February 09, 2005

คิดตรงเส้นกรอบ

โดย สันติ ลอรัชวี
Graphic Design / I Design Magazine
กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ฉบับที่ ๓๑

สำหรับนักออกแบบกราฟิกที่มีอายุนำหน้าด้วยเลขสามขึ้นไป คงจำบรรยากาศตอนทำอาร์ตเวิร์ค
เมื่อซักสิบปีก่อนได้ดีว่ามีความยุ่งยากแค่ไหน กว่าจะได้ต้นแบบเพื่อที่เข้าสู่กระบวนการพิมพ์
ภาษาอังกฤษเรียกว่า Camera-Ready Artwork หรือที่เราเรียกกันคุ้นปากว่า “อาร์ตเวิร์ค”
ต้องผ่านขั้นตอนที่แสนจะยุ่งยากมากมาย หลังจากออกแบบรูปแบบการจัดวางเรียบร้อยแล้ว
เราต้องสร้างแผ่นต้นแบบสำหรับนำไปถ่ายเป็นฟิล์มเพื่อนำไปผลิตเพลทแม่พิมพ์ต่อไป
ไอ้เจ้าแผ่นต้นแบบนี่แหละที่ค่อนข้างจะต้องทำอย่างละเอียดและพิถีพิถัน
ที่เป็นตัวอักษรเราต้องคำนวณปริมาณข้อความให้พอดีกับพื้นที่ในหน้ากระดาษ
กำหนดรูปแบบการจัดอย่างชัดเจนว่าจะเป็นแบบตัวอักษรแบบไหนให้ตัวอักษรมีขนาดเท่าไหร่
และต้องการให้เป็นการจัดแบบชิดซ้าย ชิดขวา หรือเสมอหน้าหลัง
จากนั้นถึงไปสั่งให้ร้านที่มักเรียกกันติดปากว่า “ร้านคอมพิวท์” หรือ “ร้านโบรไมด์”
ร้านที่ว่าก็จะมีหน้าที่ผลิตต้นแบบตัวอักษรและต้นแบบลวดลายต่างๆให้นักออกแบบทั้งหลาย
เหตุที่เราต้องทำต้นแบบก็เนื่องจากเราจะต้องนำต้นแบบหรืออาร์ตเวิร์คนี่แหละไปถ่ายเป็นฟิล์ม
อย่างที่กล่าวไปแล้ว และการถ่ายฟิล์มนี่แหละที่จำเป็นจะต้องใช้ต้นแบบที่มีความละเอียดสูง
โดยเฉพาะตัวอักษรและโลโก้ต่างๆ เราจึงจำเป็นต้องพึ่งพาบริการของร้านประเภทนี้ในยุคที่
บริษัทกราฟิกและนักออกแบบทั้งหลายยังไม่สามารถครอบครองอุปกรณ์ราคาสูงเหล่านี้ได้



เมื่อเราได้แบบคอมพิวท์หรือแบบโบรไมด์มาแล้วก็ต้องนำมาตัดเพื่อแปะลงไปในแผ่นต้นแบบ
อาร์ตเวิร์คตามตำแหน่งที่เรากำหนดไว้แต่แรก ตรงนี้แหละที่ต้องใช้ความละเอียดและ
ความเรียบร้อยมากๆ เช่นถ้าเราต้องการตัวอักษรคำว่า สวัสดี ให้เป็นการจัดวางแบบแนวโค้ง
ก็ต้องตัดตัวอักษรแต่ละตัวมาแปะให้โค้งเอง โดยจะต้องคำนวณและวัดแนวในการติด
ให้สวยงามด้วยดินสอกดและใช้ไส้ดินสอสีฟ้า เพราะสีฟ้าจะไม่ติดออกมาตอนถ่ายฟิล์ม
พอเสร็จแล้วก็ต้องนำกระดาษไขหรือแผ่นใสมาติดทับเพื่อเราจะได้เขียนคำสั่งสีและ
ข้อกำหนดที่เราต้องการลงไปเพื่อให้ร้านฟิล์มหรือร้านแยกสีได้ทำให้ตรงกับสิ่งที่เรา
ได้ออกแบบไว้ ผมเองก็เหนื่อยขึ้นมาถนัดใจ

...ขณะที่เขียนไปนึกไปถึงตอนสมัยที่ต้องทำกระบวนการที่ยุ่งยากเหล่านี้
แต่มันก็ทำให้เรามีความละเอียดและรู้จักมองภาพรวมของงานได้ดีในเวลาต่อมา



