September 18, 2004

เนื้อเสียงของนิตยสาร

เรื่อง โดย สันติ ลอรัชวี
ARTicle • a day weekly magazine •
ฉบับที่ ๑๘ • กันยายน ๒๕๔๗


แบบตัวอักษร โดย อนุทิน วงศ์สรรคกร

วิธีที่ผมมักจะสังเกตว่าผู้คนในพื้นที่ต่างๆนั้นๆมีความสนใจในเรื่องอะไรบ้างเวลาไปต่างจังหวัด
หรือต่างประเทศ ก็คือการไปดูตามแผงนิตยสารของเมืองนั้นๆ มันทำให้ผมพอที่จะรับรู้เนื้อหา
ทางสังคมของพื้นที่นั้นได้ดีพอสมควร ถึงแม้ว่าการปรากฏขึ้นของนิตยสารบางฉบับจะไม่ได้เกิดขึ้น
จากความต้องการของผู้คนในสังคม แต่บางครั้งอาจมาจากความต้องการของผู้ผลิตนิตยสารเอง
ไม่ว่าจะเป็นความต้องการทางการตลาดหรือเป็นความต้องการทางความสนใจหรือความชอบ
อย่างไรก็ตามแผงนิตยสารสำหรับผมก็ยังเป็นเสมือนป้ายแนะนำตัวเองของเมืองหรือสังคมหนึ่งๆ
ที่ผมจะต้องไปยืนเปิดหูเปิดตาอยู่เสมอ

นิตยสารอาจเป็นสะพานเชื่อมโยงกลุ่มผู้คนที่มีความสนใจ ความชอบ ความเชื่อในเรื่องเดียวกัน
ให้เกิดการสื่อสาร รับรู้ และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน จนในที่สุดก็เกิดความเคลื่อนไหว
หรือการตอบสนองบางอย่างของกลุ่มนั้น ๆอย่างเป็นรูปธรรม

ขณะที่ผมยืนอยู่หน้าแผงนิตยสารแห่งหนึ่ง มีปกนิตยสารกว่าสามสิบฉบับกำลังประชันโฉมอวดรูปแบบ
และแข่งขันเรียกร้องความสนใจ ทั้งหัวนิตยสาร รูปนางแบบ ภาพประกอบ ข้อความพาดหัว
ต่างทำงานกันอย่างแข็งขันเพื่อให้ผู้อ่านได้สะดุดตาสะดุดใจอันนำมาสู่การตัดสินใจซื้อ
ปัจจัยหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อนิตยสารนอกจากเนื้อหาที่สนใจแล้ว ก็คือรูปแบบ
ของนิตยสารที่ผมมักจะลองซื้อนิตยสารที่มีการออกแบบที่น่าสนใจ โดยมากก็มักจะเป็นการอ่าน
เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ทางการออกแบบเสียมากกว่า

ถ้าจะเปรียบการอ่านนิตยสารเหมือนกับการนั่งคุยกับคนๆหนึ่ง รูปเล่มและหน้าปกก็คงเป็นรูปร่างหน้าตา
บุคลิกภาพ การแต่งกาย หรือท่าทางต่างๆของคนๆนั้น ส่วนเนื้อหาของนิตยสารก็เหมือนกับหัวเรื่อง
ที่พูดคุยกัน และแบบตัวหนังสือของนิตยสารก็น่าจะเปรียบได้กับเนื้อเสียงของคนๆนั้นที่เรากำลังนั่งคุยด้วย
และนั่นก็คือประเด็นที่ผมอยากจะเขียนถึงแบบตัวอักษรที่ใช้ในนิตยสารซึ่งโดยมากนักออกแบบมักจะเลือก
หรือซื้อแบบตัวอักษรสำเร็จรูปที่เห็นว่าเหมาะสมกับนิตยสาร ไม่ว่าจะเป็นในเชิงรูปแบบและการอ่าน
บางครั้งการเลือกแบบตัวอักษรมาใช้นั้นก็มีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะแบบตัวอักษรภาษาไทย
ที่อาจมีอยู่ไม่มากพอต่อความหลากหลายของการนำไปใช้ อันเนื่องมาจากอาชีพนักออกแบบตัวอักษร
ในบ้านเรายังไม่สามารถยึดเป็นอาชีพหลักในการหาเลี้ยงปากท้องได้ เพราะคนไทยยังมีความเคยชิน
ในการใช้ฟอนต์หรือตัวอักษรแบบไม่เสียเงิน (ฟรี) อาชีพนักออกแบบตัวอักษรที่มีอยู่จึงเป็นเหมือนงานรอง
ทำไปเพราะใจรักหรือออกแบบไว้ใช้กันเอง ไม่สามารถสร้างรายได้เป็นชิ้นเป็นอัน เพราะขนาดแบบตัวอักษร
ที่ทำขึ้นมาใช้กันเองในวงแคบๆ บางทียังไปเจออยู่ในซีดีผีที่พันธุ์ทิพย์อยู่เสมอ

