February 29, 2008

| ถึงลูกศิษย์ Com. Design 4 ทุกคน |

ผมเพิ่งอ่าน Blog ของทุกคนเสร็จเรียบร้อย ก็เลยอยากจะฝากข้อความถึงทุกๆ คน...

ผมอยากให้ทบทวนดูว่า ถ้าไม่จดจ่อไปกับผลงานการออกแบบที่น่าพอใจหรือดีเยี่ยมซักชิ้น
คุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง... จากเทอมที่ผ่านมา
ผมเชื่อเสมอว่าการเรียนรู้อะไรซักอย่าง ไม่ได้หมายความว่าเราจำเป็นจะได้ผลลัพธ์(ผลงาน)
ที่สวยงามเสมอไป แก่นของการศึกษายังน่าจะคงอยู่ที่กระบวนการเรียนรู้ พัฒนาทักษะ ความคิด
และทัศนคติเชิงบวก มากกว่าการสร้าง Portfolio เพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์ต่อไป

สำหรับผมแล้ว...คุณภาพของคุณทุกคน สำคัญกว่าคุณภาพของผลงานคุณเสมอ
แม้ว่าคุณภาพของคนอยู่ที่ผลของงาน แต่งานของคุณคือการพัฒนาตนเอง
ไม่ใช่งานออกแบบที่เราสมมติมันขึ้นมาทำกันในชั้นเรียนนะ

ไม่มีความจำเป็นต้องถอย... สำหรับคนที่ท้อ
ไม่จำเป็นต้องหยุด... สำหรับคนที่มั่นใจ
ผมเองในฐานะผู้สอน ไม่มีความสำคัญมากขนาดเป็นปัจจัยที่จะทำให้คุณเป็นนักออกแบบอย่างไร
ผมเป็นเพียงแค่เหตุการณ์หนึ่งที่คุณผ่านมันไปแล้ว

บัณฑิตย่อมรู้จักเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่ตนเองประสบ
ไม่ว่าเหตุการณืนั้นจะดีหรือร้ายก็ตาม...

| มหรสพแห่งความฝัน ความหวัง และอุดมคติ (The Amusement of Dream Hope and Perfection) |




นิทรรศการ มหรสพแห่งความฝัน ความหวัง และอุดมคติ
โดย นที อุตฤทธิ์
หอศิลป์วิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์หมาวิทยาลัย
18 ต.ค. ถึง 24 พ.ย. 2550

ผมขออนุญาตคัดบางส่วนของบทความประกอบนิทรรศการ
“การจู่โจมของวัตถุ: ภาพลักษณ์ที่แผ่ขยายออกไปสถิตย์อยู่ทุกหนทุกแห่ง” เขียนโดย สุรกานต์ โตสมบุญ
เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการชมผลงานจิตรกรรม และการมีบทความประกอบนิทรรศการศิลปะ
จะทำให้ผู้คนใกล้ชิดและสามารถเชื่อมโยงกับงานศิลปะมากขึ้น


ในการวิเคราะห์ข้อความที่มาจากจดหมายรักที่ว่า “Fair Countess, I am dying for love of your beautiful eyes” Vincent Descombes
ได้ผ่าแบ่งประโยคออกเป็น 5 องค์ประกอบย่อยได้แก่ (a) “Fair Countess” (b) “I am” (c) “dying” (d) “for love” และ
(e) “of your beautiful eyes” จากองค์ประกอบย่อยนี้ เมื่อได้ทำการเรียงสลับกันใหม่ เราจะได้วิธีการเรียงที่ต่างกันถึง 120 แบบไม่ซ้ำกัน
และในการเรียงแต่ละแบบก็จะให้ความรู้สึกและความหมายที่ต่างกันออกไปด้วย แต่เมื่อถามว่าแบบใดดีที่สุด Descombes กล่าวว่าคือแบบแรก
(หรือ a b c d e) เพราะเป็นแบบที่สอดรับกับรหัสหรือกฎเกณฑ์ทางสังคมในขณะนั้น – อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเรียงในแบบใด มีวิธีเล่าแบบใด
หรือเนื้อเรื่องมีรายละเอียดต่างกันอย่างไร ก็ยังสามารถสืบกลับไปได้ว่ายังเป็น “จดหมายรัก” อยู่ และทุกครั้งที่มีการเรียงประโยคใหม่
ความหมายตรง (denotation) คือการพรรณนาถึง “ความรักที่มีต่อผู้หญิง” หรือ “การหลงใหลในผู้หญิงคนนั้น”
ก็จะยังมีอยู่ในทุกครั้งของการเรียงสลับ แต่ ความหมายแฝง (connotation) จะเปลี่ยนแปลงไปทุกครั้ง ในการวิเคราะห์ดังกล่าว
ชัยรัตน์ เจริญสินโอฬาร ชี้ให้เห็นว่า ความหมายแฝง ซึ่งหมายถึง “ค่านิยมของสังคมในแต่ละช่วงสมัย” ของ Descombes
ก็คือสิ่งเดียวกันกับที่ Roland Barthes หมายถึง “อุดมการณ์หลัก” หรือ “มายาคติ” ซึ่งสังคมนั้นๆ กำหนดหรือเชื่อถือกันอยู่นั่นเอง

