June 07, 2007

Understanding Design Concept (3)

-------------------------------------------------------------------------->
บทวิเคราะห์ : การถ่ายภาพ จริยธรรม และเบเนตอง
-------------------------------------------------------------------------->
จากการอ่านบทความดังกล่าวให้นักศึกษาฟังในชั้นเรียน เพื่อวิเคราะห์บทความ
ก่อให้เกิดประเด็นในการสนทนากันอย่างหลากหลาย อาทิ
• ข้อถกเถียงเกี่ยวกับบริบทของการเป็นอัตวิสัย หรือ ภววิสัย ของภาพถ่าย
• อะไรที่เป็นองค์ประกอบที่ทำให้ภาพถ่ายแบบที่นิตยสาร Colors ใช้
เหมาะสมที่จะอยู่ในโปสเตอร์โฆษณาของเบเนตอง
• ภาพถ่ายความเสียหายของรถยนต์ที่พนักงานประกันภัยถ่ายไว้เป็นหลักฐาน
ทำให้ภาพถ่ายอยู่ในกรณีเป็น “ความจริง” ได้หรือไม่
• นัยยะที่เลื่อนไหลของภาพถ่าย ทำให้เราในฐานะของนักออกแบบ จำเป็นจะต้อง
ติดตามความผันแปรนั้นอย่างเท่าทัน เพื่อผลแห่งการนำไปใช้ต่อไป
-------------------------------------------------------------------------->
เราลองมาอ่านบทวิเคราะห์จาก อ.จักรพันธ์ วิลาสินีกุล ซึ่งเคยเขียนบทวิเคราะห์
ข้อเขียนนี้ ซึ่งน่าจะเป็นการขยายมุมมองต่อการอ่านให้กว้างขึ้น
-------------------------------------------------------------------------->
บทวิเคราะห์
-------------------------------------------------------------------------->
ข้อเขียนของทิบอร์ คาลมาน อดีตบรรณาธิการวารสาร Colors ที่ยกมาข้างต้นนี้
มีจุดประสงค์ในการชี้แจงข้อกล่าวหาบางประการ ซึ่งผู้เขียนให้เหตุผลแก้ต่าง
สิ่งที่ตัวเองควรจะต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบมากกว่าที่เป็นอยู่
อย่างไรก็ดีคำชี้แจงของเขามีทัศนะเชิงวิจารณ์ต่อสื่อศิลปะภาพถ่ายอยู่มาก
ยิ่งกว่านั้นคำอธิบายของคนที่อยู่วงในก็ช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติของภาพถ่าย
และวิธีการทำงานของผู้ที่ใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อได้ชัดเจน ที่สำคัญที่สุดข้อเขียนนี้
สะท้อนทัศนคติของผู้ใช้สื่อดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ประเด็นสำคัญที่นำไปสู่บทวิจารณ์นี้ ได้แก่ข้อถกเถียงทางจริยธรรมจากการใช้
สื่อภาพถ่าย ซึ่งไม่เพียงแต่ศิลปะการออกแบบที่นำภาพถ่ายมาใช้เท่านั้นที่ก่อให้
เกิดประเด็นถกเถียงนี้ขึ้น ในวงการทัศนศิลป์ก็พบปัญหาในลักษณะที่ไม่ต่างกันนัก
ในท่ามกลางข้อขัดแย้งจากการถกเถียงนี้ บทบาทของนักวิจารณ์ที่จะเข้ามาเชื่อมโยง
ระหว่างผู้สร้างสรรค์กับผู้ชมจึงเป็นบทบาทอันสำคัญ ข้อเขียนของทิบอร์ คาลมาน
อาจช่วยให้ผู้ชมเข้าใจฝ่ายผู้สร้างสรรค์มากขึ้น แต่ก็ยังมีแง่มุมบางประการใน
บทวิจารณ์นี้ที่เราควรนำมาพิจารณาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน เป็นสิ่งที่น่าสนใจที่
นักวิจารณ์หลายท่านกล่าวถึงคุณลักษณะของภาพถ่ายที่นำไปสู่ปัญหาในทิศทาง
เดียวกัน ในบทวิจารณ์ชื่อ “กล้องถ่ายภาพไม่เคยโกหก (มาก)”
คีท มิลเลอร์ ให้ความเห็นว่า กล้องถ่ายภาพสามารถถ่ายทอดความจริงจาก
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้เพียงบางส่วน คุณลักษณ์ของภาพถ่ายจึงเป็นเพียง
“การอนุมานความจริง”เท่านั้น หาใช่ความจริงสมบูรณ์ไม่ และความสับสนในการ
ถือเอาการอนุมานความจริงไปเป็นความจริง จึงเป็นปมของปัญหาในศิลปะของภาพถ่าย
สิ่งที่คีท มิลเลอร์ ให้ความเห็นไว้ดูจะสอดคล้องไปในทางเดียวกันกับ
สิ่งที่ทิบอร์ คาลมาน เสนอในบทวิจารณ์นี้ แต่คาลมานเสนอความคิดที่ไปไกล
ถึงขั้นที่ปฏิเสธความเป็น “ภววิสัย” ของภาพถ่ายอย่างสิ้นเชิง
ทั้งยังเลยไปถึงการปฏิเสธความ “จริง” ของปรากฏการณืที่เคยเกิดขึ้น
ซึ่งกล้องถ่ายภาพได้บันทึกไว้ เมื่อเขากล่าวว่า “ช่วงเวลาดังกล่าวอาจถูกปรับเปลี่ยน
ได้มากพอๆ กับสิ่งอื่นๆ” การตอกย้ำว่าภาพถ่ายไม่เคยเป็นภววิสัยเลยนั้น นัยสำคัญก็คือ
ความพยายามที่จะสื่อความให้ผู้อ่านเห็นว่า “กล้องถ่ายภาพไม่เคยพูดความจริง”
หากมองในแง่ที่คาลมานอธิบายทั้งในแง่ของกระบวนการสร้าง การนำภาพถ่ายไปใช้
ในบริบทต่างๆ หรือการนำเอาเทคนิคอันทันสมัยทางคอมพิวเตอร์มาปรับแต่งภาพลักษณ์
ของภาพถ่ายได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วแล้ว เราก็คงเห็นตามนั้นโดยไม่มีข้อถกเถียงใดๆ
แต่หากเราทบทวนเรื่องนี้โดยนึกถึงสิ่งที่โรลองด์ บาร์ธส์ กล่าวถึงคุณลักษณ์ของภาพถ่าย
ว่า “ดูเหมือนจริงราวกับมีชีวิต” แล้วย้อนกลับมาพิจารณาภาพถ่ายที่ถูกใช้ในสื่อต่างๆ
ไม่ว่าจะอยู่ในบริบทใด หรือไม่ว่าจะด้วยกลวิธีปรับแต่งภาพอันวิเศษเพียงใดก็ตาม สิ่งที่
ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ ภาพถ่ายที่ถูกนำมาใช้หรือถูกปรุงแต่งนั้น ยังคงถูกนำมาใช้ให้
“ดูเหมือนจริง” อยู่ดีนั่นเอง มิฉะนั้นภาพถ่ายจะไม่อาจนำมาใช้การโฆษณาสินค้า
หรือรณรงค์ให้คนหันมามองปัญหาบางประการดังที่เบเนตองคาดหวังได้เลย
ไม่ว่าภาพถ่ายจะเป็นภววิสัยหรืออัตวิสัยก็ตาม สิ่งที่ภาพถ่ายโกหกก็ไม่เคยปกปิด
ความจริงได้มิดชิด

