May 02, 2009

SANTIVITHEE.COM Ready Now!



ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติ ติดตาม Grafiction มาตลอด
ผมได้เตรียมเว็บไซต์ที่รวบรวมผลงานและข้อเขียนต่างๆ ทั้งที่เคยลงในบล็อก
และที่ยังไม่เคยลงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสะดวกและเป็นระบบกว่าเดิม
จึงขอเปลี่ยนการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆไปยัง www.santivithee.com
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะติดตามต่อไปนะครับ

March 10, 2009

“ฉันเป็นนักออกแบบกราฟิกไทย (I am a Thai Graphic Designer)”



เนื่องด้วยทาง Practical Studio กำลังดำเนินการโครงการเกี่ยวกับกลุ่มนักออกแบบกราฟิกไทยภายใต้ชื่อโครงการว่า
“ฉันเป็นนักออกแบบกราฟิกไทย (I am a Thai Graphic Designer)” โดยจะนำเสนอออกมารูปแบบวารสาร RawMat
(ด้วยความร่วมมือของ บริษัท แอนทาลิส (ประเทศไทย) และพยายามผลักดันไปสู่รูปแบบนิทรรศการในพื้นที่สาธารณะ
(สยาม ดิสคัพเวอรี่ และ สยาม เซ็นเตอร์) รวมไปถึงการขยายไปสู่รูปแบบอื่นๆ ตามโอกาสอำนวย

แนวคิดและการเข้าร่วมโครงการ :
เป็นโครงการที่นำเสนอตัวตนและการมีอยู่ของนักออกแบบกราฟิกไทย และสื่อสารออกไปว่าวิชาชีพนี้มีสังคมที่แข็งแรง
และพร้อมที่จะเปล่งเสียงออกมาให้สังคมรวมได้รับรู้ถึงความพร้อมของเครือข่ายนักออกแบบกราฟิกด้วยกันเอง
ที่จะนำไปสู่การรวมตัวเพื่อเป็นกำลังสำคัญหนึ่งของสังคมต่อไป

รูปแบบการเข้าร่วมโครงการ :
โครงการ “ฉันเป็นนักออกแบบกราฟิกไทย (I am a Thai Graphic Designer)”
เป็นโครงการที่ต้องการรวบรวมภาพถ่ายนักออกแบบกราฟิกไทยทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและทำงานหรือศึกษาต่ออยู่ที่ต่างประเทศให้มากที่สุด
โดยภาพถ่ายเหล่านั้นจะเป็นภาพถ่ายของนักออกแบบแต่ละคนที่ถือแผ่นกระดาษ A3 ที่มีผลงานออกแบบตัวอักษรคำว่า
“ฉันเป็นนักออกแบบกราฟิกไทย”หรือ “I am a Thai Graphic Designer”
โดยรูปแบบของผลงานนั้นขึ้นอยู่กับความคิดของนักออกแบบเจ้าของงาน

โดยมีข้อกำหนดการส่งภาพถ่ายเข้าร่วมดังต่อไปนี้ :
1. ขอให้ส่งภาพถ่ายเป็นไฟล์ JPEG ขนาด A4 (21 ซม. x 29.7 ซม.) ความละเอียด 300 dpi
2. ภาพที่ส่งมาต้องเห็นผลงานบนกระดาษที่ถือชัดเจนและเป็นแนวนอนเท่านั้น
3. ผู้ส่งผลงานจะต้องส่งข้อมูลส่วนบุคคลให้ครบถ้วน
ชื่อ-นามสกุล (ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) / ที่อยู่ที่ติดต่อสะดวก / ชื่อบริษัทหรือองค์กร / ตำแหน่ง /
เบอร์โทรศัพท์ / มือถือ / อีเมล์ / เว็บไซต์ (ถ้ามี) / เว็บบล็อก (ถ้ามี)
4. นักศึกษาออกแบบสามารถส่งผลงานเข้าร่วมได้ แต่ขอให้ระบุข้อมูลสถานศึกษาและชั้นปีด้วย
5. ผลงานทุกชิ้นถือเป็นลิขสิทธิ์ของนักออกแบบเจ้าของผลงาน ทางผู้จัดโครงการจะใช้ในการเผยแพร่ผ่านสิ่งพิมพ์ เว็บไซต์
และการจัดนิทรรศการเท่านั้น การส่งผลงานถือว่าเจ้าของผลงานให้ความยินยอมในการเผยแพร่ผลงานนั้น
6. ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

***ส่งผลงานทางอีเมล์มาที่ practicalstudio@gmail.com เท่านั้น
จากนั้นจะได้รับแบบฟอร์มตอบรับกลับเพื่อยืนยันการรับผลงานของท่าน

กำหนดการส่งผลงาน :
รอบแรก (สำหรับตีพิมพ์ในวารสาร RAWMAT รวบรวมลงเว็บไซต์ www.iamathaigraphicdesigner.com) : ส่งภายในวันที่ 30 เมษายน 2552

รอบสอง (สำหรับจัดแสดงนิทรรศการ(ถ้ามีผลงานมากพอ) : ส่งภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2552

รอบสาม (ถ้ามีจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง)

ติดต่อสอบถามได้ที่ Practical Studio
โทร 02 9382300-4 ต่อ 1003
โทรสาร 02 9389522
อีเมล์ practicalstudio@gmail.com
www.iamathaigraphicdesigner.com

ตัวอย่างภาพถ่ายพร้อมผลงานในการส่งเข้าร่วมโครงการ :




January 09, 2009

| Practical®Studio Facebook Page |


Now you can visit Practical®Studio's Facebook Page
: http://www.facebook.com/pages/Bangkok-Thailand/Practical-Studio/43325004010

January 05, 2009

โปสเตอร์กับความเป็นศิลปะสาธารณะ


เป็นบทความขนาดสั้นที่เขียนขึ้นเพื่อลงวารสาร RAW MAT ฉบับล่าสุด
ในโอกาสนิทรรศการโปสเตอร์ “Design (alone) Cannot Change (everything)”
ที่กำลังจะแสดงในวันจันทร์ที่ 1-7 ธันวาคม 2551 ณ แกรนด์ ฮอลล์ ชั้น 1 สยาม ดิสคัพเวอรี่
เขิญร่วมงานวันเปิดนะครับ มีเสวนาเวลา 4 โมงเย็นโดย สยาม อัตตริยะ (คัลเลอร์ ปาร์ตี้) / อนุทิน วงศ์สรรคกร (พฤติกรรมการออกแบบ) /
พันทิพา ตันชูเกียรติ (ลิ-เก) และผมครับ จากนั้นร่วมฟังแนวความคิดของนักออกแบบแต่ละคน ซึ่งผลงานน่าสนใจมากๆ ครับ

โปสเตอร์กับความเป็นศิลปะสาธารณะ

“โปสเตอร์” สิ่งพิมพ์ที่อยู่เคียงข้างพื้นที่สาธารณะมาโดยตลอด ผมมีความสุขและคุ้นเคยกับการยืนมองและอ่านเนื้อหาที่จัดวางอยู่บนโปสเตอร์
โปสเตอร์บางใบดึงดูดให้ผมเดินเข้าไปหามันตั้งแต่ตอนเห็นในระยะไกล และบางใบก็สะกดให้ผมยืนมองเนิ่นนาน ที่ผ่านมาไม่ว่าจะรับใช้เนื้อหา
ที่สัมพันธ์กับรัฐ องค์กร สินค้าหรือบริการใดๆ ก็ตาม โปสเตอร์ก็เป็นสื่อหลักสื่อหนึ่งที่นักออกแบบสื่อเลือกใช้เมื่อจะต้องนำเสนอเนื้อหาไปสู่สาธารณะ
ดังนั้นอาจเรียกได้ว่า “โปสเตอร์” ก็เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับนักออกแบบกราฟิกมาโดยตลอดเช่นกัน

สำหรับผมจึงเป็นเรื่องแปลกถ้าพบนักออกแบบซักคนที่ไม่เคยออกแบบโปสเตอร์เลย (แม้กระทั่งตอนเรียน)

ซึ่งนับเป็นเวลากว่า 16 ปี จากโปสเตอร์ใบแรกที่ผมออกแบบเพื่อส่งงานในชั้นเรียน จนถึงโปสเตอร์ใบล่าสุดที่ผมออกแบบสำหรับนิทรรศการโปสเตอร์นี้
ทำให้ชวนคิดว่าในระยะเวลาที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้างกับการออกแบบโปสเตอร์ในบ้านเรา ในขณะที่รูปแบบโปสเตอร์ก็มีความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย
สังคม การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี มาตามลำดับ
ตั้งแต่ยังไม่มีอาชีพนักออกแบบกราฟิก จนกระทั่งปัจจุบันที่มีนักออกแบบหน้าใหม่จบออกมาเป็นพันคนต่อปี

