September 25, 2008

| Communication Design 5 Class : Final Project |



ผลงานสุดท้ายของวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ 5 ที่ผมสอนคู่กับอาจารย์อนุทิน วงศ์สรรคกร
ที่ภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นชั้นเรียนที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาที่มุมมองต่อสถานการณ์รอบตัวด้วยวิจารณญาณเชิงการออกแบบ
ความพยายามของชั้นเรียนกำลังทดลองให้นักศึกษาออกแบบก้าวผ่านสถานะของผู้เพียงแค่ส่งผ่านสาร ไปสู่สถานะของผู้ผลิตตัวบทของสารที่ต้องการจะสื่อ
มีหลายท่านอาจจะเปรียบเทียบอาชีพ Graphic Designer หรือ Communication Designer เสมือนการร้องคาราโอเกะเท่านั้น แต่สำหรับยุคสมัยที่เส้นแบ่งกั้น
ระหว่างสิ่งต่างกำลังเลือนรางและทับซ้อนกันมากขึ้น การร้องคาราโอเกะอาจจะไม่เพียงพอสำหรับนักออกแบบสื่อสาร อาจเพราะนักออกแบบสื่อสารส่วนหนึ่งมีความต้องการสร้าง
เนื้อพลงหรือท่วงทำนองที่เป็นปัจเจก จนบางครั้งเพลงหรือท่วงทำนองของผู้อื่นไม่อาจตอบสนองความนึกคิดเหล่านั้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่วงทำนองในร้านคาราโอเกะนั้น
มีแต่เนื้อหาและทำนองที่ซ้ำไปมาจนไม่เกิดความท้าทายใดๆ จริงอยู่ว่าศักยภาพการตอบสนองโจทย์ของนักออกแบบนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการดำรงวิชาชีพ
แต่โจทย์ที่ว่าจะเป็นโจทย์ของเราเองแทนที่จะเป็นจากลูกค้าได้หรือไม่ เป็นโจทย์ทางวิชาชีพแทนโจทย์ทางอาชีพได้หรือไม่

สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ชั้นเรียนนี้พยายามจะหาคำตอบไปด้วยกัน...

แม้การดำเนินไปของชั้นเรียนนี้จะมีอุปสรรคอยู่สำหรับนักร้องคาราโอเกะหน้าใหม่ โดยเฉพาะหลายคนอาจจะยังร้องเพี้ยน ไม่ตรงจังหวะ การให้เสียงยังไม่เข้ากับอารมณ์ของเพลง
ก็ถูกผลักดันให้แต่งเพลงซะแล้ว ทำให้บรรยากาศในการทำงานจะตึงเครียดไม่น้อย แต่ในแง่ดีที่ผมอยากจะพูดถึง (เพราะพูดในแง่ไม่ดีไปเยอะแล้วในชั้นเรียน)
ก็คือความคิดหรือประเด็นส่วนบุคคลที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ (ในที่นี้หมายถึงใหม่ต่อนักศึกษา) ความพยายามที่จะสร้างชุดความคิดขึ้นมาก่อนที่จะทำงานออกแบบที่เป็นรูปแบบ
เพราะเดิมทีนักศึกษาเองอาจไม่เคยรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาหรือประเด็นที่กำลังจะทำงานออกแบบ ‘ความรับผิดชอบเชิงรูปแบบ’ จึงกลายเป็นเหมือนหน้าที่อันจำกัดที่นักออกแบบ
พึงต้องยอมรับ และนำไปสู่การไม่ก้าวล้ำไปสู่การสร้างชุดความคิดของตนในการสร้างงานออกแบบถึงแม้ว่างานออกแบบนั้นจะเป็นงานออกแบบส่วนตัวก็ตาม อีกทั้งความคิดลักษณะนี้
ยังนำมาซึ่งความฉาบฉวยในการสร้างรูปแบบ ซึ่งเดิมทีอาจเคยถือว่าเป็นความรับผิดชอบหลักอีกด้วย

การต่อสู้กับความไม่คุ้นเคยเป็นภาพเชิงบวกที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนนี้ มีการพูดคุยกันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนหลายต่อหลายครั้งต่อความอึดอัดทั้งหลาย
เพื่อนำไปสู่การปรับตัวของทั้งสองฝ่าย ผมอยากชี้ให้เห็นถึงความน่าสนใจของความคิดหลายความคิดที่นักศึกษาได้นำเสนอออกมา
แม้ว่าตัวผลงานเองอาจจะไม่สามารถแสดงความน่าสนใจของชุดความคิดนั้นได้เท่าที่ควร
ก็เหมือนกับคุณเริ่มแต่งเพลงได้น่าสนใจ แต่พอจะร้องเพลงของตัวเองดันร้องเพี้ยนหรือผิดจังหวะซะเอง...

ต้นฉบับ VS สำเนา


ในชั้นเรียนผมค่อนข้างสนุกเวลาพูดคุยในหัวข้อนี้ การตั้งข้อสงสัยถึงสถานะของการเป็นต้นฉบับและสำเนาของนักศึกษา
น่าจะเป็นหัวข้อหนึ่งที่ท้าทายต่อความคิดของนักออกแบบได้อย่างดี การกำกับให้สิ่งใดเป็นต้นฉบับ และสิ่งใดเป็นสำเนา ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เลื่อนไหลจนต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
การทำงานออกแบบเพื่อนำเสนอสถานะที่เลื่อนไหลนี้ออกมาเป็น visual communication ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงตัวตนของนักออกแบบและภาวะของการออกแบบได้อย่างดี

