weekly magazine •
ฉบับที่ ๑๕ • สิงหาคม ๒๕๔๗
:: กระแสการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังคงเป็นที่สนใจของผมและอีกหลายๆคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งป้ายหาเสียงตามถนนหนทางต่างๆที่ถูกจัดทำขึ้นมาเพื่อสื่อสารถึงอัตลักษณ์และนโยบายการบริหารของแต่ละคน รูปแบบตัวอักษร ภาพที่ใช้ในการนำเสนอบุคลิกภาพและตัวตนของผู้สมัคร รวมถึงการใช้สีให้มีบทบาทสำคัญในการเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายแทนตัวผู้สมัครแต่ละคน สีฟ้า เขียว ส้ม ชมพู หรือแดง ก็สามารถทำให้ผู้คนสามารถรับรู้และนึกถึงตัวผู้สมัครได้ทันทีเหมือนกันเมื่อพบเห็นป้าย ใบปิด หรือเสื้อ ที่มีสีนั้นๆ กลวิธีทางการออกแบบถูกนำมาใช้เป็นปัจจัยสำคัญทางการเมืองสมัยใหม่ มีการกำหนดกลยุทธ์ทางการสื่อสารอย่างมีเป็นระบบ การใช้มืออาชีพทางการสื่อสารในด้านต่างๆเข้ามามีส่วนในการระดมสมองเพื่อเกิดประสิทธิภาพทางการสื่อสารสูงสุดกับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการวางกลยุทธ์การสื่อสารหรือโน้มน้าว การสร้างคำ การออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ฯลฯ
ภาพของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีการพัฒนารูปแบบมาอย่างต่อเนื่องและหลากหลาย ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน อาจมีรูปแบบที่ซ้ำหรือคล้ายคลึงกันของภาพผู้สมัคร ภาพหน้าตรง แต่งกายสุภาพด้วยชุดสากล เครื่องแบบตามอาชีพและสถานภาพของแต่ละบุคคล แต่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ธรรมเนียมปฏิบัติในการใช้ภาพ ก็เริ่มมีรูปแบบที่มีความหลากหลายขึ้น ตัวภาพเองมีเนื้อหาที่แฝงเข้ามามากขึ้น ภาพทำงานร่วมกับคำ หรือ นโยบายในการหาเสียงอย่างสอดคล้อง ตัวอย่างที่หลายคนคงจำได้ดีได้แก่ภาพของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ที่เคยใช้ภาพที่มีลักษณะชี้นิ้วไปบนฟ้า และมองไปยังจุดนำสายตานั้นอย่างมุ่งมั่น ซึ่งนับได้ว่าเป็นการพลิกบทบาทในการใช้ภาพมาสื่อสารทางการเมืองจนประสบความสำเร็จ
ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในครั้งนี้ เราพบกลวิธีการนำเสนอภาพบุคคลที่มีความน่าสนใจอย่างมาก หลายๆรูปแบบไม่ผิดไปกับผลงานออกแบบโฆษณาที่พบเห็นในหน้านิตยสาร แม้กระทั่งภาพของผู้สมัครคนเดียวก็ยังมีรูปแบบที่หลากหลายเพื่อนำเสนอภาพพจน์และศักยภาพของตนให้เห็นในหลายๆด้าน เริ่มจากป้ายของคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ก็มีการนำเสนอภาพของนักบริหารในชุดสูทสากล ฉากหลังเป็นมหานคร กทม. สะท้อนภาพพจน์ที่มีวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการ แต่ก็ยังมีภาพที่ต้องการนำเสนอความเป็นนักปฏิบัติ ดังจะเห็นได้จากป้ายที่มีรูปคุณอภิรักษ์ กำลังปรึกษากับทีมงานอยู่บนยอดตึก ที่มีฉากหลังเป็นเมือง แต่งกายในชุดลำลอง และสวมหมวกแบบวิศวกรซึ่งให้ความหมายของการทำงานในพื้นที่ ที่ไม่ใช่เพียงแค่นั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานในห้องปรับอากาศเท่านั้น ซึ่งภาพลักษณะเดียวกันนี้ก็ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นนักปฏิบัติในป้ายหาเสียงของคุณปวีณา หงสกุลด้วยเช่นกัน แต่การที่ผู้สมัครซึ่งสวมหมวกวิศวกร และกำลังปรึกษากับทีมงานเช่นเดียวกับคุณอภิรักษ์นั้น ก็มีความแตกต่างกันของฉากหลังที่ไม่ได้อยู่บนยอดอาคาร แต่กลับอยู่บนพื้นดินท่ามกลางการก่อสร้าง ที่ให้ความรู้สึกที่มีความใกล้ชิดและลงลึกกับภารกิจมากกว่า แต่คุณปวีณาก็ไม่ลืมที่จะนำเสนอภาพของคนทำงานทางด้านสิทธิเด็กและสตรี ด้วยการใช้ภาพที่กำลังอยู่ร่วมกับกลุ่มเด็กๆ โดยมีการจัดแสงของภาพที่อบอุ่นและไม่ดูเป็นภาพข่าวเหมือนกับภาพที่กำลังคุมงาน การนำเสนอภาพของนักปฏิบัติดูเหมือนจะเป็นที่นิยมของผู้สมัครหลายๆคนในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพียงแต่มีกลวิธีที่ต่างกันออกไป