เราคงต้องยอมรับว่าในฐานะนักวิจารณ์ ข้อเขียนจองทิบอร์ คาลมาน สามารถอธิบาย
ให้เราเข้าใจธรรมชาติของภาพถ่าย และการใช้ภาพถ่ายในสื่อศิลปะออกแบบได้อย่าง
มีเหตุผลน่าเชื่อถือ ทั้งในคำอธิบายนี้เขาก็ยังวิพากษ์วิจารณ์วงการของตัวเอง
และวงการอื่นๆ ที่ใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อด้วยในขณะเดียวกัน แต่คำอธิบายต่อสาธารณะว่า
ภาพถ่ายพร้อมจะโกหกทุกเมื่อและผู้ชมควรจะตระหนักถึงความลวงนี้ ยังไม่อาจนับว่า
เป็นการแสดงความรับผิดชอบที่สมบูรณ์ในฐานะของสื่อ และวิถีทางนี้ก็ไม่ใช่
“วิถีทางที่ซื่อสัตย์ที่สุดวิธีเดียว” ที่เปิดไว้แก่สื่อ เพราะแทนที่นักวิจารณ์จะออกมา
เรียกร้องให้ผู้ชมมีสติในการรับรู้สิ่งที่สื่อถ่ายทอดมา ในทางตรงกันข้ามนักวิจารณ์
มีทางเลือกที่จะย้อนกลับไปอธิบายถึงคุณสมบัติของภาพถ่ายในลักษณะเดียวกันนี้
ให้ผู้สร้างสรรค์ตระหนักถึงความจริงที่ว่า ภาพถ่ายที่พวกเขาใช้สามารถสร้างความสับสน
หรือเบี่ยงเบนออกไปจากเป้าหมายที่เขาตั้งใจสื่อได้เสมอ นักวิจารณ์ควรจะเรียกร้อง
ให้ผู้สร้างสรรค์ตระหนักถึงความเสี่ยงอันละเอียดอ่อนในการใช้สื่อภาพถ่าย
เป็นความจริงที่ว่า เราไม่อาจออกกฏหมายที่ระบุว่า บรรณธิการหรือนักข่าวห้ามโกหก
และในบางทีความผิดทางจริยธรรมก็ไม่ใช่ความผิดทางกฏหมาย ดังนั้น แทนที่
นักวิจารณ์จะเรียกร้องต่อผู้ชมไม่ให้ตั้งอยู่บนความประมาท นักวิจารณ์สามรถชี้แจง
ด้วยเหตุผลเดียวกัน เพื่อเรียกร้องให้ผู้สร้างสรรค์ใช้วิจารณญาณต่อความเสี่ยงด้าน
จริยธรรมไปพร้อมกันกับการใช้ความสามารถด้านการสร้างสรรค์ของพวกเขาด้วย
ซึ่งการเรียกร้องในวิถีทางนี้ก็คือ ทางเลือกที่นักวิจารณ์จะแสดงถึงจริยธรรมที่ตัวเขา
เองมีออกมาเช่นกัน

ไม่ว่าทิบอร์ คาลมาน จะยืนอยู่บนบทบาทของนักวิจารณ์ ผู้สร้างสรรค์
หรือในฐานะของสื่อ และไม่ว่าการเรียกร้องของเขาจะเป็นไปในทิศทางใดก็ตาม
เหตุผลและคำอธิบายต่อศิลปะภาพถ่ายของเขาก็มีน้ำหนักเพียงพอที่จะกระตุ้นให้เรา
ตระหนักว่า โลกที่เต็มไปด้วยสื่อภาพถ่ายนี้พร้อมที่จะลวงเราได้เสมอ หากเราไม่ตั้งมั่น
อย่างมีสติและใช้วิจารณญาณไตร่ตรองเสียก่อน ในแง่นี้บทวิจารณ์นี้จึงสามารถกระตุ้น
ทางปัญญาได้ และมีค่าแก่การศึกษาอย่างยิ่ง
-------------------------------------------------------------------------->
จักรพันธ์ วิลาสินีกุล : ผู้วิเคราะห์
-------------------------------------------------------------------------->
ข้อคิดเห็น :

ดูเหมือนการจะสรุปว่าภาพถ่ายเป็นภววิสัยหรืออัตวิสัย จะน่าสนใจน้อยกว่า
การกลับมาสำรวจตนเองในฐานะนักออกแบบสื่อสาร ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ภาพ
การปรับเปลี่ยนและตกแต่งภาพ และการคัดเลือกภาพ ว่าในการทำงานเราเองมีความพยายาม
ที่จะพิจารณาภาพที่เราสร้างสรรค์ ตกแต่ง หรือเลือกสรร มากน้อยเพียงใด
เพราะถ้าในฐานะผู้สร้างสรรค์ไม่เท่าทันภาพที่ใช้เสียเอง จะคาดหวังอะไรได้อีก...

June 06, 2007

Understanding Design Concept (2)

-------------------------------------------------------------------------->
บทความอ่านนอกเวลา (1)
การถ่ายภาพ จริยธรรม และเบเนตอง
ทิบอร์ คาลมาน
-------------------------------------------------------------------------->
ไม่นานมานี้ฉันได้ทำหน้าที่บรรณาธิการนิตยสาร Colors ที่แพร่หลายระดับนานาชาติ ซึ่งเบเนตอง (Benetton)
เป็นผู้อุปถัมป์ด้านทุน มันเป็นนิตยสารที่ใช้ภาษาอังกฤษจับคู่กับหลายภาษา เช่น ฝรั่งเศษ เยอรมัน สเปน และเกาหลี
Colors รับโฆษณาให้กับสินค้าภายนอก และรูปแบบของนิตยสารก็มีการเปลี่ยนแปลงจากฉบับหนึ่งสู่ฉบับหนึ่ง
เป้าหมายเบื้องต้นประการหนึ่งของนิตยสารก็คือ การท้าทายสมมติฐานที่ว่านิตยสารสามารถเป็นอย่างไรได้บ้าง
เบเนตองลงทุนกับ Colors โดยปราศจากการบังคับจำกัดเนื้อหาของนิตยสารฉบับนี้

แน่นอน เบเนตอง เป็นบริษัทที่ทำให้เกิดข้อโต้แย้งไปทั่วโลก โดยการใช้ภาพลักษณ์ที่สามารถสะเทือนอารมณ์อย่าง
รุนแรงในการโฆษณาสินค้าของตัวเอง ซึ่งการคุกคามจากการยัดเยียดวิชาการ ยัดเยียดภาพที่รบกวนจิตใจ
การมองโลกในแง่ร้ายที่เหยียดหยามสังคมมนุษย์ และการนำเสนอรสนิยมเลวๆ มีอยู่เต็มไปหมด

แต่แก่นกลางของข้อถกเถียงเหล่านี้ก็คือเรื่องคุณลักษณ์ของการถ่ายภาพ คำถามทางจริยธรรมมักจะเกิดขึ้นจาก
คนที่เชื่อว่าเบเนตองกำลังใช้ภาพถ่าย ”จริง” สำหรับจุดประสงค์ทางการโฆษณาซึ่ง ”ไม่จริง”

ไม่ว่าแรงจูงใจของเบเนตองคืออะไรก็ตาม ฉันเชื่อว่าคำถามทั้งหมดที่ว่าด้วยการถ่ายภาพบางกรณีเป็น “ความจริง”
และบางกรณี “ไม่ใช่ความจริง” นั้นไม่น่าจะเป็นคำถาม การถ่ายภาพไม่ใช่ภววิสัย มันไม่เคยเป็นภววิสัยเลย
มันไม่เคยบอกความจริงใดๆ มากไปกว่ารูปแบบอื่นๆ ของการสื่อสารทางศิลปะจะสามารถบอกได้
ในวันแรกของการฉายภาพยนตร์ ผู้คนพากันวิ่งหนีออกจากโรงฉาย เพราะคิดว่ารถไฟบนจอกำลังวิ่งเข้ามาชนผู้ชม
และเมื่อไม่นานมานี้ พวกเราบางคนก็หวีดร้องกับอสุรกายใน จูราสสิค พาร์ค

ช่วงเริ่มต้นในประวัติศาสตร์ของการถ่ายภาพ ผู้แสดงถูกใช้เพื่อแสดงบทบาทในสถานการณ์หรือเหตุการณ์ให้กล้อง
ได้บันทึกภาพ ต่อมาเราเรียนรู้ว่าจะปรุงแต่งภาพได้อย่างไร เริ่มแรกก็ด้วยมือ จากนั้นก็จัดการกับจุดเล็กๆ
(ในจอคอมพิวเตอร์ : ผู้แปล) เพื่อตกแต่งภาพ ในระหว่างนั้นก็มักจะมีวิธีการที่ทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
ในการทำให้ภาพถ่ายโกหกได้ เช่น แค่เปลี่ยนคำอธิบายภาพเพื่อเปลี่ยนความหมายของภาพ

คนบางคนยอมรับเรื่องนี้แต่ยังโต้แย้งว่า ในบางแง่นั้น ภาพถ่ายยังคง “ความซื่อสัตย์” ไว้อย่างพิเศษ พวกเขากล่าวว่า
หากภาพถ่ายมีตัวตนอยู่ สถานการณ์ในชีวิตจริงบางประการก็ต้องมีอยู่ด้วย พวกเขาอ้างว่า จากข้อเท็จจริงที่ว่า
เราสามารถควบคุมกล้องถ่ายภาพได้ด้วยกลไกจากระยะไกลให้บันทึกภาพอะไรก็ตามที่ผ่านเข้ามาข้างหน้า
ซึ่งนี่แสดงถึงความเป็นภววิสัย พวกเขายึกติดกับความคิดว่า ภาพถ่ายเป็นภาพที่มีลักษณะของ ”ความจริง”
หรือความซื่อสัตย์ติดตัวอยู่ด้วย ดังนั้น มันจึงอยู่ในระดับที่ต่างออกไปจากรูปแบบของการสื่อสารด้วยภาพอื่นๆ
ที่เป็นอัตวิสัยอย่างชัดเจน อาทิ จิตรกรรม

อย่างไรก็ตาม ฉันเชื่อว่าการถ่ายภาพก็เหมือนๆ กับจิตรกรรม มันสามารถที่จะโกหกได้พอๆ กับประสิทธิภาพที่มันให้ผล
ฉันไม่ยอมรับว่ามันจะต้องมีช่วงเวลาที่ ”จริง” ซึ่งกล้องได้จับบันทึกเอาไว้ เพราะช่วยเวลาดังกล่าวอาจถูกปรับเปลี่ยนได้มาก
พอๆ กับสิ่งอื่นๆ

คำถามต่อบริบท
จริงแล้วข้อโต้เถียงดังกล่าวเป็นการเบี่ยงเบนออกไปจากประเด็นจริงที่ฉันเชื่อว่าเป็นหนึ่งในบริบท วิธีที่เราแสดงปฏิกิริยาต่อภาพ
ที่ถูกใช้ในบริบทที่ต่างออกไป เช่น ภาพที่คัดมาพิมพ์ หรือการโฆษณา คนที่คิดอะไรตรงๆ กล่าวว่า ”เราจะต้องออกกฎ”
และมันจำเป็นต้องมีระเบียบบางประการที่หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์จะต้องเชื่อฟัง เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการล่อลวงผู้อ่าน
หรือผู้ชมด้วยภาพที่ตั้งใจใช้นอกบริบท นี่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คุณไม่สามารถออกกฎหมายที่เขียนว่า บรรณาธิการ
นิตยสารหรือนักข่าวห้ามโกหก แทนที่จะทำอย่างนั้นคุณต้องเรียนรู้ (และสอนคนอื่นๆ ต่อ) ที่จะไม่เชื่อถือเสียในทุกๆ สิ่ง
ที่คุณเห็น

พัฒนาการของเทคนิคที่ใหม่และสลับซับซ้อนของการปรุงแต่งภาพ ได้ทำให้วิวาทะเกี่ยวกับการถ่ายภาพที่ว่า “จริง”
ได้สักเพียงใดนั้นเข้มข้นขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ดี เพราะมันทำให้ข้อเท็จจริงเห็นเด่นชัดขึ้นว่า การถ่ายภาพไม่เคยเป็นภววิสัย
และการถ่ายภาพควรจะถูกตั้งคำถามในทิศทางเดียวกันกับทุกๆ สื่อที่มีสิทธิมีอำนาจ ควรจะถูกตั้งคำถาม

การรณรงค์ของเบเนตอง
แล้วเราจะทำให้ทุกๆ คนเรียนรู้ที่จะตั้งคำถามต่อภาพจากป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ หนังสือ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ภาพยนตร์
และนิตยสารต่างๆ ที่กระหน่ำเข้าใส่พวกเขาได้อย่างไร? วิถีทางหนึ่งที่จะเข้าถึงการรณรงค์ของเบเนตอง ก็คือการยอมรับว่า
มันอาจมีการสนับสนุนในแง่การศึกษาที่จะต้องทำ แทนที่จะกล่าวหาเบเนตองว่าพยายามจะขายเสื้อสเวทเตอร์ด้วยภาพของคน
ที่กำลังได้รับความทุกข์ทรมาน แต่คิดว่าการโฆษณาเหล่านี้เป็นการใช้สมมติฐานอันท้าทายและเป็นการชูประเด็นบางเรื่อง
ในสื่ออย่างหนึ่งที่เป็นการทดลอง ซึ่งได้รับการอุปถัมภ์จากบริษัทขายเส้อผ้าแห่งหนึ่ง

ลองพิจารณาตัวอย่างของเบเนตองที่มีชื่อเสียงในภาพของทารกแรกเกิดที่ปรากฏอยู่บนป้ายโฆษณาขนาดใหญ่และ
บนหน้าปกฉบับแรกของ Colors ถ้าเราถ่ายภาพทารกคนนั้นไว้เพ่อนิตยสารของคุณแม่ผู้น่ารักแล้วละก็
เราก็คงลบทำความสะอาดภาพเด็กทารกคนนี้ ด้วยกรรมวิธีปรุงแต่งภาพ(1) แทนที่จะทำเช่นนั้น เราเลือกที่จะไม่ทำ
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำให้มันอยู่ในบริบท ในเบื้องต้นเบเนตองจ่ายค่าภาพถ่ายภาพหนึ่งที่มีการจัดทำขึ้นใหม่
ต่อมาพวกเขาก็ทำให้มันอยู่ในบริบทใหม่อีกครั้งในการโฆษณา จากนั้นเพื่อจะทำเป็นหน้าปกของ Colors
เราก็ทำให้มันอยู่ในบริบทใหม่โดยดึงมันกลับไปสู่การจัดการของบรรณาธิการอีกครั้ง

ภาพหนึ่งของเบเนตองที่ทำให้เกิดข้อโต้เถียงกันมากยิ่งขึ้นไปอีกได้แก่ ภาพของเหยื่อโรคเอดส์ที่กำลังจะตาย ณ จุดนี้
ฉันเชื่อว่า สิ่งที่เบเนตองคิดว่ากำลังทำอยู่ก็คือ กำลังสนับสนุนในแง่ของการศึกษาโดยชูประเด็นทางสังคมขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ผลที่ตามมาอย่างหนึ่งของโปสเตอร์นี้ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ก็คือ ได้มีการอภิปรายถกเถียงกันในเรื่องนี้
อย่างกว้างขวางในสื่อสิ่งพิมพ์ การอภิปรายถกเถียงออกไปทางด้านลบ และมุ่งประเด็นในเรื่องการตั้งเป้าหมายทางการขาย
เสื้อสเวทเตอร์ในวิถีทางที่มีความเคลือบแฝง อย่างไรก็ตาม ในสาธารณชนกลุ่มต่างๆ เรื่องหลักจริงๆ ของการอภิปราย
ถกเถียงกันได้แก่ตัวภาพถ่ายเอง และนัยที่เลื่อนไหลของการใช้ภาพที่มีแหล่งที่มาหนึ่งในบริบทที่แปลกออกไป

ความเข้มแข็งจากความช่างสงสัย
เราควรจะเห็นคุณค่าในบางสิ่งที่หนุนเราไม่ให้เชื่อทั้งในภาพและในสื่อ ในที่สุดแล้ว สื่อก็เป็นสิ่งที่ถูกใช้โดยรัฐบาล
การเมือง และธุรกิจ ฉันคงจะเป็นคนโกหก หากฉันไม่ได้พูดว่า สื่อก็เป็นสิ่งที่ถูกใช้โดยเบเนตองด้วยเช่นเดียวกัน
ดังนั้น เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ในหมู่พวกเราซึ่งทำงานอยู่ในสื่อ จะต้องบอกต่อประชาชนไม่ให้เชื่อเรา
ในการวิเคราะห์ถึงที่สุดแล้ว นี่เป็นวิถีทางที่ซื่อสัตย์ที่สุดวิธีเดียวที่เปิดไว้แก่พวกเรา
-------------------------------------------------------------------------->
จักรพันธ์ วิลาสินีกุล : ผู้แปล
Tibor Kalman. “Photography, Morality, and Benetton.”
: Looking Closer 2 Critical Writings on Graphic Design,
Allworth Press, 1997, P.230-232.

ตีพิมพ์ใน บทวิเคราะห์และสรรนิพนธ์ สาขาทัศนศิลป์
จากการวิจัยเรื่อง การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย
-------------------------------------------------------------------------->
(1)

-------------------------------------------------------------------------->

June 05, 2007

Understanding Design Concept (1)

-------------------------------------------------------------------------->
รหัสวิชา CD3910D 03 / 2550
-------------------------------------------------------------------------->
วิชานี้ถูกนำเสนอสู่หลักสูตรการเรียนการสอนของภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดย อนุทิน วงศ์สรรคกร
เปิดสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 จนถึงปัจจุบันปี 2550 มีการขยายออกเป็น 2 กลุ่ม
โดยกลุ่มใหม่ที่เพิ่มดำเนินการสอนโดย สันติ ลอรัชวี โดยยังคงยึดจุดมุ่งหมายและ
โครงสร้างหลักของวิชาตามที่อาจารย์อนุทินได้เคยวางไว้ อาจจะมีรายละเอียด
แตกต่างกันไปบ้างตามธรรมชาติของผู้สอน
-------------------------------------------------------------------------->
จุดมุ่งหมายของวิชา
เนื้อหาหลักของวิชานี้ถูกแบ่งเป็นสองส่วนหลักคือ ภาคของการทำความเข้าใจเรื่องของคอนเซ็ป และ
ความเข้าใจในเรื่องของไอเดีย โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อให้นักศึกษาสามารถทำความเข้าใจกับ
สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว สามารถนำทักษะความเท่าทันทางความคิดมาใช้เพื่อการแยกแยะ และการทำ
ความเข้าใจวิธีคิดที่เป็นกระบวนการในบริบทต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจงานออกแบบ
-------------------------------------------------------------------------->
ลักษณะทั่วไปของการเรียนการสอน
แสดงความคิดเห็นในลักษณะการใช้กรอบเหตุและผล การเตรียมข้อมูล นำเสนอ และ โต้เถียง
ในรูปการสัมมานา นักศึกษาจำเป็นต้องใช้ทักษะของการหาข้อมูล ทักษะของการจัดเก็บข้อมูล และการวิเคราะห์

การเรียนการสอนแบ่งเป็นสามช่วงคือ ภาคของการบรรยายเพื่อบรรลุหัวข้อของการเรียนการสอน
ภาคของการแสดงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ภาคของการแสดงทัศนวิสัยจากข้อมูล
(ที่ถูกรวบรวมมาในรูปแบบของบทความประจำสัปดาห์)
-------------------------------------------------------------------------->
ความคาดหวัง
นักศึกษาจะสามารถนำความเข้าใจเรื่องของสัมพันธภาพในชั้นความคิดต่างๆ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดเป็นหลักฐาน
ที่บ่งบอกพัฒนาการทางความคิด นอกจากนั้นยังต้องสามารถเข้าใจถึงความเกี่ยวข้องระหว่างการออกแบบ
ที่มีต่อสังคม (และในทางกลับกัน)
-------------------------------------------------------------------------->