การผลิตตรายางคำว่า ‘ต้นฉบับ’ ซักอัน เราจะพบการเปลี่ยนสถานภาพของการเป็นต้นฉบับและสำเนาอยู่ตลอดเวลา
-> นักออกแบบคนหนึ่งต้องสร้างแบบต้นฉบับของตรายางในคอมพิวเตอร์
-> จากนั้นพิมพ์ลงบนกระดาษ(สำเนาของไฟล์)เพื่อเป็นต้นฉบับให้ร้านตรายาง
-> ร้านตรายางนำต้นฉบับกระดาษไปถ่ายเป็นฟิล์ม(สำเนาของกระดาษ)
-> แล้วนำต้นฉบับฟิล์มไปทำเป็นแม่พิมพ์โลหะ(สำเนาของฟิล์ม)
-> นำต้นฉบับแม่พิมพ์โลหะไปสร้างเป็นแบบบนแผ่นยาง(สำเนาของแม่พิมพ์โลหะ)

เราก็จะได้ตรายางคำว่า ‘ต้นฉบับ’ ที่ไปประทับบนเอกสารใบไหนก็ได้ ไม่ว่าเอกสารใบนั้นจะเขียนด้วยลายมือ พิมพ์จากเลเซอร์พริ้นท์ หรือถ่ายเอกสารมา
เอกสารใบนั้นก็จะมีสถานภาพเป็นต้นฉบับทันที อ้อ! ถ้าจะให้ดี เซ็นต์ชื่อกำกับด้วย...

อีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจสำหรับเรื่องนี้ก็คือ ‘การปกป้องการลอกเลียนของผู้ละเมิดลิขสิทธิ์’
หลายคนคงรู้จักค่ายซีดีเพลง mp3 เถื่อน ที่ทรงอิทธิพลต่อวงการเพลงในตลาดมืด ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่มืดแถมติดแอร์ด้วย
“แวมไพร์ เรคคอร์ด” คือแบรนด์แผ่นซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ที่รู้จักกันอย่างดี ในที่นี้ขอกล่าวข้ามความไม่เหมาะสมและจริยธรรมในการละเมิดลิขสิทธิ์
แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปฏิกิริยาที่น่าขันของผู้ที่หาประโยชน์จากการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือ การทำสำเนานั่นเอง ปฏิกิริยาดังกล่าวนั้นคือ การกลัวการถูกเลียนแบบ
กล่าวคือ ผู้ลอกสำเนาจากต้นฉบับอื่นมา ไม่ต้องการให้ผู้อื่นมาลอกเลียนหรือทำสำเนาจากสำเนาของตน ในกรณีอาจคิดไปได้ว่า แวมไพร์ เรคคอร์ดนั้น
คิดว่าสำเนาของตนเองนั้นได้กลายเป็นต้นฉบับแห่งวงการซีดีเถื่อน และไม่อยากให้ใครมาลอกเลียนความเป็นต้นฉบับแห่งการลอกเลียนนี้
ดังนั้นจะเห็นว่าสิ่งที่แวมไพร์เห็นว่าเป็นต้นฉบับนั้นหาใช่เป็นผลงานดนตรีที่บรรจุในแผ่นซีดี แต่เป็นรูปแบบการลอกเลียนต่างหากที่ถือว่าเป็นต้นแบบ
โดยเฉพาะความพยายามให้เห็นถึงคุณภาพของการลอกเลียน (ซึ่งอาจจะอ้างว่าไม่พบในซีดีเถื่อนยี่ห้ออื่น) เช่น การใส่ข้อความเตือนลงบนปกซีดีว่า
‘ระวัง! ถ้าไม่ใช่‘แผ่นปั๊ม’โปรดเรียกเงินคืนจากผู้ขาย’ หรือ ‘ของแท้ต้องมี Vampired records บนแผ่น’
การวางมาตรฐานอีกชุดในตลาดละเมิดลิขสิทธิ์ ก็เป็นเรื่องที่ทำให้ประเด็นที่กล่าวกันมาดูเลื่อนไหลและทับซ้อน
จนทำให้คำสองคำนี้ดูจะมีความหมายในตัวของมันเองลดน้อยถอยลง

ทำให้นึกถึงการบรรยายครั้งหนึ่งของ ดร. สายันต์ แดงกลม ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ใจความว่า Original อาจเกิดขึ้นเพียงครั้งแรกและครั้งเดียวตั้งแต่โลกถือกำเนิดมา ‘นั่นก็คือตอนที่พระเจ้าสร้างโลกนั่นเอง’

อ่านยาก ภาพเกิด


ผมเคยได้อ่านข้อมูลอ้างอิงจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่ว่า ในการอ่านคำๆ หนึ่ง
อาจไม่สำคัญว่าลำดับของตัวอักษรในคำๆ นั้นจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญอยู่ที่อักษรตัวแรกและตัวสุดท้ายที่ต้องอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง
ทำให้เรายังสามารถอ่านและเข้าใจได้อย่างไม่ยากเย็นนัก นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้รับรู้ทุกตัวอักษร แต่เรารับรู้จากภาพรวมของคำ
เช่น ‘Legibility Raserch at Cmabrigde Uinervtisy’ ก็ยังสามารถอ่านเข้าใจได้ เรียกง่ายๆ ว่าเราอาจจะจำรูปทางกายภาพของคำๆ หนึ่ง
แล้วเชื่อมโยงไปสู่ความหมายของคำๆ นั้น โดยยิ่งเมื่อเกิดความคุ้นเคยในการอ่านมากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องสังเกตรายละเอียดหรือลำดับของตัวอักษรทุกตัว
ก็สามารถรับรู้ถึงคำๆ นั้นได้ ส่วนเรื่องตัวอักษรตัวแรกและตัวสุดท้ายนั้น อาจจะต้องอ่านวิจัยนั้นอย่างละเอียดจึงพอจะให้ความคิดเห็นได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราจะเอาข้อสังเกตนี้มาวิเคราะห์กับภาษาไทยด้วย นั่นก็ต้องคิดเยอะทีเดียว...
ถ้าจะใช้แนวคิดจากงานวิจัยที่อ้างตอนต้นเราก็จะสร้างข้อความงงๆ ได้ว่า ‘กณุรา ดง สูบุบรี่’
ถ้าไม่เว้นวรรค ‘กณุราดงสูบุบรี่’ ก็จะยิ่งงงหนักเข้าไปอีก... แต่อ่านอีกทีก็พอได้นะ

แต่ประเด็นที่ผมจะพูดต่อจากนี้คือเรื่องความคุ้นเคยในการรับรู้หรือในที่นี้ก็คือ ‘การอ่าน’ ที่สืบเนื่องมาจากหัวข้อในการออกแบบของนักศึกษา
พูดให้ง่ายก็คืองานชุดนี้พยายามจะเปลี่ยนปฏิกิริยาแรกของคนที่มีต่อคำหรือประโยค จาก ‘การอ่าน’ ให้เป็น ‘การมอง’
เมื่อสิ่งที่คนเรามองเห็นไม่สร้างสภาวะคุ้นชินให้กับสมองว่าสิ่งนั้นคือภาษา การตอบสนองของเราอาจเปลี่ยนเป็นการมองมากกว่าการอ่าน
เปลี่ยนสภาวะจากตัวอักษรหรือคำไปเป็นภาพ สิ่งที่ผมสนใจไปกว่านั้นก็คือเมื่อเรามองไปซักพักกลับพบว่าสิ่งที่เรามองอยู่นั้น ‘อ่านได้’
ภาพที่เราเห็นกลับกลายเป็นข้อความที่เราเข้าใจได้ ความสามารถของกราฟิก ดีไซน์ ที่สามารถชะลอการรับรู้เชิงความหมาย เพื่อให้การรับรู้เชิงรูปแบบ
นั้นได้มีโอกาสเผยตัวสู่ผู้พบเห็น ซึ่งจำเป็นต้องจัดการกับความเคยชินต่อภาษาของผู้คนที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงความงามทางรูปแบบ

หลายครั้งที่ผู้คนเข้าใจว่าการออกแบบเชิงตัวอักษร (Typography) นั้นเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองการอ่านเท่านั้น
แต่ก็หลายต่อหลายครั้ง...ที่นักออกแบบพยายามนำเสนอผลงานออกแบบเชิงตัวอักษรที่ก้าวผ่านประเด็นการสื่อสารทางภาษาเขียน
กล่าวคือไม่ได้คาดหวังจะใช้ศักยภาพของคำหรือภาษาอย่างเดียว (ซึ่งสามารถสื่อสารได้โดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม)
แต่ยังมองว่าตัวอักษร(ซึ่งเป็นผลผลิตการออกแบบอยู่แล้ว)ยังสามารถถูกจัดการเพื่อสื่อสารเชิงรูปแบบหรือความงาม
รวมไปถึงความสามารถในการสื่อสารเชิงอารมณ์และบริบทของการสื่อสารนั้นๆ อีกด้วย

ดังนั้นการบริหารจัดการเรื่อง ‘Ligebility’ ในงานออกแบบเชิงตัวอักษร จึงเป็นเหมือนการจัดการสัดส่วนในการสื่อสารของงาน
ระหว่างการสื่อความหมายเชิงภาษา สำนวน และอารมณ์ความรู้สึก ว่าในงานออกแบบชิ้นนั้นๆ ต้องการให้มีผลผลิตอย่างไร
สำหรับผลงานออกแบบชุดนี้ ใช้ข้อความที่เป็นคำเตือนหรือข้อห้ามสาธารณะมาใช้ การลดทอนรายละเอียดของตัวอักษรภาษาไทยให้มีความเป็นรูปทรงเรขาคณิต
อาจเป็นทางเลือกที่ดีในการที่จะสร้างสิ่งเชื่อมโยงการรับรู้จากคำไปสู่ภาพได้โดยไม่ยากนัก รวมไปถึงการจัดองค์ประกอบที่ไม่ได้เป็นไปตามครรลองแบบการอ่าน
ทำให้ผลงานชุดนี้ประสบความสำเร็จในแง่การหันเหความสนใจของผู้ดูได้
แต่ทั้งนี้ยังมีคำถามให้ขบคิดต่อได้อีกว่า เมื่อสามารถเบี่ยงเบนความสนใจจาก ‘ใจความ’ ไปสู่ ‘รูปแบบ’ ได้แล้ว
รูปแบบนั้นให้สิ่งที่มีคุณภาพทัดเทียมและชดเชยกับความฉงนที่ตัวงานได้ให้ไว้หรือไม่?
และเมื่อนักออกแบบต้องการให้ผู้ดูกลับมา ‘อ่าน’ หลังจากได้รับสารเชิงรูปแบบแล้ว ผู้อ่านจะยังจะรับใจความนั้นได้หรือไม่?
นั่นเป็นสิ่งที่ต้องการเวลาต่อไปให้กับการเริ่มต้นนี้...

ระหว่างการเตือนหรือห้ามด้วยความงามและความปราณีต กับ การขู่กรรโชกโฮกฮาก เราจะให้ความร่วมมือกับใคร?
นึกต่อว่า... ถ้าเราติดตั้งงานชุดนี้บนผนังของโถงชั้นล่างของอาคารเรียนที่นักศึกษายังนิยมสูบบุหรี่ทั้งๆ ที่มีป้ายห้ามสูบบุหรี่ติดอยู่
เราจะได้รับความร่วมมือหรือเปล่า?

ผมเดาต่ออีกว่า... ยังไงก็ยังมีคนสูบบุหรี่ใต้ตึกอยู่ดี เพราะคนบางคน พูดจาดีๆ ก็ฟังไม่รู้เรื่อง...

(จริงๆ ที่เตรียมจะเขียนมีอีกหลายโครงการ แต่ช่วงนี้ขอพักไปทำงานก่อนครับ...)







| Gra+Fiction News 5 / September 08 : “Same Place While the Clock's Hands Pace” |



นิทรรศการล่าสุดของ ยุรี เกนสาคู จิตรกรสาวร่วมสมัยที่น่าสนใจคนหนึ่ง
ที่ชื่อ “ที่เก่าเวลาเดิน ตอน: บ้านเก่า”
เป็นผลงาน Painting Installation ที่ศิลปินพาย้อนไปสู่ความทรงจำมากมายเกี่ยวกับบ้าน
ผ่านวัตถุสิ่งของหลายต่อหลายอย่างที่เป็นร่องรอยของความทรงจำ

นิทรรศการของสาวน้อยจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 25 กย. ถึง 25 ตค. 2551
(อังคาร ถึง เสาร์ บ่ายโมงถึงหนึ่งทุ่ม)
ณ Ver Gallery (คลองสานพลาซ่า ถนนเจริญนคร)

ติดต่อสอบถามได้ที่ 02 861 0933

September 15, 2008

| Environment Friendly Kitsch : Yes, I am not!! |

(บทความนี้อุทิศให้ นศ.วิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ 5 ที่สัญญาว่าจะนำเสนอความคิดจากอาจารย์ผู้สอนด้วย)
โดย สันติ ลอรัชวี

ประเด็นเรื่องความห่วงใยสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคม และถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันในวงกว้าง ไม่เว้นแม้แต่ในวงการออกแบบทุกแขนง
แต่ก็ดูเหมือนว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ กลับทวีความรุนแรงพอๆ กับอัตราการเพิ่มของกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ในทุกมุมโลก
ปัจจุบันกระแสโลกร้อนก็ขยายวงกว้างขึ้นไม่แพ้อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นของโลกใบนี้ ซึ่งไม่ต่างจากกระแสอื่นๆ ที่สามารถนำไปทำมาค้าขายได้
จนเกิดกระแส “Global Warming Marketing” ที่เป็นศัพท์ใหม่ในหมู่นักการตลาด

นักออกแบบกราฟิกเอง ก็เป็นอีกวิชาชีพหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการมีส่วนร่วมกับปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม
การที่นักออกแบบมีอิทธิพลในการกำหนดรูปแบบของงาน ไม่ว่าจะเป็นวัสดุรวมไปถึงเทคนิคการผลิต ล้วนแล้วแต่มีผลต่อปัจจัยการใช้ทรัพยากร
และการย่อยสลายทั้งสิ้น หันมามองนักออกแบบสายสื่อสารกันบ้าง ก็มีส่วนไม่น้อยในการสร้างผลงานของตนเพื่อการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคจนเกินจำเป็น
สามารถสร้างเหตุผลสีเขียวในการบริโภคให้กับผู้คนในสังคมได้อย่างแนบเนียน ดังจะเห็นได้จากยอดขายในอีเบย์ของกระเป๋า
‘I’m not a plastic bag’ ที่ออกแบบโดยนักออกแบบชาวอังกฤษ Anya Hindmarch หรือแม้แต่กระเป๋าผ้าดิบที่แจกและขายกันอย่างครึกโครม
โดยห้างร้านและหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเหตุทำให้เกิดการเฟ้อของจำนวนกระเป๋าโลกร้อนในแต่ละครัวเรือน สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า
กระแสโลกร้อนได้ผสานเข้ากับวัฒนธรรมการบริโภคอย่างแนบแน่น โดยมีนักออกแบบเป็นผู้เชื่อมความสัมพันธ์ ทำให้เกิดสภาพการณ์ที่ขัดแย้งกัน
ระหว่างเป้าหมายของพฤติกรรมกับรูปแบบของพฤติกรรม ยังรวมถึงผลกระทบของพฤติกรรมนั้นด้วย



จากข้อสังเกตดังกล่าว นำมาสู่การตั้งคำถามไปยังที่งานออกแบบ นักออกแบบ รวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่บริโภคหรือเสพงานออกแบบ
ว่าคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันใช้งานออกแบบเชิงอนุรักษ์เป็นเครื่องอำพรางพฤติกรรมส่วนตัวที่สวนทางกับแนวทางรณรงค์หรือไม่
หรืองานออกแบบสื่อสารได้แสดงอำนาจของมันให้ผู้คนหลงเชื่อว่าการได้ครอบครองงานออกแบบเชิงอนุรักษ์นั้น เสมือนราวกับการได้มีจิตสำนึก
และพฤติกรรมเชิงอนุรักษ์อย่างเบ็ดเสร็จแล้วเช่นกัน ขณะที่นักออกแบบสื่อสารจำนวนหนึ่งพยายามสร้างเครื่องมือสื่อสารเชิงสัญลักษณ์
(จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม) ดูเหมือนจะได้การตอบรับอย่างดีจากผู้คนที่กำลังแสวงหาช่องทางลัดเชิงพฤติกรรมหรือการแสดงตัวตนเชิงอนุรักษ์
โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเดิมของตนมากนัก โดยหวังว่าปัญหาต่างๆ กำลังจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นจากการสนับสนุน(เครื่องมือ)
การสื่อสาร โดยที่เป็นการขยายผลทางการสื่อสารแต่ไม่ได้เป็นการขยายผลทางพฤติกรรม เพราะน่าจะเป็นเรื่องที่ง่ายและดูดีกว่าถ้าผลักภาระ
ให้ผู้อื่นเป็น“ผู้ปฏิบัติ” โดยกำหนดบทบาทในฐานะ“ผู้ส่งสาร”ให้กับตนเอง


^ แม้แต่สตูดิโอของผู้เขียนเองก็มีส่วนในกระแส Global Warming Marketing :P

พอกล่าวถึงบทบาทของ“ผู้ส่งสาร” ก็ต้องยอมรับว่าเป็นบทบาทที่มีเสน่ห์และน่าแสดงอยู่ไม่น้อย เพราะนอกจากดูเหมือนจะสะดวกสบายกว่าแล้ว
ยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่ผูกกับการบริโภคในปัจจุบันอย่างเป็นธรรมชาติ ผู้ส่งสารเองก็ได้รับผลลัพธ์เชิงภาพลักษณ์อย่างเด่นชัด ซึ่งแตกต่างจาก
บทบาทของ “ผู้ปฏิบัติ” ที่ต้องปรับตัวมากกว่าโดยที่อาจไม่มีใครรับรู้และชื่นชมกับการกระทำนั้น
หลายคนคงเคยได้รับ Forward Mail เกี่ยวกับการขอความช่วยเหลือของผู้ป่วยขั้นรุนแรง สิ่งหนึ่งที่เห็นตามมาก็คือที่อยู่อีเมล์จำนวนมหาศาล
ของผู้ที่เคยได้รับเมล์ฉบับนี้ นั่นคือตัวอย่างของพฤติกรรมการส่งผ่าน(รวมไปถึงความรับผิดชอบที่จะช่วยเหลือ) อาจคิดกับเรื่องนี้ได้หลายแบบ
เช่น ไม่สามารถช่วยเหลือได้จึงส่งผ่านไปยังผู้อื่นเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือ (ต้องการเลือดกรุ๊ปโอ แต่ไม่ใช่กรุ๊ปเดียวกัน) หรือ
คิดว่าการส่งผ่าน(อย่างลวกๆ)ไปยังผู้อื่น =(เท่ากับ) การช่วยเหลือ โดยที่ไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าสามารถช่วยได้หรือไม่ ควรช่วยหรือไม่
ได้รับความช่วยเหลือไปแล้วหรือยัง ความคิดเช่นนี้สะท้อนได้จากการที่ไม่มีใครในลูกโซ่ลบอีเมล์แอดเดรสที่ยาวเหยียดและเป็นอุปสรรค
ต่อการรับข้อมูลจริงๆ บางเมล์มีการตั้งชื่อเมล์ต่อออกไปเพื่อกำกับพฤติกรรมต่อเนื่องและแสดงถึงคุณค่าบางอย่างที่ได้ส่งต่อ
เช่น ถ้าไม่ส่งต่อก็ไม่ใช่คนแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคุณค่าบางอย่างที่ใช้อ้างอิงของการส่งต่อนั้นคือ “มนุษยธรรม” และมองว่าการไม่ส่งต่อ
เป็นการกระทำที่ขาดมนุษยธรรม ทำให้นึกถึงพฤติกรรมแบบ Kitsch ที่คุณมุกหอม วงษ์เทศ เคยกล่าวถึงในหนังสือ“พรมแดนทดลอง” ว่า
“Kitsch คือการเชิญชวนชักนำเข้าไปสู่มิติของอารมณ์ความรู้สึกที่ดูเหมือนจะลึกซึ้งสูงส่งด้วยวิธีแบบลัดตื้นสะดวกง่าย หรือการแต่งแต้มสร้างโลก
ที่ชวนให้เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นอย่างจริงแท้”
อาจเรียกได้ว่าเป็นทัศนคติการมองโลกแบบ “Environment Friendly Kitsch” สภาวะแบบนี้ใช่ว่าจะเกิดกับ
ผู้คนโดยทั่วไปเท่านั้น แม้แต่นักออกแบบสื่อสารเองก็ดูเหมือนจะหลงระเริงกับบทบาทนี้เช่นกัน เพราะด้วยหน้าที่ทางวิชาชีพจะเป็นเหตุผลที่ดีใน
การแสดงบท “ผู้ส่งสาร” แล้ว การรับบทเป็นผู้ประพันธ์ด้วยก็ดูเหมือนจะทำให้ภารกิจนี้มีความท้าทายและมีอำนาจในการประกอบความหมายได้อีก
การควบบทบาทของนักออกแบบสื่อสารนั้นไม่เพียงทำให้บทของการเป็น “ผู้ปฏิบัติ” นั้นดูจะถูกให้ความสำคัญน้อยลง แต่ยังทวีความสูงส่งของสถานะ
การส่งสารที่มีรสนิยมและชวนให้หลงใหลกับสถานภาพนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็อาจจะกล่าวโทษใครซักคนไม่ได้เลยว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงมัวแต่มา
ลุ่มหลงกับผลผลิตของการรณรงค์เชิงสิ่งแวดล้อมมากกว่าเจตจำนงค์ที่แท้จริงของการรณรงค์ (แม้ว่าเจตจำนงค์นั้นจะเป็นเจตจำนงค์เชิงพาณิชย์ก็ตาม)
เพราะในเมื่อเปลือกหุ้มที่นักออกแบบทำให้ดูฉูดฉาดงดงามเกินกว่าผู้คนจะกล้าปอกเปลือกมัน

ขอยกตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้้เห็นถึงการทับซ้อนและขัดแย้งของชุดความคิดและเจตจำนงค์ในการสื่อสาร ได้แก่ การแสดงนิทรรศการออกแบบของนักออกแบบคนหนึ่งที่จัดแสดงที่ในศูนย์การค้า
โดยถูกประชาสัมพันธ์ภายใต้โครงการที่เป็นประเด็นการนำเสนอภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลงานของนักออกแบบถูกเลือกให้มาปรากฏในพื้นที่ทางการค้าด้วยเหตุผล
ที่นักออกแบบใช้กระดาษหนังสือพิมพ์เก่ามาเป็นวัสดุหลักในการสร้างงาน แม้ว่ากระดาษหนังสือพิมพ์เก่าจะเป็นตัวเชื่อมโยงเข้าสู่ประเด็นสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี
แต่ตัวผลงานดั้งเดิมเองอาจไม่มีอะไรเชื่อมโยงกับประเด็นเชิงอนุรักษ์เลย ในแง่ของกระบวนการสื่อสาร ปรากฏการณ์นี้อาจให้มิติของเรื่องราวที่หลากหลายและซ้อนทับกันอย่างน่าสนใจ
ด้านศูนย์การค้าที่สนันสนุนพื้นที่จัดแสดงได้นำเสนอภาพลักษณ์(ต่อเนื่อง) ผ่านนิทรรศการงานออกแบบที่สะท้อนให้เห็นถึงเนื้อหาทางสิ่งแวดล้อม (โดยวัดจากวัสดุที่ใช้)
สามารถประชาสัมพันธ์ด้วยสื่อสารมวลชนจนทำให้ภาพรวมของนิทรรศการเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม

ส่วนนักออกแบบเลือกที่จะสร้างผลงานผ่านรูปทรงแผนที่ด้วยเจตจำนงค์ของตนเอง โดยไม่ได้มุ่งเน้นไปที่กรอบเชิงอนุรักษ์
แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความคลุมเครือและความเป็นสาธารณะในการนำเสนอเนื้อหาด้วยรูปสัญญะ(แผนที่)ที่คุ้นชินต่อผู้คนทั้งหลาย
และกำกับเงื่อนไขการมองผลงานในระยะต่างๆ เพื่อความสอดรับกับพื้นที่ที่จัดแสดง ถ้าพิจารณาผ่านเนื้อหาที่ผ่านการประชาสัมพันธ์ก็จะพบว่า
สาระสำคัญในผลงานนั้นเป็นประเด็นเกี่ยวกับการสื่อสารการรับสาร (ซึ่งเป็นประเด็นของนิทรรศการที่แสดงใน Art Gallery ก่อนหน้านี้) และเป็นเรื่อง
ภาษาทางศิลปะและการออกแบบเป็นสำคัญ มากกว่าการรณรงค์สิ่งแวดล้อม แต่สุดท้ายถ้าคนจะเข้าใจเนื้อหาของผลงานเป็นเรื่องสีเขียวอย่างเดียว
นักออกแบบเองก็ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบได้ เพราะนักออกแบบเองก็พยายามสร้างช่องทางการตีความให้มีทางเดิน(ที่กว้างด้วย)ไปสู่ประเด็นเชิงสิ่งแวดล้อม
สำหรับผู้ชมผลงานน่าจะได้รับบางสิ่งที่แตกต่างกันจากตัวผลงาน อันเนื่องมาจากเจตจำนงค์ที่แตกต่างกันระหว่างนักออกแบบกับศูนย์การค้า
ดังนั้นข้อมูลที่ผู้ชมได้รับนั้นค่อนข้างจะมีผลกับการรับรู้ต่อตัวงาน กรณีผู้ชมที่เคยชมนิทรรศการก่อนหน้าของคนออกแบบ ก็อาจจะเชื่อมโยงไปสู่เจตจำนงค์
ของนักออกแบบได้ไม่ยากนัก เช่นเดียวกันกับผู้ชมที่ได้รับข้อมูลประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโครงการเชิงรณรงค์ ก็ย่อมจะตีความไปในทางเดียวกัน
แต่สำหรับผู้ชมที่เป็นผู้ที่ผ่านไปมาแล้วก็ชมนิทรรศการจากมุมมองที่ต่างกันก็จะเป็นอิสระจากการกำกับของข้อมูล
นั่นก็ทำให้การรับรู้แตกต่างกันออกไป รวมไปถึงการรับรู้นั้นคือความไม่เข้าใจ...

สำหรับใครบางคนอาจคิดไปว่า ผลงาน Paper Installation ที่ทำมาจากกระดาษหนังสือพิมพ์เก่านั้น น่าจะปล่อยให้มันอยู่ในวิถีของกระบวนการย่อยสลายกระดาษเก่า
ยังจะมีประโยชน์กว่าการเสแสร้งปรุงแต่งให้มันเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่ไร้ประสิทธิภาพ หากเพียงแต่ใครคนนั้นเป็นเจ้าของผลงานที่ถอดวางบทบาท “ผู้ส่งสาร”
แล้วหันกลับไปพิจารณาความเป็นมาของปรากฏการณ์หนึ่งๆ
ซึ่งอาจกลายเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ขับเคลื่อนให้สิ่งเสมือนหรือภาพเทียมของความห่วงใยสิ่งแวดล้อม นั้นมีอารมณ์ความรู้สึกที่ดูลึกซึ้งและชวนให้เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นอย่างแท้จริง...
มันอาจจะใช่ / อาจจะไม่ใช่ / ไม่อาจจะใช่ / ไม่...อาจจะใช่

ถึงแม้จะมีคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีสิ่งใดไม่สื่อสาร” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “เราจะไม่สามารถไม่ส่งสาร”
เพราะมันไม่ได้มีความหมายว่าใครจะได้รับสารหรือไม่ ใครจะได้รับสารอย่างไร แต่มันสำคัญอยู่ที่“การไม่ส่งผ่านสาร”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้า“สาร”นั้นหมายถึงบทบาทเชิงบุคคล ที่หลายครั้งผู้คนอาจละเลยว่าจะปฏิบัติต่อบทบาทนั้นอย่างไร
แต่กลับไปพยายามแสวงหาว่าจะนำเสนอบทบาทนั้นอย่างไร บางทีด้วยเหตุนี้อาจทำให้เงื่อนไขของการส่งผ่านสารเกิดขึ้น
“ผู้ส่งผ่านสาร” จึงดูเหมือนจะมีมากกว่า “ผู้ตอบสนองสาร”

| ข้อเขียนที่เขียนถึงข้อเขียน |

ไปพบข้อเขียนที่พูดถึงบทความที่เคยเขียนลงใน aday weekly ฉบับแรกโดยบังเอิญ
รู้สึกประทับใจที่ข้อเขียนของตัวเองนั้น พอจะมีคนชอบบ้างและคิดต่อ ขอบคุณครับ

ศิลปะ…ไม่ใช่บัญญัติไตรยางค์
สิงหาคม 17, 2008 by janghuman

อ่านบทความของ คุณสันติ ลอรัชวี* กราฟฟิกดีไซน์คนหนึ่ง เขียนลงไว้ใน a day weekly ฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อปี ๒๕๔๗ เล่าถึงหลานสาวของคุณสันติ
ชื่อน้องเตย ที่ชอบวาดรูปตามประสาเด็กๆ แต่อยู่มาวันหนึ่งน้องเตยก็มาบ่นให้คุณสันติฟังว่า “เตยไม่ชอบวาดรูปแล้วล่ะ” … คุณสันติได้ให้มุมมองที่น่าสนใจไว้ว่า

“…ในที่สุดผมก็ถึงบางอ้อจนได้ว่าที่น้องเตยไม่อยากวาดรูป (ไม่ใช่ไม่ชอบ) ก็เพราะตั้งแต่ขึ้น ป.๖ มา เธอได้คะแนนไม่ค่อยดีในวิชาศิลปะ วิชาที่เธอเคยทำได้ดีมาตลอด
ผลงานที่ส่งอาจารย์แต่ละชิ้นได้ผลการตัดสินที่ทำให้เธอรู้สึกว่าเธอคงวาดรูปไม่เก่ง มีเพื่อนที่ทำได้ดีกว่าเธอหลายคน วิชาศิลปะยากและไม่สนุกซะแล้ว
จนในที่สุดการวาดรูปกับน้องเตยก็เป็นเหมือนวิชาคณิตศาสตร์กับเด็กอีกหลายคน…

ในความเห็นของผมการวัดผลในวิชาศิลปะระดับประถมศึกษา โดยเฉพาะการให้คะแนนของผลงานควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมในการทำงานศิลปะของเด็กมากกว่าจะคอยใส่ตัวเลขว่า
เธอวาดสวย (ในสายตาใคร?) เอาไป ๑๐ คะแนน เธอวาดพอใช้ (ในสายตาใคร?) เอาไป ๗ คะแนน เธอวาดไม่สวย (ในสายตาใคร?) เอาไป ๔ คะแนน ผลสุดท้ายอาจจะเป็น
กระบวนการหนึ่งที่กีดกันให้ศิลปะกลานเป็นของคนกลุ่มเล็กๆ และคนอื่นๆ ก็จะรู้สึกไม่อยากเกี่ยวข้อง ไม่อยากสนใจ เพราะเคยถูกตัดสินมาแล้ว คุณทำได้ไม่ดี คุณไม่เก่ง
จนในที่สุดก็คือ คุณไม่เกี่ยว…”


เมื่อสมัยเด็กๆ ข้าพเจ้าจำได้ว่าทำคะแนนในวิชาศิลปะได้ดีเป็นพิเศษ คงเพราะเป็นวิชาที่ไม่ต้องใช้ความคิดอะไรมาก สามารถบรรเลงสีสันได้อย่างตามใจนึกตามแต่หัวข้อที่อาจารย์
กำหนดให้ วิชาศิลปะในแต่ละระดับชั้นมีการเรียนการสอนที่แตกต่างกันไป เมื่อประถมข้าพเจ้าจำได้ว่าแทบจะไม่มีการสอนเรื่องของทฤษฎีใดๆ ทั้งสิ้น วิชาศิลปะในแต่ละสัปดาห์
อาจารย์จะบอกล่วงหน้าว่าอาทิตย์นี้จะใช้สีอะไรในชั่วโมงเรียน ซึ่งก็ไม่พ้นจำพวกสีไม้ สีชอล์ก หรือสีน้ำ อาจารย์จะกำหนดหัวข้ออย่างคร่าวๆ ที่เหลือก็ให้นักเรียนบรรเลงเอง
ตามแต่จะนึก ขั้นตอนการเรียนเป็นเช่นนี้มาตลอด แต่สิ่งหนึ่งที่ขัดใจข้าพเจ้ามาตลอดคือการให้คะแนนของอาจารย์ ข้าพเจ้านึกสงสัยตั้งแต่เมื่อครั้งนั้นว่า
ทำไมข้าพเจ้าได้คะแนนต่างจากครั้งที่แล้ว ทำไมข้าพเจ้าได้คะแนนน้อยกว่าเพื่อน หรือทำไมงานของเพื่อนถึงได้คะแนนสูงนักทั้งที่ไม่เห็นจะสวยเท่าไหร่เลย ฯลฯ
เหล่านี้คาใจข้าพเจ้ามาตลอด แม้เมื่อเริ่มร่ำเรียนเกี่ยวกับทฤษฎีศิลปะแล้ว ข้าพเจ้าก็ยังไม่เข้าใจว่าทฤษฎีเหล่านี้มันกลั่นกรองออกมาเป็นตัวเลขได้จริงล่ะหรือ
มีอาจารย์ด้านศิลปะท่าหนึ่งเคยให้ทัศนะไว้ว่าการเป็นกรรมการตัดสินผลงานศิลปะนั้นเป็นเรื่องที่น่าหนักใจที่สุด เชื่อเถอะว่าไม่ว่าใครๆ ต่างก็ต้องมองว่าผลงานของตนนั้นดีเยี่ยม
สมบูรณ์อย่างที่สุดแล้ว แต่เมื่อถูกตัดสินให้แพ้ใครอีกคน คงยากจะทำใจยอมรับ ศิลปะไม่ใช่คณิตศาสตร์ ไม่สามารถเทียบบัญญัติไตรยางค์ได้ ไม่มีสูตรตายตัว
ไม่มีทฤษฎีศิลปะใดที่แน่นอน เราเชื่อได้ไหมว่าการตัดสินงานศิลปะนั้นมีเรื่องของทัศนคติส่วนตัว ความนิยมส่วนตัว มาเกี่ยวข้องด้วย
ถ้าคุณนิยมศิลปะไทย แต่ต้องให้คะแนนผลงานศิลปะร่วมสมัย คุณก็คงอดไม่ได้ที่จะพิจารณาว่าผลงานชิ้นไหนมันแทรกศิลปะแบบไทยๆ ที่คุณชอบเอาไว้บ้าง
หรือถ้าคุณเป็นศิลปินหัวทันสมัยแล้วต้องไปให้คะแนนศิลปะระดับเยาวชน คุณก็จะให้คะแนนผลงานที่แสดงความเป็น Modern มากหน่อย เพราะคุณจะรู้สึกว่าผลงานนี้มันสะดุดใจคุณ
เรื่องของศิลปะไม่น่าจะมีการให้คะแนนเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างที่คุณสันติว่าไว้ หากเด็กรู้สึกว่าเขาทำคะแนนได้ไม่ดี เขาก็จะเริ่มรู้สึกว่ามันไม่เหมาะกับเขา พาลจะเบื่อหน่าย
และรังเกียจ แต่ถ้ามองในสายตาของครูผู้สอน เขาคงจะถามว่าแล้วจะให้ใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินคะแนนแก่เด็กล่ะ คำตอบของข้าพเจ้าก็คือ ไม่มี ไม่ต้องมีคะแนน
วิชาศิลปะไม่มีตก ไม่มีไม่ผ่าน ควรเป็นวิชาบังคับที่ให้นักเรียนผ่านทุกคนโดยไม่จำเป็นต้องสอบด้วยซ้ำ