การใช้ภาพที่มีคุณภาพต่ำ ขาดการจัดองค์ประกอบของภาพอย่างจงใจ เหมือนกับภาพที่ใช้ในหน้าหนังสือพิมพ์หรือเป็นภาพเชิงสารคดี ที่เน้นความจริงของสิ่งที่ปรากฏในภาพ ดูเหมือนจะเป็นวิธีการนำเสนอหลักของคุณพิจิตต รัตตกุล ที่ต้องการให้ภาพลักษณ์ของคนที่ทำงานอย่างจริงจังและทุ่มเทได้สื่อสารออกไป การไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแต่งกายที่ต้องเรียบร้อยและสุภาพเท่านั้น แต่บางครั้งการที่เราเห็นชายเสื้อหลุดออกนอกกางเกงของคุณพิจิตตในป้ายหาเสียง กลับให้ความหมายถึงความทุ่มเทในการทำงานมากกว่าการแต่งกายเรียบร้อยด้วยซ้ำ ทำให้คุณภาพที่ชัดเจนและองค์ประกอบที่สวยงามถูกผู้สมัครหลายๆคนปฏิเสธที่จะนำมาใช้ ซึ่งแตกต่างกับป้ายของคุณมานะ มหาสุวีระชัย ที่พิถีพิถันกับคุณภาพของภาพถ่ายและองค์ประกอบศิลป์ ภาพของคุณมานะที่กำลังมองขึ้นด้านบน เหมือนจะแสดงให้เห็นถึงความมีวิสัยทัศน์ และอุดมการณ์ โดยฉากหลังเป็นภาพของทางด่วนที่ตัดไปมาอย่างลงตัวในองค์ประกอบศิลป์ ถือว่าเป็นป้ายหาเสียงที่มีความสวยงามทางด้านการออกแบบที่สุดป้ายหนึ่ง แต่การมองขึ้นด้านบนของคุณมานะก็อาจจะเป็นจุดที่ทำให้ชาวกทม.หลายๆคนไม่แน่ใจกับสิ่งที่อยู่ด้านบนที่ผู้สมัครกำลังมองอันเป็นสัญลักษณ์เชิงอุดมคติ อาจจะย้อนแย้งกับสถานการณ์ปัญหาของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน
การแสดงออกเชิงอารมณ์ในภาพถ่ายที่เรามักพบเห็นในงานโฆษณาหรือภาพยนตร์ ก็ถูกนำมาใช้เพื่อที่จะสร้างอารมณ์ร่วมให้กับชาวกทม. โดยป้ายของคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ที่หาแนวร่วมในการเรียกร้องความจริงจากการบริหารประเทศ ด้วยภาพที่ผู้สมัครชี้นิ้วมาทางผู้ดูด้วยสีหน้าที่เครียดและจริงจัง ลักษณะแบบนี้ทำให้นึกถึงโปสเตอร์ที่มีชื่อว่า “I want you for the U.S. Army” * ในสมัยสงครามโลกครั้งที่1 การสื่อสารโดยแสดงออกทางอากัปกิริยา(gestures) มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความมีส่วนร่วมของคนดู คือการชี้ของผู้สมัครนั้นอาจหมายถึงการถูกชักชวนให้คนดูมีส่วนร่วมกับแนวคิดหรือนโยบายโดยไม่รู้ตัวเลยก็ได้ ทำให้เกิดการโต้ตอบระหว่างผู้ดูกับภาพซึ่งบางครั้งก็สร้างความน่าสนใจ และนำมาสู่ความสัมพันธ์ จนในที่สุดอาจเกิดความเห็นพ้องได้อย่างแยบยล ในชุดภาพของคุณชูวิทย์เอง ก็ยังมีการใช้ภาพในเชิงการแสดงออกทางอารมณ์ในลักษณะอื่นๆอีกด้วย เช่น การขอโอกาส การแสดงภาพลักษณ์ที่ตรงไปตรงมา เป็นต้น
“มันจะติดกันไปทำไมทุกเสาไฟฟ้า....” เพื่อนขาประจำบ่นพึมพัม
หลายๆคนคงรู้สึกรำคาญใจ กับมลภาวะทางสายตาบนถนนหนทางในกทม. ท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงของภาพและตัวอักษร แต่ในความคิดของผม สิ่งน่ารำคาญเหล่านี้ไม่อาจทำให้เรามองข้าม หรือไม่สนใจป้ายหาเสียงเหล่านี้ได้ นอกเหนือจากการดูหน้าคร่าตา อ่านคำขวัญ จำนโยบายแล้ว การพยายามจะวิเคราะห์และเข้าใจวิธีการสื่อสารของผู้สมัครแต่ละคนก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและสำคัญไม่น้อย เพราะบางครั้งการปรุงแต่งอะไรเกินจริงหรือฝืนธรรมชาติของตนมากเกินไป ไม่ว่าจะปรุงแต่งด้วยสิ่งที่ดูเหนือจริง หรือสิ่งที่ดูเสมือนจริง ก็เหมือนกับการโกหกคำโต... ไม่ว่าจะโกหกด้วยการพูด หรือภาพก็ตาม
“แค่ป้ายหาเสียง...คิดมากไปหรือเปล่า?” เพื่อนขาประจำบ่นอีกแล้ว
*** I want you for the U.S. Army เป็นโปสเตอร์ที่มีชื่อเสียงมาก เป็นภาพลุงแซม(Uncle Sam) ใช้มือขวาชี้ออกไปทางผู้ที่ดูโปสเตอร์ ออกแบบโดย James Montgomery Flagg ถูกตีพิมพ์กว่า 4ล้านใบ ในช่วงปีค.ศ. 1917-1918 จากการที่สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่1 โดยใช้โปสเตอร์นี้รณรงค์ให้ชายชาวอเมริกันมาสมัครเป็นทหาร
August 15, 2004
:: ภาพผู้ว่า ::
Posted by Tik Lawrachawee at Sunday, August 15, 2004
Labels: Article
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment