บทบรรณาธิการหนังสือ กรุงเทพฯ อวดดี
โดย สันติ ลอรัชวี
มีนาคม ๒๕๔๕
// ถ้าจะพูดว่า ภาพของเมืองหลวงโดยส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะ ตึกระฟ้า ป่าคอนกรีต
มลพิษ ชีวิตกลางคืน ก็คงจะมีคนไม่เห็นด้วย เพราะน่าจะมีอีกหลายคนที่มองเห็น
ความต่างออกไปจากภาพลักษณ์มหานครที่สับสนวุ่นวาย เพราะความต่างที่ว่าอาจจะนำมา
สู่ความเป็นรูปแบบเฉพาะ อาจจะทำให้เมืองแต่ละเมืองมีเสน่ห์ที่น่าหลงใหลต่างกันออกไป
ในเมืองหนึ่งจุดที่น่าหลงใหลของแต่ละคนก็อาจจะแตกต่างกัน
บางคนชอบสภาพของเมืองตอนกลางวัน
ในขณะที่บางคนอาจจะชอบสภาพตอนกลางคืน
เมืองสะท้อนสังคม สังคมก็สะท้อนการดำเนินชีวิตในสังคมนั้น
และการดำเนินชีวิตก็สะท้อนกลับไปยังเมือง
การมองเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมกับรูปแบบการดำเนินชีวิต
ดูเหมือนจะทำให้เราซึมซับเรื่องราวในการเดินทางไปยังที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติในชนบท
หรือความศิวิไลซ์ในเมืองก็ตาม ยังทำให้เราพยายามเข้าใจและยอมรับ
ในการเป็นอยู่ของสิ่งต่างๆ อย่างมีเหตุผล โดยไม่พยายามตัดสินความถูก ผิด ดี หรือด้อย
ด้วยแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง
คำถามที่ว่าสิ่งหนึ่งจะดีกว่าอีกสิ่งหนึ่ง เราจะวัดด้วยบรรทัดฐานใด....
ดูเหมือนนับวันเราจะยิ่งตอบคำถามนี้ได้ยากลำบากขึ้นทุกทีที่สังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น
(แม้จะมีแนวคิดที่บอกจะให้คนเราพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้เรียบง่ายขึ้น
แต่บางทีการพยายามทำให้ง่ายก็เป็นอะไรที่ซับซ้อนอย่างหนึ่ง)
"กรุงเทพฯอวดดี" เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่นิยามคำว่า "ดี" แตกต่างออกไป
หลายคนคงตั้งแง่ว่า... เมื่อเทียบกับมหานครอื่นๆ กรุงเทพฯ มีีอะไรดีขนาดที่พอจะให้อวดหรือ?
"ดีตรงที่เป็นกรุงเทพฯ"
การกลับมามองเห็นคุณค่าในความเป็นตัวตนที่ไม่มีในบุคคลอื่น มองเห็นถึงความสัมพันธ์
และความสมดุลย์ของวิถีชีวิตเมือง ซึ่งทำให้ค้นพบรูปแบบเฉพาะในความเป็นกรุงเทพฯ
"ความเชื่อมโยงของงานออกแบบกับการดำเนินชีวิตของชาว กทม. เป็นมุมมองที่จุดประกาย
ให้เห็นถึงรูปแบบเฉพาะต่างๆ ของเมืองได้อย่างชัดเจน เราอาจรู้จักลักษณะนิสัยผู้คนในเมือง
ผ่านงานออกแบบที่ปรากฏอยู่ได้
"ป้าย" (Signage) คือภาพสะท้อนของเมืองที่ชัดเจนภาพหนึ่งนอกเหนือจากหน้าที่หลักในเชิงสื่อสารของมัน
การมองรูปแบบชีวิตผ่านป้ายต่างๆในหนังสือเล่มนี้ ทั้งที่ถูกออกแบบตามทฤษฎีการออกแบบ
และที่ถูกออกแบบกันเองโดยคนทั่วไป จะนำเสนอภาพของเมืองกรุงที่ชาวกรุงหลายๆ คน
จะรู้สึกสนุกและมีส่วนร่วมไปด้วย ทั้งที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองแห่งนี้อยู่ตลอด
"ป้ายแสดงที่ตั้งจุดผ่อนผันหาบเร่" แสดงออกถึงรูปแบบการค้าขายที่มีเอกลักษณ์
ป้ายแบบนี้คงจะไม่สามารถพบเห็นในมหานครแห่งอื่น
เช่นเดียวกับ "ป้ายเตือนห้ามฉี่" ที่มีหลากหลายรูปแบบอยู่ทั่วเมือง ก็สะท้อนอะไรหลายๆ อย่าง
ได้อย่างอารมณ์ดี
การทำความรู้จักกรุงเทพฯ อีกครั้งผ่านป้ายต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ คงทำให้ผู้อ่านได้มุมมองใหม่
ต่อเมืองหลวงของเรา โดยมีงานออกแบบเป็นมัคคุเทศน์...
งานออกแบบต่างๆ ล้วนมีพื้นฐานมาจากการตอบสนองการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในด้านต่างๆ
งานออกแบบจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวจากชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกเพศ ทุกวัย และทุกอาชีพ
สิ่งต่างๆที่อยู่ร่วมกันยังคงทำหน้าที่สะท้อนภาพในแง่มุมต่างๆ ซึ่งกันและกันอยู่เสมอ
จริงๆแล้วอาจไม่มีคำว่า "ของใครของมัน" ในทุกยุคทุกสมัย ตราบใดที่ประวัติศาสตร์ยังส่งผลต่อปัจจุบัน
และปัจจุบันยังคงส่งผลสู่อนาคต
บางทีการเข้าใจและยอมรับอย่างมีเหตุผลในสภาพต่างๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
จะเป็นเส้นทางแห่งอนาคตที่เต็มไปด้วยการสร้างสรรค์
"หวังว่าคุณคงไม่วาอะไรที่กรุงเทพฯ จะอวดดี" //
March 22, 2002
กรุงเทพฯ อวดดี
Posted by Tik Lawrachawee at Friday, March 22, 2002
Labels: Article
Subscribe to:
Posts (Atom)