เรื่องหนึ่งที่ผมนึกถึงก็คือ “พื้นที่ติดโปสเตอร์ ” ที่นับวันจะลดลงจนบางครั้งนึกไม่ออกว่าจะเอาโปสเตอร์ที่ได้มาไปติดให้ที่ไหน
ในยุคสิบกว่าปีก่อน เสากลมบริเวณริมถนนบางสายเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีคนมาติดโปสเตอร์กันมาก มีคนนำโปสเตอร์ไปติดเพิ่มตลอดทั้งวัน
ติดตอนเช้ามืด บ่ายก็โดนติดทับแล้ว แต่ก็จะโดนติดทับตอนหัวค่ำอีกที ส่วนถ้าติดที่กำแพงแถวสยามฯ โดยมากมักจะคิดซ้ำจนเต็มกำแพง
เพื่อความชัดเจน แต่เวลาโดนทับก็มักจะโดนทั้งกำแพงเช่นเดียวกัน เรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นความไร้ระเบียบในการใช้พื้นที่สาธารณะ

แต่ถึงอย่างไรเสากลมก็ไม่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ในขณะที่ผนังบริเวณสยามแสควร์ก็เหลือน้อยมากแล้ว

พื้นที่สื่อสารสาธารณะที่เคยมีกำลังจะหมดไป
ในขณะพื้นที่สื่อสารสาธารณะใหม่ก็เกิดขึ้นทดแทน แต่ก็มีคนตั้งคำถามไว้มากเกี่ยวกับความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะใหม่นั้นๆ
ว่าเข้าถึงได้ยากหรือต้องเข้าไปภายใต้การกำกับอย่างเข้มงวด จนทำให้พื้นที่นั้นไม่เป็น “สาธารณะ” จริง หรือไม่ก็มีเรื่องธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง
จนกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อน จนต้องรับอิทธิพลของทุนหรือกลายเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ไปโดยปริยาย
แรกเริ่มพื้นที่สาธารณะเป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นของฮาเบอร์มาส นักวิชาการเยอรมัน มองเห็นความสำคัญของโลกการสื่อสารและบทบาททางการเมือง
ของกลุ่มชนชั้นใหม่ในสังคมยุโรปช่วงรอยต่อระหว่างการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบบการเมืองรูปแบบประชาธิปไตย
ในคริสต์วรรษที่ 18 การสื่อสารตามร้านกาแฟ ร้านตัดผมหรือร้านค้าในชุมชน เป็นศูนย์รวมของการวิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐ และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร
ประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มพ่อค้าและนายทุน มีโอกาสนำเรื่องการเมืองมาตรวจสอบและกดดันให้เกิดความโปร่งใส พื้นที่สาธารณะมีความหมายตรงกันข้ามกับ
พื้นที่ในราชสำนัก ซึ่งอำนาจทางการเมืองมีการรวมศูนย์ และการตัดสินใจทางการเมืองดำเนินภายในปริมณฑลที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะและจำกัดในวงแคบ
พื้นที่สาธารณะยังประกอบไปด้วยสื่อหนังสือพิมพ์ ใบปิด ใบปลิว และสิ่งพิมพ์ขนาดเล็กที่เป็นเวทีกลางในการเชื่อมต่อพื้นที่สาธารณะในทางกายภาพจาก
กลุ่มคนในร้านกาแฟและย่านต่างๆ ให้มีโอกาสพบและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ผ่านพื้นที่สาธารณะในทางสัญลักษณ์


แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าพื้นที่ที่เหลือน้อยสำหรับโปสเตอร์จะสวนทางกับปริมาณการใช้สิ่งพิมพ์ในระดับย่อย ซึ่งขอบเขตการนำเสนอเนื้อหาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ
ขยายวงกว้างออกไปอย่างมาก ตั้งแต่ระดับปัจเจกชนไปจนถึงองค์กรต่างๆในชุมชนไม่ว่าจะเป็น สหภาพแรงงาน องค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัย
ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายทางด้านสิ่งแวดล้อม โรงเรียนสอนพิเศษ โบสถ์หรือวัด และมีประเด็นต่างๆที่กล่าวถึงอาณาเขต หรือปริมณฑลแห่งหนึ่งแห่งใดโดยเฉพาะ
เจาะจงมากขึ้น เช่น กลุ่มผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี /ลูกหนี้บัตรเครดิต / ผู้ติดบุหรี่หรือสุรา เป็นต้น ซึ่งเราจะสังเกตเห็นได้จากหน่วยงานเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับ
กลุ่มนั้นๆ เราจะสามารถเห็นโปสเตอร์ในสถานที่ของหน่วยงานต่างๆ อยู่เสมอ แต่ขอบเขตในการเผยแพร่ก็จะจำกัด ทั้งๆ ที่บางเรื่องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง
กับสังคมในวงกว้าง เกินกว่าจะติดอยู่แค่ในหน่วยงานเท่านั้น

ในเมื่อพื้นที่สาธารณะสำหรับโปสเตอร์ลดน้อยลงจนไม่มีความจำเป็นต่อการใช้โปสเตอร์ ไม่ว่าโปสเตอร์ใบนั้นจะถูกออกแบบและสื่อสารได้ดีเพียงใด
มันก็ไม่สามารถแสดงศักยภาพออกไปได้ถ้าโปสเตอร์เหล่านั้นไม่มีพื้นที่แสดงตัวออกไป
บางทีทำให้คิดไปว่านี่อาจเป็นวาระสุดท้ายของศิลปะการออกแบบโปสเตอร์หรือไม่...