June 04, 2007

Communication Design 5 / 2 0 0 7

สัปดาห์ที่ 1 ( 4 มิ.ย. - 9 มิ.ย. 2550 )
----------------------------------------------------------------------------------
การออกแบบนิเทศศิลป์ 5 ปีการศึกษา 2550
----------------------------------------------------------------------------------
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
----------------------------------------------------------------------------------
ผู้สอน :
ชุติมารี จาตุรจินดา
พันทิพา ตันชูเกียรติ
พิมพ์จิต ตปนียะ
สันติ ลอรัชวี
สำเร็จ จารุอมรจิต
อนุทิน วงศ์สรรคกร
----------------------------------------------------------------------------------
จากกระบวนที่เป็นเนื้อหาหลักของวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ 4 คือ
1. การสร้างความเข้าใจในประเด็นที่ออกแบบ
2. การทดลองเพื่อแสวงหาทางเลือกหรือความเป็นไปได้ของการออกแบบ
3. การเลือกสรรและพัฒนาตัวเลือกที่ได้มาเป็นงานออกแบบ
คือ 3 ประเด็นหลักที่ยังคงเป็นสาระสำคัญของวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ 5
โดยคาดหวังให้นักออกแบบสร้างผลงานการออกแบบที่มีความลงตัว
ในมิติต่างๆ แห่งกระบวนการออกแบบ
ความงาม / ความร่วมสมัย / การนำไปใช้งาน / ความเข้าใจ /
การค้นคว้าและการคัดสรรข้อมูล / ความก้าวหน้าในแง่มุมของการออกแบบ /
ความคิดสร้างสรรค์ / แนวทางออกแบบเฉพาะตน / ฯลฯ
เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ผู้เรียนและผู้สอนจะร่วมกันพิจารณาในการพัฒนา
ผลงานออกแบบนิเทศศิลป์ตลอดภาคการศึกษา
----------------------------------------------------------------------------------
กรอบความคิดของโครงการ :
เนื่องจากมีนักศึกษา 3 กลุ่ม จึงออกแบบให้มีกรอบความคิดในการสร้างงาน
ของนักศึกษาแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน ดังต่อไปนี้
1. System (ชุติมารี จาตุรจินดา และ พันทิพา ตันชูเกียรติ)
2. Random (สำเร็จ จารุอมรจิต และ พิมพ์จิต ตปนียะ)
3. Sequence (สันติ ลอรัชวี และ อนุทิน วงศ์สรรคกร)

นักศึกษาแต่ละกลุ่มจะได้รับกรอบความคิดเดียวกัน ในการนำไปเป็นจุดเริ่มต้น
ในการนำเสนอโครงการออกแบบ จนนำไปสู่ผลงานการออกแบบที่เสร็จสมบูรณ์
----------------------------------------------------------------------------------
----------------------------------------------------------------------------------

June 02, 2007

s t a m p p e r



may, 2007

Democart Party's Logotype

->
หลังจากที่นิตยสาร Positioning นำสัญลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์
และ พรรคไทยรักไทย ขึ้นคู่กัน (อาจจะเป็นครั้งสุดท้าย)
ทำให้ผมตัดสินใจนำผลงานออกแบบ (ที่เก็บเงียบมานาน)
มาลงใน blog

โปรเจ็กต์นี้เริ่มตั้งแต่ปี 2548 โดยพี่แดง สุขจิต ศรีสุคนธ์ แห่ง สยามเมนทิส
(Siamentis) เป็นผู้ชักชวนให้ผมและทีม ได้ redesign
สัญลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ รวมไปถึง corporate applications ต่างๆ
โดยตัวสัญลักษณ์เป็นการปรับแต่งองค์ประกอบของสัญลักษณ์ให้เอื้อต่อการ
นำไปใช้ในสื่อต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
และได้ออกแบบสัญลักษณ์ชื่อ (logotype) โดยตัดคำว่าพรรคออกเพื่อความ
กระชับในการมองและอ่าน โดยออกแบบตัวอักษรภาษาไทยให้เป็นลักษณะ
Display Type ที่มีจริตของการเขียนตัวอักษรไทยเข้ามาผสมผสาน
ให้สอดคล้องกับพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย





Design Consultant : Sukajit Srisukon
Design Director : Tik Lawrachawee
Graphic Designer : Eak Kampanart Hienchasri