August 11, 2007

:: ความคิดสร้างสรรค์บนกระดาษใบเล็ก ::

ของสะสมอย่างหนึ่งของผมก็คือ นามบัตร ไม่ว่าจะเป็นนามบัตรของเพื่อน คนรู้จัก ลูกค้า บริษัทห้างร้านต่างๆ
ผมจะพยายามเก็บสะสมไว้ ผมมีนามบัตรของเพื่อนบางคนตั้งแต่ทำกันเองสมัยเรียน มาเป็นนามบัตรของ
ที่ทำงานแห่งแรกจนกระทั่งเป็นนามบัตรของบริษัทที่เป็นเจ้าของเอง รวมแล้วบางคนมีถึง 6-7 แบบด้วยกัน
ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เปลี่ยนรูปแบบนามบัตรของตัวเองค่อนข้างบ่อย ด้วยเหตุผลต่างกันออกไป แต่ถ้าย้อน
กลับไปดูนามบัตรเก่าๆ ของตัวเองก็อดอมยิ้มเหมือนตอนดูอัลบั้มรูปถ่ายตอนเด็กยังไงยังงั้น ผมไม่รู้เหมือนกัน
ว่านักออกแบบรุ่นใหม่ๆ จะมองนามบัตรและการออกแบบนามบัตรเป็นอย่างไร แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเจ้า
กระดาษใบเล็กๆ นั้นเป็นสื่อที่สะท้อนอัตลักษณ์ของเจ้าของนามบัตรได้มีประสิทธิภาพกว่าขนาดของมันอย่าง
มากมาย สัญญะต่างๆ ที่นักออกแบบพยายามใช้ในสื่อสารภายใต้เนื้อที่อันจำกัดดูจะไม่ได้ถูกจำกัดให้เล็กลง
ตามขนาดแม้แต่น้อย ความคิดสร้างสรรค์และสุนทรียภาพถูกนำเสนอผ่านกระดาษใบเล็กๆ นี้มาอย่างต่อเนื่อง
และเชื่อว่ายังเป็นพื้นที่ที่ท้าทายให้นักออกแบบได้เดินเข้ามาสร้างสรรค์ต่อไป

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร Raw Mat โดยพยายามจะสำรวจหรือรู้จักกับ “นามบัตร” ให้มากขึ้น
ทั้งในเรื่องของความเป็นมาและวิวัฒนาการของมัน และการรวบรวมนามบัตรของนักออกแบบกราฟิก
ที่ถือได้ว่าเป็นผู้ที่สร้างสรรค์นามบัตรให้แก่ผู้คนทั่วไป เราจะได้เห็นนามบัตรของนักออกแบบกราฟิกเหล่านั้น
ซึ่งจะเป็นมิติที่หลากหลายอันจะทำให้เราได้เกิดมุมมองที่ชัดเจนขึ้นในการออกแบบ ขนาดรูปเล่มอันจำกัดของ
Raw Mat อาจจะไม่มากพอที่จะเป็นการรวบรวมงานออกแบบนามบัตรยอดเยี่ยม และเราก็ไม่ได้ต้องการตัดสิน
คุณภาพของงานออกแบบ แต่เราพยายามจะนำเสนอตัวอย่างที่หลากหลายในเชิงการสำรวจมากกว่า
จึงไม่น่าแปลกใจที่ท่านผู้อ่านจะมีความเห็นว่ายังมีนามบัตรและนักออกแบบกราฟิกที่น่าสนใจอื่นๆ อีกมากมาย
ที่ไม่ได้ถูกนำมารวบรวมในฉบับนี้

ในยุคสมัยที่เราหลายคนเริ่มใช้นามบัตรอิเล็คทรอนิกส์ นามบัตรเองก็เปรียบเสมือนหนังสือที่ยังคงอัตลักษณ์
ของตัวเองอย่างชัดเจนและยังสามารถรักษาคุณค่านั้นไว้ได้อย่างถาวรแม้จะมีหนังสืออิเล็คทรอนิกส์ก็ตาม
“นั่นคืออัตลักษณ์ของสื่อที่ใช้ในการนำเสนออัตลักษณ์ของบุคคล หากแต่เพียงบุคคลนั้นยังคงรักษาอัตลักษณ์
และคุณค่าไว้เฉกเช่นเดียวกับกระดาษใบน้อยที่รักษาตัวตนให้แก่เรา”

::
ข้อเขียนต่อจากนี้ ต้องขอขอบคุณ คุณจิตตินันท์ กลิ่นแก้ว (ทราย) นักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัย
เทคโนโลยีพระจอมเกล้า บางมด ที่ช่วยงานค้นคว้าและเรียบเรียงความเป็นมาของนามบัตรได้อย่างน่าสนใจ...
->
เมื่อกล่าวถึงนามบัตร เรื่องของกระดาษใบเล็กๆที่ใช้เพื่อเป็นสิ่งแทนตัวเองสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง
ผู้ให้ด้วยกระดาษขนาดเล็กพกพาที่บรรจุด้วยข้อความเพียงไม่กี่ประโยคเพื่อให้ผู้รับสามารถรับรู้ถึงชื่อเสียง
เรียงนามตลอดจนหน้าที่การงานที่รับผิดชอบ ที่สามารถเป็นตัวช่วยเปิดทางในการทำการค้าและติดต่อกัน
ทางธุรกิจให้สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

จุดเริ่มต้นของการมีนามบัตรจนกลายมาเป็นเรื่องปกติสำหรับบุคคลทุกบทบาทในปัจจุบันเริ่มขึ้นจากการผนวกกัน
ของ Visiting card ที่ปรากฏครั้งแรกในยุคศตวรรษที่ 15 ในประเทศจีนและศตวรรษที่ 17 ในประเทศแถบยุโรป
โดยชนชั้นขุนนางและเจ้านายส่งให้คนรับใช้ของตนเพื่อส่งไปยังคนรับใช้อีกบ้านหนึ่งเพื่อมอบให้เจ้าบ้านเพื่อเป็น
การบอกถึงการมาเยือน และบัตรอีกประเภทคือ Trading card หรือบัตรทางการค้าที่ใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์
สินค้าและแสดงสถานที่แหล่งที่ทำการค้าแต่ละชนิด โดยบัตรทั้งสองประเภทนี้ได้มีการใช้เรื่อยมาจนได้พัฒนา
ประยุกต์เข้าเป็นนามบัตรในที่สุด
::


สำหรับประเทศไทย จะมีใครซักกี่คนที่รู้ว่านามบัตรที่เราใช้กันและถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวัน
นั้นได้เริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือที่เราทราบกันดีในนามของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 นั่นเอง ในสมัยนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า
เริ่มมีการติดต่อค้าขายและเจรจาทางการทูตกับชาวต่างชาติมากขึ้นอันเป็นผลสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แล้ว
เมื่อมีการทำการค้าและการเจรจากับทางตะวันตกมากขึ้นจึงเป็นเหตุจำเป็นต้องมีหลักฐานเพื่อยืนยันการเจรจากัน
เพื่อเป็นการยืนยันการทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงเพื่อเป็นการยืนยันแสดงความเป็นผู้นำของกษัตริย์ในสมัยนั้น
ดังปรากฏให้เป็นหลักฐานว่านามบัตรใบแรกนั้นเป็นแบบของการใช้บัตรพระนามาภิไธยขององค์รัชกาลที่ 4
ที่ทรงโปรดให้ทำขึ้นเพื่อประทานแก่ทูตและชาวต่างเมืองที่เข้ามาติดต่อในประเทศไทย

บัตรพระนามาภิไธย ที่ปรากฏในสมัยนั้นมีลักษณะเป็นบัตรขนาดเล็กกว่ากระดาษเขียนธรรมดา ตัวหนังสือที่ปรากฏ
เป็นภาษาอังกฤษ มีตราพระปิ่น สมอเรือ และปืนใหญ่ ซึ่งแสดงว่าพระองค์ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาทั้งทางทหารเรือและ
เรื่องของปืนใหญ่ การใช้นามบัตรเช่นนี้นับว่าเป็นของทันสมัยมากในยุคนั้น ซึ่งในครั้งนั้นเองนับได้ว่าพระองค์ทรงเป็น
“คนไทยพระองค์แรก” ที่ใช้นามบัตร เพราะยังไม่พบหลักฐานจากที่อื่นนอกจากนี้ที่ยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรใน
หนังสือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้มีการพัฒนามากขึ้นจากเดิม ได้มีการส่งบัตรอวยพรหรือการ์ด
ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ไทยได้รับแบบอย่างมาจากฝรั่ง ซึ่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
ถือเป็นพระองค์แรกเช่นเดียวกันที่ทรงริเริ่มการส่งบัตรอวยพร ดังปรากฏหลักฐานเก่าสุดอยู่ในหนังสือบางกอกรีคอร์เดอร์
ฉบับภาษาอังกฤษ วันเสาร์ที่ 13 มกราคม ค.ศ.1866 (พ.ศ.2409) ที่ส่งเป็นลักษณะของการตีพิมพ์ ที่ตอนหลังต่อมา
ในสมัยรัชาลที่ 5 ได้มีการคิดคำให้บัตรประเภทนี้ว่าเป็นบัตรส่งความสุข (ส.ค.ส.) และได้มีการใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
เรื่องของนามบัตร นอกจากมีความสำคัญต่อตัวบุคคล ที่เป็นเสมือนตัวแทนในการบอกกล่าวถึงที่มาที่ไปแล
ะบทบาทต่างๆต่อสาธารณชนแล้ว หากจะบอกว่านามบัตรในสมัยนี้สามารถเป็นตัวแทนความเชื่อถือและสานต่อ
กิจกรรมต่างๆซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดีก็คงไม่ผิดนัก ดังนั้นเรื่องของนามบัตรก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจจะมองข้ามได้

ในปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อมีคนมากขึ้น การทำความรู้จักกันในหมู่วงกว้าง ตลอดจนการทำธุรกิจติดต่อสื่อสาร
จำเป็นต้องมีนามบัตรที่ซึ่งสามารถบอกให้อีกฝ่ายได้รับรู้ว่าเราเป็นใคร ทำอะไร ที่ไหน โดยเฉพาะในแวดวงสังคมและ
ธุรกิจที่เราต้องเจอะเจอกับคนหมู่มาก การพบกันครั้งแรกจำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนนามบัตรกันอาจจะก่อนที่ได้เริ่ม
เปิดฉากสนทนากันซะด้วยซ้ำไป ดังนั้นนอกจากเรื่องข้อมูลบนบัตรแล้ว เรื่องของการออกแบบดีไซน์ก็คงเป็นอีกสาเหตุ
ที่ไม่อาจมองข้าม เรียกได้ว่าภาพลักษณ์ของคุณหรือบริษัทของคุณได้ถูกแขวนอยู่บนนามบัตรตั้งแต่แรกเริ่มรู้จักเสียอีก
ดังที่เราจะเห็นว่านามบัตรที่เราพบเห็นมากมายในปัจจุบัน หลายบริษัทให้ความใส่ใจในเรื่องของดีไซน์หรือรายละเอียด
บนนามบัตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสีสัน ตัวอักษร ลวดลาย หรือแม้กระทั่งลักษณะกระดาษที่จะมาเป็นนามบัตรเพราะ
นั่นหมายถึงการสะท้อนตัวเองหรือบริษัทนั้นๆออกมาให้ผู้อื่นได้รับรู้ หากจะกล่าวว่านามบัตรนี่หล่ะถือเป็น
first impression ที่จะสร้างความประทับใจและความเชื่อมั่นให้เกิดแก่ผู้รับ และที่สำคัญคือ ทำให้ผู้รับสามารถจดจำ
นามบัตรและธุรกิจของเราได้ในระยะยาวกว่านามบัตรธรรมดาๆซักใบ จึงไม่แปลกที่เราพบเห็นนามบัตรที่มีดีไซน์ดี
และแฝงไว้ด้วยความคิด ความสร้างสรรค์ เพราะนั่นหล่ะคือสิ่งที่ช่วยดึงดูดความสนใจและสร้างแรงจูงใจให้ผู้รับอยาก
จะเก็บนามบัตรใบนั้นๆไว้นั่นเอง

นอกจากนี้เรื่องของการใช้นามบัตรและมารยาทในการใช้นามบัตรก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะนอกจากนามบัตรจะทำ
หน้าที่แนะนำตัวผู้ถือบัตรต่อผู่ที่พบกันและทำให้ผู้รับไม่ลืมเรา เราเองก็ควรต้องจำไว้เสมอว่าเราต้องรับผิดชอบต่อสิ่ง
ที่เรานำเสนอหรือแนะนำแก่ผู้ที่รับและเก็บนามบัตรของเราด้วย โดยปกติแล้วเราจะยื่นนามบัตรในกรณีการแนะนำตัว
ต่อผู้ที่เราไปติดต่อด้วยซึ่งเราสามารถทำได้ทันที เช่นเดียวกับกรณีที่คุณเปลี่ยนแปลงข้อมูลของคุณเองที่การมอบ
นามบัตรใหม่เพื่อแจ้งให้ผู้รับทราบข้อมูลใหม่ของคุณก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ หรือแม้กระทั่งการจะแสดงความยินดี
แสดงความขอบคุณ และในกรณีการเข้าเยี่ยมในโอกาสต่างๆทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เราสามารถทิ้งบัตร
ไว้นอกเหนือจากข้อความอื่นๆในการ์ดอวยพรที่แนบไปพร้อมกระเช้าอวยพรหรือช่อดอกไม้เพื่อเป็นการแสดงตัวได้เสมอ
เรื่องมารยาทในการใช้นามบัตรก็ถือเป็นอีกเรื่องสำคัญที่ควรรู้เพื่อเป็นการเสริมบุคลิกและความเชื่อถือของเราให้ดียิ่งขึ้น...
นามบัตรที่สะอาดไม่มีรอยเปรอะเปื้อน เก็บอยู่ในที่สำหรับเก็บนามบัตรอย่างเป็นระเบียบและเตรียมพร้อมเสมอเป็นสิ่งแรก
ที่ไม่ควรมองข้าม คงไม่ดีแน่หากนามบัตรที่คุณมอบให้ผู้อื่นยับยู่ยี่หรือหยิบออกมาจากกระเป๋ากางเกงหรือกองเอกสาร
และหากว่าคุณเป็นฝ่ายไปติดต่อหรือเข้าพบกับผู้อื่น คุณเองก็ควรจะเป็นคนแนะนำตัวและยื่นนามบัตรออกไปก่อนอีกฝ่าย แต่หากว่าคุณติดตามผู้ใหญ่หรือเจ้านาย ควรจะรอให้เจ้านายแนะนำตัวกับอีกฝ่ายก่อนที่เราจะแนะนำตัวเองและมอบนามบัตร และจำไว้เสมอว่าการยื่นนามบัตรที่ดีควรยื่นในระดับศอกหรือระดับกระดุมสูทเม็ดบนพร้อมๆไปกับการก้มตัวคำนับผู้รับเล็กน้อย การรับนามบัตรควรรับด้วยมือขวา เมื่อรับแล้วก็ควรใส่ใจกับข้อมูลของผู้ให้ก่อนการเก็บไว้ในที่เก็บนามบัตรที่เหมาะสม แน่นอนไม่ใช่ในกระเป๋ากางเกงหรือวางทิ้งไว้บนโต๊ะ บางประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องมารยาทการใช้นามบัตรมาก เพียงแค่เล่นม้วน พับหรือแกว่งนามบัตรซึ่งถือว่าเป็นสิ่งไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่คุณไม่ให้เกียรติผู้ให้นั่นเอง

มาถึงตรงนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าเรื่องของนามบัตรเป็นเพียงแค่กระดาษแผ่นเล็กเท่านั้น เพราะนามบัตร ณ วันนี้ถือเป็นเครื่องมือทรงพลังที่จะช่วยถ่ายทอดจุดเด่นและเอกลักษณ์ให้เราแตกต่างจากคนอื่น ทั้งยังเป็นสื่อที่ช่วยตอกย้ำให้น่าจดจำกับผู้รับอีกด้วย อ่านมาถึงตรงนี้หากจะบอกว่า “ นามบัตรเล็กๆใบเดียว หากมีดี ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง ” ก็คงไม่ผิดนักหรอก

:: พระนามบัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ::





จากบทสัมภาษณ์ของคุณฮิโรมิ อินาโยชิ นักออกแบบชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ออกแบบพระนามบัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ชุดที่ท่านผู้อ่านเห็นอยู่นี้ ในวารสาร “ในวงการพิมพ์” (http://www.thethaiprinter.com) กล่าวไว้ว่าการได้รับโอกาสเป็นผู้ออกแบบ “พระนามบัตรในหลวง” นั้นมีที่มาจากการจัดนิทรรศการแสดงผลงานการออกแบบสัญลักษณ์และสี ในงานของสหประชาชาติ ณ โรงแรมพลาซ่าแอทธินี เมื่อปี พ.ศ. 2545 และมีบุคคลในสำนักพระราชวังไปเห็นฝีมือ จึงให้ความสนใจและหารือถึงการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อถวายในหลวง เนื่องในวโกาสครบรอบ 75 พรรษา โดยสรุปสุดท้ายที่การออกแบบนามบัตรจำนวน 4 แบบ ดังนี้

แบบที่ 1 มีคอนเซ็ปต์มาจากตัว “A” ซึ่งเป็นพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯคือ “อดุลยเดช” และส่วนของจุดสีที่อยู่ภายในแทนสีของแก้วนพรัตน์หรืออัญมณี 9 ประการ อันเป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์

แบบที่ 2 มีคอนเซ็ปต์มาจากการพนมมือไหว้ของคนไทย อันเป็นเอกลักษณ์ที่สื่อได้ถึงความเป็นคนไทย ขณะเดียวกัน ก็มีจุดสีของแก้วนพรัตน์รายล้อมอยู่ภายใน สื่อถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ของไทย

แบบที่ 3 มีคอนเซ็ปต์มาจากเครื่องดนตรีคือแซกโซโฟน ซึ่งในหลวงทรงโปรดเป็นพิเศษและมีจุดสีของแก้วนพรัตน์แสดงเอกลักษณ์ของพระมหากษัตริย์อีกเช่นกัน

แบบที่ 4 มีคอนเซ็ปต์มาจากพระนาม “ภูมิพล” ซึ่งเมื่อเขียนเป็นภาษาอังกฤษจะขึ้นต้นด้วยตัว “B” แล้วออกแบบรูปร่างทำเป็นปีกพญาครุฑ ภายในบรรจุจุดสีของแก้วนพรัตน์แสดงเอกลักษณ์พระมหากษัตริย์ เพื่อให้เป็นในแนวทางเดียวกันหมด

เป็นที่น่าสังเกตุว่า การออกแบบ “พระนามบัตร” จะเน้นภาพสัญลักษณ์มากกว่าการสื่อความหมายด้วยภาษาของตัวอักษร ดังที่ปรากฎในนามบัตรทั่วไป โดยที่คุณฮิโรมิ อธิบายว่า จริง ๆ แล้วการออกแบบนามบัตรทั่วไปส่วนใหญ่ไม่ถูกต้อง ถ้าพูดถึงระดับนานานาชาติ จะนิยมทำสัญลักษณ์มากกว่าใช้ภาษาของตัวอักษร