ผู้อ่านหลายๆ คนคงมีความรู้สึกคล้ายๆ กันตอนที่เจ้าเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช
เริ่มแพร่หลายมาให้ได้ใช้กัน ตัวผมเองเมื่อได้ยินก็ยังไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นยินดีอะไร
คิดเพียงว่าโดยปกติไอ้เครื่องมือที่ใช้ๆ กันอยู่ก็มากมายและวุ่นวายที่จะเรียนรู้อยู่แล้ว
นี่ยังเพิ่มเข้ามาอีก จะไหวเหรอ... แต่พอได้เริ่มรู้จักเพื่อนสองคนแรกที่ชื่อ
Aldus Pagemaker 4.0 และ Adobe Illustrator 3.0
และได้รู้ว่ามันสามารถทำอะไรได้บ้าง... น้ำตาแทบจะไหลออกมาด้วยความปิติ
ว่าหลายสิ่งที่เราเคยต้องทำด้วยความยากลำบากนั้น
มีเครื่องมือที่เข้ามาช่วยเราในการทำสิ่งๆ นั้นได้เร็วและดีกว่าด้วย
โดยเฉพาะโปรแกรม Illustrator ที่สามารถสร้างตัวอักษรแนวโค้งตามที่เราต้องการ
ได้อย่างง่ายดายและแม่นยำ (คงเป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ)
ในเวลานั้นการสรรเสริญเยินยอเจ้าเครื่องมืออันใหม่นี้กลายเป็นบทสนทนาหลัก
ของผมและเพื่อนๆอีกหลายคนไปเลยทีเดียว

ปัจจุบันเทคโนโลยีได้ก้าวไปไกลกว่าสมัยที่ผมทำงานออกแบบใหม่ๆ อย่างมาก
โปรแกรมคอมพิวเตอร์มีให้นักออกแบบได้เลือกใช้กันอย่างมากมาย ทักษะเก่าๆ
ที่ต้องอาศัยการฝึกฝนกันแรมปีถูกแทนที่ด้วยคำสั่งสำเร็จรูปในโปรแกรมการออกแบบ
ทั้งหลาย ไม่มีใครตื่นเต้นกับตัวอักษรที่จัดวางเป็นแนวโค้งอีกต่อไป ...ย้ำ...ไม่มี
ความสามารถในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์กลายเป็นคุณสมบัติสำคัญของ
นักออกแบบกราฟิกในปัจจุบัน คุณสมบัติดังกล่าวถูกนำมาประกอบการพิจารณา
ความสามารถของนักออกแบบคนหนึ่งเทียบเท่ากับความคิดสร้างสรรค์และ
กระบวนการคิด และในบางครั้งถูกยกให้เป็นคุณสมบัติที่มีความสำคัญมากกว่า
คุณสมบัติอื่นในตัวนักออกแบบ นั่นอาจหมายความได้ว่าในทุกวันนี้ ถ้าคุณไม่สามารถ
ใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานออกแบบได้ โอกาสในการหางานทำแทบจะเป็นศูนย์
เลยทีเดียว

ศักยภาพของคอมพิวเตอร์ก่อให้เกิดมาตรฐานใหม่ๆของงานออกแบบกราฟิกมากมาย
และในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดพฤติกรรมทางการออกแบบใหม่ๆของนักออกแบบด้วย
เช่นกัน คุณภาพ ความปราณีต และความรวดเร็วของกระบวนการผลิต
ผลงานที่ถูกยกระดับให้สูงขึ้น สามารถตอบสนองและนำไปรับใช้สิ่งต่างๆในเชิงพาณิชย์
ได้อย่างเต็มรูปแบบ บริษัทออกแบบกราฟิกเกิดขึ้นมากขึ้นตามความต้องการของสังคม
มหาวิทยาลัยต่างๆทยอยกันเปิดภาควิชาที่เกี่ยวข้องจนสามารถรองรับนักศึกษา
ได้จำนวนมาก และในที่สุดการออกแบบกราฟิกได้ถูกหลอมรวมเข้าไปกับ
ระบบอุตสาหกรรมและกระแสทุนนิยมจนเป็นเนื้อเดียวกัน จนทำให้คำว่า “ลูกค้า”
เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อกระบวนการออกแบบอย่างสูง
จนนักออกแบบหลายๆ คนมีทัศนคติที่ไม่ค่อยดีนักกับคำๆ นี้

ศักยภาพของคอมพิวเตอร์ที่สร้างและกำหนดมาตรฐานทางการออกแบบ
หลายต่อหลายด้านนั้น ก่อให้เกิดกรอบทางการรับรู้มากมาย ทั้งต่อนักออกแบบและ
ประชาชนทั่วไป รวมไปถึงกลุ่มคนที่เรียกว่า “ลูกค้า” ด้วย
กรอบทางการรับรู้อันเป็นที่ยอมรับเหล่านี้ก่อให้เกิดความซ้ำ อันเป็นผลจาก
การดำเนินการตามกัน ทั้งกระบวนการออกแบบและรูปแบบของผลงาน

งานกราฟิกที่ออกแบบโดย นาย ก. อาจไม่แตกต่างจากผลงานของ นาย ข.
ภายใต้กรอบหลายๆ ด้านอันเดียวกัน ได้แก่ โจทย์เดียวกัน ข้อมูลค้นคว้าเดียวกัน
คอมพิวเตอร์ที่มีศักยภาพเหมือนกัน ชุดแบบตัวอักษรในคอมพิวเตอร์เดียวกัน
ระบบการพิมพ์เดียวกัน ฯลฯ สำหรับคนที่เรียนด้านการออกแบบมาอาจจะพอจำได้ว่า
ตอนเรียนอยู่เรายังพอจำได้ว่าเวลาที่เพื่อนๆ ในชั้นเรียนนำผลงานมาส่งอาจารย์
เราพอจะเดาได้ว่างานชิ้นไหนเป็นของเพื่อนคนไหนโดยไม่ต้องดูชื่อที่ติดไว้
ผลงานของแต่ละคนนั้นพอจะมีบุคลิกภาพบางอย่างของผู้ออกแบบ
แสดงออกมาในผลงงานไม่มากก็น้อยภายใต้ข้อจำกัดเดียวกัน คือโจทย์ที่อาจารย์สั่ง
แต่พอเวลาเข้าสู่ชีวิตการทำงาน...
มีซักกี่คนที่ยังสามารถรักษาและแสดงลักษณะเฉพาะบางอย่างของตนไว้ได้

และด้วยเหตุผลเหล่านี้หรือเปล่า... ทำให้เกิดแนวทางการทำงานของนักออกแบบจำนวนหนึ่ง
ที่พยายามผลักดันผลงานของตนเองให้เดินออกมาจากความเหมือนและความซ้ำเหล่านั้น
โดยที่แต่ละคนมีหนทางแตกต่างกันออกไป เราจะสามารถสังเกตกรอบต่างๆหรือ
องค์ประกอบสำเร็จรูปที่เป็นปัจจัยแห่งความเหมือนนั้นมีหลากหลายด้วยกัน
ขึ้นอยู่กับว่านักออกแบบคนไหนจะใช้องค์ประกอบสำเร็จรูปให้น้อยที่สุด ยกตัวอย่างเช่น
โจทย์เดียวกัน นักออกแบบบางคนอาจจะใช้ข้อมูลในการค้นคว้าที่ลึกกว่า
ค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลที่แตกต่าง ทำให้ได้มิติทางการออกแบบที่หลากหลายขึ้น
นักออกแบบอีกคนอาจจะประดิษฐ์แบบตัวอักษรของตัวเองมาใช้แทนที่จะใช้ฟอนต์สำเร็จรูป
ที่ติดมาตอนซื้อเครื่องเท่านั้น และอีกวิธีที่เป็นที่นิยมจนผมไม่รู้ว่านิยมจนเป็นกระแสไปหรือยัง
นั่นก็คือการพยายามจะลดบทบาทของคอมพิวเตอร์ในกระบวนการออกแบบลง
โดยเพิ่มทักษะที่ใช้มือลงไปผสมผสานมากขึ้น จนมีคำที่ใช้เรียกรูปแบบของงานลักษณะนี้ว่า
“แฮนด์เมดกราฟิก” หรือที่ผมพยายามจะเรียกเป็นภาษาไทยว่า “เรขศิลป์ทำมือ”
แนวทางนี้ไม่ใช่การไม่ใช้คอมพิวเตอร์ แต่เป็นการเพิ่มองค์ประกอบที่ทำมาจากเครื่องมือ
และอุปกรณ์เดิมๆเข้าไปในงานออกแบบมากขึ้นแทนที่จะเป็นการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์
แต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งแต่เดิมทักษะและรูปแบบการใช้เครื่องมือของจิตรกรหรือ
ประติมากรก็จัดว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอัตลักษณ์ให้แก่ศิลปินผู้นั้น
ทำให้มาตรฐานทั้งหลายที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นจนเป็นกรอบที่บีบรัดถูกผ่อนแรงให้หย่อน
และยืดหยุ่นมากขึ้น ให้เกิดธรรมชาติและความไม่แน่นอน ไม่คงที่ในการสร้างงานมากขึ้น
เปรียบได้กับลายมือของแต่ละคนที่แม้จะหัดคัดลายมือจากแบบคัดลายมือเดียวกัน
แต่ธรรมชาติในความไม่คงที่ของมือมนุษย์ก็ทำให้ลายมือของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
และในที่สุดความไม่เหมือนก็ก่อให้เกิดความแตกต่างและภาพสะท้อน
กลับมายังเจ้าของลายมือนั้นได้...

ผมคิดว่า “อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการมีชีวิตอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นระเบียบ
พื้นผิวเรียบขัดมัน เรียบร้อยและสมบูรณ์แบบตลอดเวลา คงมีอีกหลายๆ คนที่พอใจกับ
ในหลายๆ เวลา พื้นผิวที่ขรุขระ เป็นธรรมชาติ และมีข้อผิดพลาดบ้าง...”
อาจมีภาพยนตร์แอนิเมชั่นบางเรื่องที่สร้างฉากและตัวแสดงให้ดูสมจริง จนถ้าดูเผินๆ
จะนึกว่าเป็นคนจริงๆ แสดง

แต่นั่นจะมีเหตุผลและเสน่ห์อะไร ถ้าแอนิเมชั่นมีความเหมือนจริงจนแยกแยะไม่ออก
การ์ตูนลายเส้นที่ดูแบนๆ เคลื่อนไหวกระตุกๆ อาจจะช่วยเสริมสร้างจินตนาการให้กับ
ผู้ดูได้มากกว่าการมานั่งดูความละเอียดของตัวแสดงหรือฉากว่าสมจริงเพียงใด

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า การใช้คอมพิวเตอร์จะทำให้ผลงานการออกแบบของเรา
ด้อยค่าลง แต่เพียงอย่างใด เพียงแต่นักออกแบบควรจะมีวิจารณญาณในการกำหนด
รูปแบบและใช้เครื่องมือให้เหมาะสม สอดคล้องกับองค์ประกอบของงานที่ทำ

อย่างไรก็ดี... ปรากฏการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นก็สะท้อนให้เราเห็นว่า
คอมพิวเตอร์อาจไม่ใช่คำตอบเดียวสำหรับการออกแบบงานกราฟิก และมันจะดูอันตราย
สำหรับนักออกแบบ ถ้าคอมพิวเตอร์กลับมาสั่งหรือกำหนดแนวทางให้คุณดำเนินการตาม
แทนที่คุณจะเป็นคนใช้มัน

เหล่านักออกแบบก็ควรกลับมาตั้งคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ของตัวเองบ้าง
ว่าเราใช้มันได้เต็มศักยภาพหรือยัง
เราได้วิธีอื่นมาแทนสิ่งที่คอมพิวเตอร์ทำไม่ได้หรือทำได้ไม่ดีหรือไม่
เราออกแบบแต่สิ่งที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของเราทำได้เท่านั้นหรือไม่...

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าใครจะเห็นคุณค่าในงานออกแบบเป็นอย่างไร
คอมพิวเตอร์จะถูกมองในฐานะอุปกรณ์ที่ช่วยให้เราสร้างสิ่งที่คิดและสร้างสรรค์ออกมาได้
อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเป็นแค่อุปกรณ์ที่ทำให้คนทำอะไรออกมาเหมือนๆ กัน
นักออกแบบที่ตื่นตัวต่อสังคมการออกแบบและมีความคิดเป็นตัวของตัวเองเท่านั้น
ที่จะรับมือต่อยุคสมัยกระแสการเปลี่ยนแปลงได้ดี
แต่ถ้าในวันหนึ่ง ทางเลือกต่างๆที่นักออกแบบทั้งหลายกำลัง
แสวงหาและนำเสนอกันอยู่นี้ก็จะกลับมาเป็นกรอบที่รัดตรึงในการออกแบบอีกครั้ง

เหมือนกับที่ครั้งหนึ่ง...
แมคอินทอชเคยอยู่ในฐานะผู้ปลดปล่อยนักออกแบบเข้าสู่โลกที่กว้างและอิสระ
ในการออกแบบ จนมาสู่ผู้คุมที่วางระเบียบที่เข้มจนทำให้ซ้ำซากจำเจ...

เคยมีนักศึกษาที่เรียนกับผมนำคำพูดของนักโฆษณาคนหนึ่งมาบอกต่อให้ฟังว่า
“ถ้าสนามเทนนิสไม่มีเส้นกรอบ เราก็คงไม่มีลูกตบสวยๆ ให้ดู”

ผมคิดต่อว่าลูกตบที่สวยนั้น มักจะอยู่ใกล้กับเส้นกรอบเสมอ
บางครั้งเราหรือกรรมการก็ดูมันไม่ทันหรอกว่า
มันออกนอกกรอบหรือเปล่า
ถ้ากระแสสมัยใหม่ในทุกวันนี้บอกว่าคนเราต้องคิดออกนอกกรอบ
ส่วนตัวผมแล้วขอเสนอให้คิดตรงเส้นกรอบละกันครับ...