November 12, 2004

“จุด” หน่วยของแรงบันดาลใจ

“จุด” หน่วยของแรงบันดาลใจ
บทสนทนา โดย สันติ ลอรัชวี และ นาถวัฒน์ ธัมพิพิธ
ภาพ : ผลงานชื่อ Be inspired No 1 จากนิทรรศการ Inspired by O
Article / A Day Weekly Magazine
พฤศจิกายน ๒๕๔๗ ฉบับที่ ๒๖



// ตั้งแต่เด็ก ผมมักทำอะไรตามใจตัวเอง เลือกเรียนวิชาที่อยากเรียน โดดเรียนวิชาที่ไม่ชอบ ฟังเพลงของนักดนตรีที่ชื่นชอบ อ่านหนังสือของนักเขียนคนโปรด ถ้าจะเรียกสิ่งเหล่านั้นว่าแรงบันดาลใจ มันก็บันดาลให้ผมตัดสินใจทำอะไรหลายๆ อย่างที่ส่งผลกับตัวผมจนถึงทุกวันนี้ เมื่อเอากล้องขยายส่องภาพพิมพ์ของตัวผมในปัจจุบันก็จะพบเม็ดสกรีนเล็กๆ หลากสีมากมาย เรียงตัวประกอบกันจนปรากฏภาพของคนๆ หนึ่ง ผมใช้กล้องขยายที่มีกำลังขยายมากขึ้นกว่าเดิมส่องดูอีกครั้ง ผมพบว่าในจุดเล็กๆ นั้นมีบางอย่างอยู่ในนั้น บางจุดคล้ายๆ บุคคลคุ้นเคย บางจุดคล้ายการ์ตูนที่เคยดูตอนเด็กๆ บางจุดมีข้อความจากหนังสือที่เคยอ่านอยู่ในนั้นและอีกหลายๆ จุดล้วนแล้วแต่มีสิ่งที่ประสบมาแล้วทั้งสิ้น...

ขณะที่เดินชมงานนิทรรศการ Inspired by O ของนาถวัฒน์ ธัมพิพิธ ผมพบงานภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนของเขา ผมจึงเอากล้องขยายส่องเม็ดสกรีนดูว่า จุดเล็กๆ ของเขาเป็นอย่างไรบ้าง...

->ถาม (สันติ) : พูดถึงแรงบันดาลใจ สำหรับคุณมักได้สิ่งเหล่านี้มาจากไหน
<-ตอบ (นาถวัฒน์) : อันแรกสุดเลยคือตัวเอง สิ่งที่อยู่ข้างในที่มาจากตัวเอง ตั้งแต่เด็กๆ ตัวผมเองชอบศิลปะหรืออะไร ก็ตามที่เป็นของสวยๆ งามๆ มาตลอด เพราะธุรกิจที่บ้านเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ และข้อดีก็คือ เราได้ซึมซับงานออกแบบสวยๆ สีสัน และองค์ประกอบต่างๆมาอยู่ในตัวเรา
->ถาม : ฟังดูเหมือนแรงบันดาลใจส่วนใหญ่ของคุณจะเป็นสิ่งที่มองเห็น
<-ตอบ : ใช่ ผมว่าเป็นส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะมันเป็นส่วนที่จับต้องได้ หรือแม้แต่คุณพ่อของผมเอง ท่านก็เป็นแรงบันดาลใจที่ดีมาก ผมถือว่าท่านก็เป็นศิลปินคนหนึ่ง
->ถาม : การเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในชีวิตของคุณแปรผันไปตามแรงบันดาลใจมากน้อยแค่ไหน
<-ตอบ : สำหรับผม แรงบันดาลใจเป็นอันดับแรกในการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่เหตุผลและสถานการณ์น่าจะเป็นปัจจัยที่เป็นรองลงไป อย่างธุรกิจที่ผมทำก็เป็นเพราะความชอบในงานออกแบบผมก็เลยพยายามเอางานสองลักษณะนี้มารวมกัน โดยดึงเอาสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงรอบๆ ตัวให้เข้ามาผสมกับความชอบส่วนตัว เพื่อทำให้เราสามารถทำทั้งสองอย่างได้ในเวลาเดียวกัน ให้มันเป็นแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน จนสามารถทำให้สิ่งที่เราต้องทำเป็นสิ่งที่เรารักด้วย
->ถาม : คุณสามารถจำแนกแรงบันดาลใจของคุณได้มั้ย
<-ตอบ : ก็คงมีหลายอย่าง แต่ถ้าให้จำแนกน่าจะเป็นแรงบันดาลใจจากข้างในเลย เช่น สิ่งที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็ก ความชอบความสนใจส่วนตัว กับอีกอย่างคือแรงบันดาลใจที่อยู่รอบๆ ตัวเรา จากภายนอก จากที่มองสิ่งแวดล้อมต่างๆ การอยากเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างที่อยู่รอบๆ ตัว เช่น รูปแบบการพิมพ์ที่ผมจะพยายามนำเสนอแนวทางใหม่ๆอยู่เสมอ
->ถาม : การทำงานภายใต้เนื้อหาของจุดในนิทรรศการครั้งนี้ ดูเหมือนคุณจะพยายามสะท้อนความเป็นมืออาชีพที่ทำงานเกี่ยวกับงานพิมพ์ซิลค์สกรีน
<-ตอบ : จริงๆ แล้วงานพิมพ์แทบทุกชนิดมันเริ่มจากจุด ถ้าเราเอาแว่นขยายส่องดูเราจะเห็นจุดไม่ว่าระบบการพิมพ์ใดก็ตาม มันจะประกอบด้วยจุดเล็กๆ รวมกันกลายเป็นน้ำหนักสี จากสีรวมกันกลายเป็นภาพต่างๆ อย่างที่เราเห็นกัน สำหรับเนื้อหาเกี่ยวกับจุดมันเป็นเนื้อหาทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงก็คือการสะท้อนกับมาที่งานพิมพ์ซึ่งเป็นสื่อที่ผมใช้ ส่วนเรื่องทางอ้อมก็เป็นการพูดถึงเรื่องของจุดเริ่มต้น ไม่ว่าใครทำอะไรก็ต้องเริ่มจากจุดเริ่มต้น
->ถาม : การแสดงตัวตนของเม็ดสกรีนในงานพิมพ์ซิลค์สกรีนของคุณที่มีความหยาบกว่างานพิมพ์ออฟเซ็ตทั่วๆ ไป ดูเหมือนคุณจะมีเจตนาและเหตุผลในการเลือกที่จะทำมันออกมาแบบนี้
<-ตอบ : อย่างที่เห็นในงานของผมว่าจะมีการทำให่เม็ดสกรีนมีความเด่นชัด ถึงแม้ว่าทุกวันนี้เราจะสามารถพิมพ์ให้เม็ดสกรีนละเอียดจนมองไม่เห็นแล้วก็ตาม แต่โดยรากฐานของมันแล้ว เมื่อพูดถึงซิลค์สกรีน เรามักนึกถึงเม็ดสกรีนไปด้วย และนั่นก็เป็นสิ่งที่ผมตั้งใจและพยายามจะรักษาบุคลิกของเม็ดสกรีนเอาไว้ให้สอดคล้องกับรูปแบบและแนวคิดของงาน
->ถาม : ในปัจจุบันงานพิมพ์ซิลค์สกรีนมีความเป็น mass มากขึ้น คุณค่าของมันลดลงไปมั้ย
<-ตอบ : มีคนพยายามทำให้มันเป็น mass มากๆ โดยพยายามทำให้ไปเทียบเคียงงานพิมพ์ออฟเซ็ต แต่ผมว่ามันไม่ใช่ แล้วคนที่พยายามทำให้มันเป็น mass นี่แสดงว่าไม่เข้าใจในธรรมชาติของมัน ในระบบอุตสาหกรรมการพิมพ์สมัยใหม่ ผมถือว่าซิลค์สกรีนเป็นงานพิมพ์ที่ใกล้เคียงความเป็นงานศิลปะมากที่สุด เพราะคนยังมีบทบาทสำคัญในกระบวนการอยู่ ผมไม่ได้มองว่ามันเชย มันเก่า หรือสู้ระบบอื่นไม่ได้ และนั่นก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ผมมีความตั้งใจว่า ผมจะพิสูจน์ว่าการพิมพ์ซิลค์สกรีนสามารถทำอะไรได้อีกมากมาย และผมเองก็เป็น head ในแผนกค้นคว้าและพัฒนาของบริษัทด้วย เพื่อแสดงศักยภาพบางอย่างที่ซิลค์สกรีนสามารถทำได้ และจากการที่ผมเดินทางดูงานการพิมพ์ต่างประเทศมาตลอดระยะเวลา 10 ปี พบว่าเทคนิคการพิมพ์ของเรายังไม่มีที่ไหนทำออกมา ทั้งในแง่ความยาก ความกล้า และความจริงจัง แต่ผมก็ไม่ได้บอกว่าผมทำได้คนเดียวนะ...
->ถาม : คุณมีงานที่ชื่อ by combining innovative and ideas คุณคิดยังไงกับคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีสิ่งใดสร้างสรรค์ขึ้นมาจากความว่างเปล่า”
<-ตอบ : จริงๆ แล้วผมอาจจะยังไม่ประสบด้วยตัวเอง คืออาจจะมีคนที่สามารถทำอย่างนั้นได้จริงๆ สร้างสรรค์อะไรบางอย่างโดยไม่ได้รับแรงบันดาลใจจากอะไรเลย ส่วนผมจะมีอะไรที่ยึดหลักบ้าง มีอะไรที่เป็นโครงสร้างหลักบ้าง อย่างงานชุดนี้ ผมก็ยังยึดหรือได้แรงบันดาลใจจากจุด อย่างน้อยก็ยังมีจุด ไม่ได้เกิดจากความว่างเปล่าเลย
->ถาม : แล้วคุณคิดอย่างไรกับคำว่า original
<-ตอบ : อะไรที่ original จริงๆ ผมว่าทุกวันนี้มันมีอยู่น้อยมาก ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ามันมีหรือเปล่า ผมว่าแต่ละคนก็มีแรงบันดาลใจที่ได้มากันคนละอย่าง ทำให้ผมไม่แน่ใจกับการมีอยู่ของคำๆ นี้

ผมถอนสายตาออกจากกล้องขยาย หลับตาเพื่อคลายความมึนจากการเพ่งสายตา เนื่องจากเม็ดสกรีนของคุณนาถวัฒน์ที่ผมเห็นเป็นเม็ดสกรีนซ้อนอีกที...

นิทรรศการ Inspired by O โดย นาถวัฒน์ ธัมพิพิธ และ อิสสริยา วิรัชศิลป์
จัดแสดง ณ หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต ชั้น 2 อาคารหอสมุดสุรัตน์ฯ
26 ตุลาคม – 2 ธันวาคม 2547 เวลา 8.30 – 17.00 น. วันอังคาร – วันเสาร์ //