“นามบัตรที่ดีจะไม่นิยมพิมพ์ชื่อตัวเองหรือชื่อบุคคลขนาดใหญ่ ตัวหนังสือจะออกแบบเพียงให้ดูเป็นมันขึ้นมาและสื่อภาษาเล็กน้อยเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนามบัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็คงไม่จำเป็นต้องเน้นชื่อ และไม่จำเป็นต้องใส่ที่อยู่หรือเบอร์โทรศัพท์ สื่อเพียงแค่เป็นพระมหากษัตริย์ของไทยก็เพียงพอ”

คุณฮิโรมิ กล่าวว่า จริง ๆ แล้วการออกแบบสัญลักษณ์ไม่เหมือนกับภาพวาดทั่วไป ที่มองเห็นของจริงแล้ววาดภาพเหมือนออกมา แต่งานออกแบบของตนเองไม่ได้มองภาพจริงวาดภาพเหมือน แต่เป็นการใช้จิตนาการนึกภาพออกมาเป็นสัญญลักษณ์แทนตัวบุคคล

เมื่อถามว่า ความคิดขณะออกแบบตั้งใจเพื่อให้ในหลวงใช้พระราชทานแก่บุคคลอื่นด้วยหรือไม่ คุณฮิโรมิหัวเราะก่อนตอบว่า ก็เห็นพระองค์ท่านมีการพระราชทานเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการมีรับสั่งให้พิมพ์เพิ่มด้วย โดยใช้โรงพิมพ์ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ดำเนินการ
แต่พระนามบัตร ซึ่งเป็นการออกแบบสัญลักษณ์นี้เป็นการใช้ส่วนพระองค์มากและไม่เป็นทางการ เพราะส่วนที่เป็นทางการในหลวงท่านก็มีตราประจำรัชกาล หรือตราสัญลักษณ์เนื่องในวโรกาสต่าง ๆ อยู่แล้ว ความคิดขณะออกแบบจึงไม่ได้มุ่งให้เป็นงานเป็นการมากนัก

อย่างไรก็ตาม ความคิดขณะออกแบบนั้น สิ่งที่คำนึงถึงอย่างมากคือเรื่องระบบการพิมพ์ ซึ่งจะต้องมีลูกเล่นให้แปลกตา, มีความหมายและลูกเล่นที่ไม่ซ้ำแบบใคร หรือทำการพิมพ์ลอกเลียนแบบไม่ได้ง่าย ๆ
“ระบบการพิมพ์จะค่อนข้างพิถีพิถัน อย่างเช่น การใช้สีพิเศษ กระดาษก็จะต้องเป็นของ Arjo Wiggins Fine ซึ่งเป็นกระดาษของฝรั่งเศส เครื่องพิมพ์ก็จะกำหนดให้ต้องใช้เครื่องพิมพ์โรแลนด์และไฮเดลเบิร์กเท่านั้น รวมทั้งอื่น ๆ ซึ่งจะมีการกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยให้โรงพิมพ์ดำเนินการทั้งหมดเลย รวมทั้งจะเข้าไปดูแลและควบคุมการพิมพ์งานด้วยตัวเองด้วย” ขั้นตอนการพิมพ์ “พระนามบัตร” จะทำการพิมพ์สีพื้นก่อนแล้วทำการพิมพ์ฟอยล์ตบท้าย โดยในส่วนจุดสีของนพรัตน์หรือสีอัญมณีทั้ง 9 เม็ด จะต้องพิมพ์ทั้งหมด 18 สี กล่าวคือ พิมพ์ครั้งแรกจำนวน 9 สีหรือ 1 รอบ และพิมพ์ 9 สีอีก 1 รอบทับอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเท่ากับว่า แต่ละสีจะมีการพิมพ์ 2 ครั้ง โดยกว่าจะได้งานออกมาดังที่ตั้งใจ ต้องทำการปรู๊ฟถึง 12 ครั้ง