วัฒนธรรมการซื้อฟอนต์ตัวอักษรนั้นไม่สามารถสร้างและทำให้เกิดการยอมรับได้ในวันนี้พรุ่งนี้
เนื่องด้วยวิชาชีพการออกแบบกราฟิกในบ้านเรามีปัจจัยบังคับหลายอย่างด้วยกัน การเพิ่มต้นทุนในการ
ซื้อฟอนต์ของนักออกแบบขณะที่ลูกค้าที่เป็นผู้จ่ายเงินยังไม่สามารถเข้าใจกับความจำเป็นของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ความเคยชินกับการให้กันง่ายและได้มาง่ายของนักศึกษาและนักออกแบบด้วยกันเองเป็นต้น อย่างไรก็ดีกระแส
เชิงบวกที่ให้ความสำคัญต่อแบบตัวอักษรก็มีมากขึ้นและเห็นเป็นรูปธรรมขึ้นเรื่อยๆเหมือนกัน
เริ่มตั้งแต่การมีกลุ่มนักศึกษาที่รวมตัวกันผลิตฟอนต์อักษรเพื่อขายในงานเทศกาลต่างๆ

จนล่าสุดมีนิตยสารฉบับหนึ่งได้ผลิตแบบตัวอักษรของตัวเองเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะของนิตยสารฉบับนี้เท่านั้น
อย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่าโดยส่วนใหญ่นิตยสารบ้านเรามักจะใช้แบบตัวอักษรสำเร็จรูปที่มีอยู่แล้ว
แต่การที่นิตยสารดีเอ็นเอฉบับโฉมใหม่ได้ให้นักออกแบบตัวอักษรไทยคือ อนุทิน วงศ์สรรคกร
มาออกแบบฟอนต์ที่ชื่อ ทัศนะ เพื่อนำมาใช้เป็นตัวหัวเรื่องและตัวโปรย และที่ชื่อ อนุภาพ
เพื่อนำมาใช้เป็นเนื้อความในนิตยสาร ซึ่งนับได้ว่าเป็นก้าวย่างสำคัญในการออกแบบนิตยสารของบ้านเรา
ที่นิตยสารฉบับหนึ่งได้ให้ความสำคัญและพิถีพิถันต่อแบบตัวอักษรที่จะใช้ในเล่ม
เพราะตัวอักษรก็คือเครื่องมือในการสื่อสารให้เราได้รับรู้เนื้อหานั้นๆ
เราไม่อาจปฏิเสธว่าเนื้อเสียงของคนๆหนึ่งมีผลต่อการพูดคุยทั้งด้านการสื่อสารและ
ด้านความรู้สึก ตราบใดที่เรายังใช้ภาษาเขียนเป็นเครื่องมือหลักในการอ่าน
ฟอนต์ตัวอักษรก็มีความสำคัญเคียงคู่กับภาษาที่เราใช้ไปในขณะเดียวกัน

ผมดีใจและตื่นเต้นต่อความเคลื่อนไหวนี้ ...
ในฐานะผู้ใช้ฟอนต์ตัวอักษร... มาร่วมกันซื้อฟอนต์ไทย
ในฐานะนักออกแบบ... มาร่วมกันออกแบบตัวอักษรไทย
ในฐานะคนไทย... มาร่วมกันใช้ภาษาไทย