คุณประชา สุวีรานนท์ เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ในบทความรายสัปดาห์ว่า “หัวใจของงานออกแบบต้องมีพันธสัญญาระหว่างไตรภาคี อันได้แก่
ลูกค้าหรือสถาบันที่มอบหมายหรือว่าจ้างและสาธารณชน ซึ่งหมายถึงกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ดู” อีกทั้งยังกล่าวถึงคุณค่าของโปสเตอร์ไว้ด้วยว่า
“ความเป็นศิลปะสาธารณะของโปสเตอร์กำลังเสื่อมลงพร้อมกับความหมายของคำว่า “พื้นที่สาธารณะ” นั่นอาจหมายถึงคุณค่าหรือความเป็นศิลปะ
ของโปสเตอร์อาจจะเป็นผลต่อเนื่องมาจากการแสดงตัวตนหรือเนื้อหาของมันออกไปสู่สาธารณะ นั่นจึงจะทำให้โปสเตอร์ใบนั้นมีตัวตนครบถ้วน
เพราะได้ทำหน้าที่ของมันออกไปอย่างสมบูณ์แล้ว

ปลายปี พ.ศ. 2550 นิทรรศการ “ศิลปะแห่งการคอร์รัปชั่น” ซึ่งจัดแสดงที่หอศิลป์ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้เชิญนักออกแบบกราฟิก 8 คน
ให้ร่วมสร้างสรรค์และแสดงผลงานโปสเตอร์ในพื้นที่แสดงนิทรรศการศิลปะร่วมกับศิลปินทางด้านทัศนศิลป์คนอื่นๆ
ซึ่งถือเป็นอีกปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการจัดสรรพื้นที่ให้กับโปสเตอร์แสดงตัวในอีกบริบทหนึ่ง
ที่ไม่ใช่นิทรรศการจัดแสดงผลงานโปสเตอร์ที่เคยออกแบบมารวบรวมให้ชม แต่เป็นการออกแบบโปสเตอร์เพื่อเหตุผลในการจัดแสดงในรูปแบบนิทรรศการ
โดยเฉพาะ จึงมีคำถามที่น่าสนใจว่า นิยามร่วมสมัยของโปสเตอร์คืออะไร /
ระหว่างการจัดแสดงนิทรรศการกับการพิมพ์โปสเตอร์เพื่อแจกจ่ายไปติดตามสถานที่ต่างๆ รูปแบบไหนจะมีคนพบเห็นและรับรู้เนื้อหามากกว่ากัน /
โปสเตอร์ที่พิมพ์เพียงเพื่อจัดแสดงนั้น ความเป็นศิลปะสาธารณะจะยังคงอยู่หรือไม่ ฯลฯ

เราทุกคนแม้จะมีความเป็นส่วนตัว แต่ทุกคนก็ต้องมีวาระที่เป็นชีวิตสาธารณะด้วย แม้การแต่งตัวของเราก็สามารถสื่อสารอะไรบางอย่างออกไปแก่ผู้พบเห็น
ดังนั้นการที่โปสเตอร์แต่ละใบมีสถานภาพแตกต่างกัน อาจไม่ได้ทำให้คุณค่าหรือความเป็นสื่อสาธารณะหมดไป
หากเพียงสาระที่บรรจุอยู่นั้นยังมีประโยชน์เพียงพอต่อผู้พบเห็น

สำหรับคนทำงานออกแบบโปสเตอร์คนหนึ่ง ในการพบเห็นโปสเตอร์แต่ละใบมีความรู้สึกยินดีมากกว่าความรู้สึกอื่นที่คละอยู่
เพราะไม่ว่าโปสเตอร์ที่เราออกแบบจะติดอยู่ที่ไหนก็ตาม การมีอยู่ของโปสเตอร์แต่ละใบ ต่างพื้นที่ ต่างวาระนั้น
นั่นก็สะท้อนให้เห็นถึงการมีอยู่ของพื้นที่สาธารณะ การมีอยู่ของศิลปะการออกแบบโปสเตอร์ ที่นักออกแบบกราฟิกและพลเมืองของสังคมคนหนึ่ง
อาจใช้ปกป้องวิชาชีพและพื้นที่สาธารณะเอาไว้ ด้วยการผลิตแผ่นกระดาษที่จะเข้าไปแบ่งปันพื้นที่ที่นับวันจะมีเจ้าของกันหมดแล้ว...