จำได้แม่นว่าครั้งหนึ่งข้าพเจ้าส่งงานศิลปะชิ้นหนึ่งแล้วถูกตีกลับมาโดยอาจารย์โน้ตไว้ว่า ไม่สามารถให้คะแนนงานที่ยังไม่เสร็จได้ ข้าพเจ้าหัวเสียมาก เพราะอาจารย์ให้หัวข้อไว้ว่า
ให้ใช้เทคนิคอิสระ งานชิ้นนั้นข้าพเจ้าใช้หมึกดำเขียนเป็นลายเส้น ข้าพเจ้าพอใจผลงานชิ้นนี้มากแต่อาจารย์กลับบอกว่ามันเป็นงานที่คุณขีดๆ มาส่งเท่านั้น เอาไปลงสีให้เรียบร้อย …
ถ้าเป็นตอนนี้คงได้มีเรื่องเถียงกันไม่จบแน่ แต่ในตอนนั้นข้าพเจ้าทำงานชิ้นใหม่ไปส่งอย่างเสียไม่ได้

“… พ่อแม่ของน้องเตยเคยเปรยกับผมถึงการจะให้น้องเตยได้ไปเรียนศิลปะตามสถาบันศิลปะเด็กต่างๆ ที่เปิดกันเต็มบ้านเต็มมเอง
แต่ผมกลับเห็นว่าถ้าจะสนับสนุนหรือส่งเสริมเด็ก สิ่งสำคัญเห็นจะเป็นการสร้างความผูกพันระหว่างศิลปะกับเด็ก มากกว่าจะเป็นกติกาหรือกิจวัตรที่ทุกเสาร์หรืออาทิตย์ ๙ โมงเช้าถึงเที่ยง
เด็กต้องไปเรียนเปียโน บ่ายโมงถึง ๕ โมงเย็น ต่อด้วยเรียนวาดรูป จนบางคนกลายเป็นเครื่องมือให้พ่อแม่ไปอวดบารมีกัน…”

เห็นด้วยกับคุณสันติเลยครับ ไม่รุ้ว่าบรรดาพ่อๆ แม่ๆ ที่ชอบส่งลูกไปเรียนพิเศษ เคยถามลูกไหมว่าลูกอยากไปเรียนหรือไม่ ยิ่งเรื่องของศิลปะ มันไม่ใช่เรื่องที่จะบังคับด้วยเวลากันได้
เอ้า ๑๐ โมงต้องวาดรูป แล้วถ้าไอ้ตอน ๑๐ โมง เด็กเขาไม่อยากวาดรูปล่ะ ที่ลูกๆ ไปเรียนพิเศษกันโครมๆ ข้าพเจ้าว่าเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้ปกครองเสียมากกว่า
แม้จะประสงค์ด็ก็เถอะแต่น่าจะเข้าใจจิตใจเด็กๆ ด้วย

September 11, 2008

| Gra+Fiction News 4 / September 08 : “Unsung Voice” |



กิจกรรมทางสาขาออกแบบโดยนักศึกษาปริญญาโท คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ที่ชื่อ Design Decode II : Unsung Voice อาจไม่มีใครเห็น แต่มีคนรู้
ที่ชักชวนผู้คนในวงการออกแบบมาร่วมเสวนา เพื่อสะท้อนประสบการณ์ในวิชาชีพที่เชื่อมโยงกับมิติทางสังคมและวัฒนธรรม
รวมถึงเปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่ได้แสดงผลงานเชิงสังคม
โดยมีผู้เข้าร่วมสรวลเสวนา คือ ประชา สุวีรานนท์ / สันติ ลอรัชวี / มานิต ศรีวานิชภูมิ / ประธาน ธีระธาดา และ กลุ่มสถาปนิกชุมชน Case Studio

ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC
วันเสาร์ที่ 20 กันยายน 2551 เวลา 13.00-17.00 น.

สำรองที่นั่ง โทร. 087 321 7684 / 087 331 9036
www.designdecode.net

| ภาพเก็บตก จากนิทรรศการ Yes We are Not |

ภาพเพิ่มเติมจากนิทรรศการ ถ่ายภาพโดย หมูใหญ่
ขอขอบคุณมากๆ ณ โอกาสนี้อีกครั้ง



^ จุดชมนิทรรศการ กระจายตามชั้นต่างๆ ของสยามดิสคัพเวอรี่





^ คุณอิเคดะ / คุณฤทธิ์ และคุณเขียน จาก Sfree :)


^ อ.นิพันธ์ / อ.กมล / อ.ธเนศ 3 ศิลปินให้เกียรติมาชมงาน :)


^ สองสาวนี่หน้าตาคุ้นๆ แฮะ