การผ่าแบ่งส่วนเสี้ยวของประโยคออกจากกันแต่ปรากฏว่า “องค์ประกอบย่อย” ยังคงมีอยู่ในประโยคที่จัดเรียงใหม่ได้ถึง 120 แบบตามที่
Descombes ยกตัวอย่างนั้น อาจนำมาเปรียบได้กับการพยายามที่จะคัดแยกเอาองค์ประกอบทางสายตา ซึ่งหมายถึง คุณสมบัติ
(ผลทางการมองผิวเนื้อวัสดุ, สีสัน, รูปทรง, ขนาด-สัดส่วน, ความเฉพาะของพื้นที่ตั้ง, ฯลฯ) และกฎเกณฑ์ของแสงสี (การสะท้อนแสง-สี,
การสื่อแสดงของแสงเงา, ฯลฯ) ที่มีอยู่บนผิวพื้นหรือรูปทรงสัญญะที่เป็นจริงของวัตถุสิ่งของ, ธงชาติ, รูปประติมากรรม, ดอกไม้, ถุงหิ้ว
และตุ๊กตาเด็กเล่น ออกเป็นส่วนเสี้ยวต่างๆ แล้วจึงดัดแปลงหรือแปรสภาพในแบบที่ยังคงทิ้งร่องรอยดั้งเดิมให้ผู้ชมยังคงสามารถย้อนกลับไปรับรู้
สภาวะดั้งเดิม (รูปประโยคเดิม หรือรูปสัญญะ/ตัวตนวัตถุต้นแบบ) ได้ ก็คือการยังคงส่วนเสี้ยวต่างๆ จากรูปประโยคเดิมให้ผู้อ่านยังปรากฏรับรู้
ว่าประโยคนั้นมี ความหมายตรง ว่าอะไร หรือให้ผู้ชมยังรับรู้ว่ารูปสัญญะนั้นยังคงเป็น/หมายถึง ธงชาติไทย, พระบรมรูปทรงม้า, ฯลฯ
อยู่การแปรเปลี่ยนคุณสมบัติและกฎเกณฑ์ของแสงสีที่เคยปรากฏเป็นผลสื่อแสดงทางสายตาจากตัววัตถุ/รูปทรงสัญญะเดิม แล้วนำมาจัดวางไว้บน
ผืนผ้าใบใหม่เป็นภาพจิตรกรรมหุ่นนิ่งชุด “The Amusement of Dreams, Hope and Perfection” ด้วยกรรมวิธีของการผ่าแบ่งแล้วจัดเรียงใหม่
เช่นเดียวกับกระบวนการวิเคราะห์/ตีแผ่รหัสสัญญะที่มีอยู่ในสังคมของนักสัญวิทยาดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น จึงเป็นกลวิธีที่อาจจะทำให้เกิดการ
สร้าง ความหมายแฝง ชุดใหม่ พร้อมๆ ไปกับเป็นการลดทอนเอาชุดความหมายซึ่งเป็น ค่านิยม/มายาคติ ที่มีอยู่เดิมให้หลุดลอกออกไปจากบริบท
(ความหวัง ความฝัน และอุดมคติ) ในการรับรู้ของสังคมไทย จนเสมือนกับเป็น “ภาพเปล่า” ซึ่งผู้ชมสามารถจะเข้ามาร่วมกันกำหนดตีความ/
กำหนดสร้างใหม่ได้โดยนัยยะต่างๆ กัน

February 26, 2008

| @ BUG gallery :: 1st survey |






Oohh! 164 sqm. (i_i)

February 19, 2008

| Learning to Live Finally : The Last Interview |

Jacques Derrida

การดำเนินชีวิตอยู่ต่อไป คือ ชีวิตที่มากกว่าการดำรงชีวิต เป็นยิ่งกว่าการใช้ชีวิต
และสิ่งที่กล่าวมานี้ก็มิใช่วาทกรรมแห่งความตาย แต่ในทางตรงกันข้าม
กลับเป็นการยืนยันต่อชีวิตของทุกคนที่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ และอยู่ให้รอดพ้นจากความตาย
เพราะว่าการมีชีวิตอยู่ต่อไปมิใช่ความง่ายดายอย่างที่เป็นอยู่ แต่เป็นการดำเนินชีวิตที่จริงจัง

ข้าพเจ้าไม่เคยถูกหลอกหลอนด้วยความตายอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
มากไปกว่าช่างเวลาที่มีความสุขและความรื่นรมย์
สำหรับข้าพเจ้าแล้ว การมีความสุขและความเศร้าโศกต่อความตายที่รอคอยอยู่นั้น
ถือว่าเป็นสิ่งเดียวกันเวลที่ข้าพเจ้าหวนระลึกถึงชีวิตตนเอง
ข้าพเจ้าชอบคิดว่าตนโชคดีที่ได้รักและชื่นชอบ [ชีวิตของตนเองที่ผ่านมา]
หรือแม้กระทั่งช่วงเวลาที่ปราศจากความสุขในชีวิต แต่ก็ยังชื่นชมต่อสิ่งเหล่านี้อยู่ดี

กระนั้นก็มีสิ่งที่ยกเว้นเพียงอย่างหนึ่ง เมื่อนึกถึงช่วงเวลาแห่งความสุข
แน่นอนว่า ข้าพเข้าปลื้มใจต่อตนเองเช่นกัน
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ลืมที่จะนึกถึงความตาย หนทางไปสู่ความตาย
เพราะว่าทุกอย่างย่อมต้องผ่านไป โดยไปสู่จุดจบ...

February 08, 2008

| คำถามฟุ้งตลบอบอวล จาก “The Orange Girl” |


Appelsinpiken (The Orange Girl) หรือ ส้มสื่อรัก
Jostein Gaarder เขียน; จิระนันท์ พิตรปรีชา แปล; สำนักพิมพ์มติชน



^ Jostein Gaarder

“...นั่งสบายๆ หรือยัง คุณผู้อ่าน? แล้าเราจะเริ่มคุยกัน”

หนังสือหลายๆ เล่มทิ้งคำถามให้ตลบอบอวลและค้างเติ่งอยู่กับผม
ให้ผมได้พิจารณาคำถาม แสวงหาหนทางของการตอบ
ดูเหมือน “ส้มสื่อรัก” ของกอร์เดอร์ จะมีเจตนาแบบนี้อยู่ชัดเจน
เล่าเรื่องผ่านจดหมายปึกใหญ่ของพ่อที่กำลังจะเสียชีวิตจากโรคร้าย
ในขณะที่กำลังพอใจกับชีวิต จดหมายนั้นเขียนให้ลูกชายซึ่งขณะนั้นอายุ 3 ขวบครึ่ง
โดยหวังว่าวันนึงลูกชายจะได้อ่านจดหมายฉบับนี้ที่ซ่อนอยู่ในรถเข็นเด็ก
ซึ่งในที่สุดลูกชายก็ได้อ่านมันเมื่ออายุ 15 ปี

สำหรับผม...จดหมายฉบับนั้น น่าจะเป็นจดหมายที่มีความหมายที่สุดฉบับหนึ่ง
(เหตุผลหนึ่งน่าจะมาจากการที่ผมไม่ค่อยได้รับจดหมายมากฉบับซักเท่าไหร่)
ขณะอ่านจดหมาย(ในหนังสือ) ผมไม่ค่อยรู้สึกว่าผมกำลังอ่านจดหมายของคนอื่น
ผมรู้สึกเหมือนจดหมายฉบับนั้นเขียนตรงมาหาผมโดยเฉพาะ
ทำให้ข้อความและคำถามในจดหมาย เพ่งเล็งมาที่ผมจนทำให้ผมต้องแสวงหาคำตอบนั้น
หรืออย่างน้อยมันก็หมุนวนเวียนในความคิดหลังจากที่ปิดหนังสือไปแล้ว...

โยสไตน์คอยย้ำเตือนให้เราปรับมโนทัศน์ต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว
ของขวัญล้ำค่าหรือไร้ค่า สิ่งสามัญธรรมดาหรือสิ่งมัศจรรย์ ล้วนขึ้นตรงกับการโฟกัสความคิดและมุมมองของเราเอง

บางครั้ง...การจำลองสถานการณ์แห่งการสูญเสีย จะทำให้เราเสียศูนย์จากความเคยชิน และมองเห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัว
...หน้า 152
“อย่ามาบอกพ่อให้ยากเลยว่าธรรมชาติไม่ใช่ปาฏิหารย์ อย่ามาบอกพ่อว่าโลกนี้ไม่ใช่เทพนิยาย
คนที่มองไม่เห็นก็จะมองไม่เห็นต่อไป จนกว่าเทพนิยายเรื่องนี้ใกล้จุดอวสาน
เมื่อโอกาสสุดท้ายที่จะขยี้ตามองด้วยความอัศจรรย์ใจได้มาถึง
...โอกาสสุดท้ายที่จะเลิกหมกมุ่นกับตัวเอง แล้วหันไปมองสิ่งมหัศจรรย์เหล่านั้น เพียงเพื่อเอ่ยคำอำลาก่อนจากไป”



คำถามที่ผมเที่ยวเอาไปถามคนรอบข้าง หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ เพื่อให้แน่ใจว่าผมพร้อมจะตอบมันแล้ว...
...หน้า 163
“สมมติว่า ลูก(คุณ)กำลังยืนอยู่ตรงหน้าประตูทางเข้าเทพนิยายเรื่องนี้เมื่อหลายพันล้านปีก่อน
ในระหว่างที่ทุกอย่างกำลังก่อรูปขึ้น แล้วลูกสามารถเลือกได้ว่าจะมาใช้ชีวิตบนโลกนี้สักช่วงเวลาหนึ่งหรือไม่
โดยที่ลูกไม่มีทางรู้ว่าตัวเองจะเกิดเมื่อไหร่ หรือมีชีวิตอยู่ได้กี่ปี รู้แค่ว่ามันนานพอที่ลูกจะโตเป็นผู้ใหญ่ก็แล้วกัน
แล้วลูกยังรู้ด้วยว่า ถ้าเกิดเป็นมนุษย์บนโลกนี้ สักวันลูกก็จะต้องจากโลกนี้ไปโดยทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง
นั่นอาจทำให้ลูกโศกเศร้าเสียใจเป็นที่สุด อย่างที่หลายคนพูดว่าแค่คิดขึ้นมาก็น้ำตาไหลแล้ว
เพราะว่าโลกมีสิ่งที่สวยงามมากมายจนไม่มีใครทำใจได้เมื่อถึงวาระที่ต้องจากไป”

“ลูก(คุณ)จะเลือกอย่างไหนล่ะ”
...กับการมีชีวิตอยู่บนผืนโลกสักระยะหนึ่ง ไม่ว่าจะสั้นหรือยาว มันก็แค่จุดเล็กๆ จุดหนึ่งในห้วงเวลานับหมื่นล้านปี...
“หรือจะปฏิเสธไม่ขอลงสนาม เพราะไม่ชอบกติกาการแข่งขัน”


คำถามอาจจะดูคมคายและเต็มไปด้วยแง่คิด
แต่อย่าลืมนะครับว่า...ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ตอบครับ