December 02, 2007

:: สัญญะ ของ Charles Sanders Peirce ::

->
ทฤษฎีสัญญะ ที่หลายๆ คนในชั้นเรียนให้ความสนใจกันอยู่มีแนวทางมาจากบุคคล 2 ท่าน
คือ แฟร์ดิน็องด์ เดอ โซซูร์ (Ferdinand de Saussure) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิส กับ
นักปรัชญาชาวอเมริกัน ชาร์ลส์ แซนเดอร์ส เพิร์ส (Charls sanders Peirce)

“สัญญะ” ของเพิร์สต่างจากของ โซซูร์ ตรงที่เพิร์สแบ่งสัญญะออกเป็นตรีภาค (triadic signs)
ซึ่งครอบคลุมปรากฏการณ์อื่นๆ นอกเหนือระบบภาษา ขณะที่โซซูร์ให้ความสำคัญกับสัญญะทางภาษา
และมีลักษณะเป็นทวิภาค (dyadic signs) มโนมัศน์ - สัทภาพ // รูปสัญญะ - ความหมายสัญญะ

ในบทความ Logic as Semiotic : Theory of Signs (1987)
เพิร์สได้แบ่งสัญญะของเขาเป็นตรีลักษณะ (trichotomy) ซึ่งมีอยู่ 3 ชุดด้วยกัน
แต่ที่รู้จักหรือมีความสำคัญเป็นตรีลักษณะชุดที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย

1) รูปปรติมากรรม ( I c o n )
เป็นสัญญะที่มีความชัดเจนในตัวเอง ไม่ต้องผ่านสื่อหรือกำหนดความหมาย มีคุณลักษณะใกล้เคียง
กับวัตถุที่มันอ้างอิงอยู่เกือบครบถ้วน เช่น ภาพเส้นตรงสามเส้นที่บรรจบกัน มีมุมหนึ่งมีค่าเท่ากับ 90º
เป็นรูปปรติมากรรมของ ‘สามเหลี่ยมมุมฉาก’ รูปปรติมากรรมของเพิร์สแบ่งออกเป็น 2 ระดับ
ระดับแรกคงคุณลักษณะครบถ้วนมากที่สุด เรียก พิมพ์ปรติมา ( h y p o i c o n )
ได้แก่ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ และคอมพิวเตอร์กราฟิกเสมือนจริง
ส่วนที่ลดทอนลงมา แต่ยังมีลักษณะคล้ายคลึงได้แก่ รูปปรติมา ( i c o n i c )
ได้แก่ภาพลายเส้น รูปกราฟืก หรือการ์ตูน
2) ดรรชนี ( i n d e x หรือ s e m e )
เป็นสัญญะที่คงบุคลิกภาพที่เป็นจริงของวัตถุ หรือสิ่งที่ปรากฏขึ้น โดยส่วนหนึ่งอ้างอิงกับวัตถุ หรือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
อธิบายให้ง่ายขึ้น ดรรชนีคือสัญญะที่สามารถยืนยันการมีอยู่ของบางสิ่งบางอย่างได้ ไม่ว่าบางสิ่งนั้นจะมีอยู่
หรือไม่มีอยู่ ณ ที่แห่งนั้นก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น รอยเท้าที่ย่ำไปบนพื้น หรือรอยกระสุนปืน เป็นดรรชนีที่บ่งชี้ถึงคน
หรือการยิงปืน แม้เราจะมองไม่เห็น หรือได้ยินเสียงปืนในขณะเกิดเหตุ แต่รูปสัญญะที่ปรากฏนั้นสามารถ
บอกเราในข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้
3) สัญลักษณ์ ( s y m b o l )
เป็นสัญญะที่สื่อถึงวัตถุผ่านนัยยะบางอย่าง ที่โดยปรกติแล้วเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในห้วงความคิด
‘สัญลักษณ์’ เกี่ยวข้องโดยตรงกับการตีความ ( i n t e r p r e t a n t ) จะสื่อความหมายได้หรือไม่ก็ขึ้นกับ
กฏและเงื่อนไขที่เราวางไว้ เช่น การโยนผ้าขึ้นบนเวทีมวย เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ว่านักมายชกต่อไปไม่ไหวแล้ว
แต่หากปราศจากข้อตกลง การโยนผ้าก็ไม่มีความหมายอะไร ดังนั้นสัญญะชนิดนี้จึงเป็นสัญญะที่มีลักษณะหรือนัยยะ
ของการสื่อสารที่ซับซ้อนกว่า รูปปรติมากรรม หรือ ดรรชนี เพราะถ้าเราไม่เข้าใจเงื่อนไขพื้นฐานของสัญลักษณ์
มันอาจไม่ได่บ่งชี้อะไรเลย ‘สัญลักษณ์’ จึงเป็นสัญญะที่ต้องพึ่งพิงกฏเกณฑ์บางอย่างที่ทำให้มันสามารถสื่อสารได้
สัญลักษณ์ คือ การใช้สัญญะในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นรูปปรติมากรรม ( i c o n ) หรือ ดรรชนี ( i n d e x )
เพื่อสื่อความบนเงื่อนไขบางอย่าง สัญญะประเภทสัญลักษณ์นี้จึงเหมือนการประชุมรวมของนัยยะต่างๆ ที่เราต้องการสื่อ

// อ้างอิง - วารสารหนังสือใต้ดิน ฉบับที่ 12. “เชิงอรรถ - สืบวงศืวานการสืบสวน,”
หน้า 105-106 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ไชน์ ตุลาคม 2550)

No comments: