December 25, 2007

December 17, 2007

| Hello! Is anybody there? |


^ หน้าปก ฉบับภาษาอังกฤษ

^ หน้าปก ฉบับภาษาไทย
---
หนังสือเล่มเล็กๆ ที่ผมประทับใจในช่วงหลายปีมานี้ มีชื่อแปลเป็นไทยว่า “สวัสดีชาวโลก” หรือ “Hello! Is anybody there?”
ผลงานของโยสไตน์ กอร์เดอร์ แปลโดย วิลาวัณย์ ฤดีศานต์ หลายๆ คนคงรู้จักกอร์เดอร์จากหนังสือเรื่อง “โลกของโซฟี” แล้วนะครับ
---
สวัสดีชาวโลกเป็นเรื่องราวจากจดหมายหรือข้อเขียนฉบับหนึ่งที่ลุงโจเขียนให้กับคามิลลา หลานของเขาอ่าน
เกี่ยวกับจินตนาการหรือประสบการณ์ของเด็กชายโจ ระหว่างกำลังรอเวลาที่น้องชายหรือน้องสาวกำลังจะกำเนิดมาบนโลกใบนี้
---
เด็กชายต้องอยู่บ้านคนเดียงขณะที่พ่อต้องพาแม่ไปคลอดน้องของเขาที่โรงพยาบาล และระหว่างที่อยู่บ้านตามลำพังนั้นเอง
ที่โจได้พบกับมิกะ เด็กชายผู้ไม่มีสะดือที่มาจากดวงดาวซึ่งมีแรงดึงดูดมากกว่าโลกของเรา

// ความน่ารักและแง่คิดดีๆ ถูกสอกแทรกไว้ในบทสนทนาของเด็กชายทั้งสอง ผมได้ตระหนักถึงความเหมือน ความแตกต่าง
ได้หยุดสังเกตความพิเศษของสิ่งต่างๆ ที่เราไม่เคยมองเห็น เกิดความอิ่มเอมทางความรู้สึก และเป็นอีกครั้งที่ได้รับความสุขจากการอ่าน //
---
โจยื่นผลแอปเปิ้ลให้มิกะ ก่อนจะถามว่า “เธอชอบไหม?”
มิกะไม่ตอบ แต่โค้งคำนับลงต่ำ...
“รสชาติมันเป็นอย่างไรเหรอ” โจถามต่อด้วยความอยากรู้
มิกะคำนับอีกครั้ง... โจรู้สึกสงสัยจนต้องถามถึงเหตุผลในการคำนับของมิกะ
---
มิกะอธิบายถึงดวงดาวที่เขาจากมาว่า ผู้คนที่นั่นจะคำนับถ้ามีใครถามคำถามที่น่าสนใจ และยิ่งเป็นคำถามที่ลึกซึ้งมากเท่าไหร่
ก็จะยิ่งคำนับต่ำลงมากขึ้นอีก คนบนดาวดวงนั้นจึงพยายามคิดหาคำถามดีๆ มาถามตอนทักทายกัน...

มิกะอธิบายว่า เมื่อเราถามคำถาม นั่นเป็นการสร้างหนทาง ขณะที่การตอบนั้นไม่ใช่ นั่นก็เพราะคำตอบคือถนนที่ทอดยาวอยู่เบื้องหลังเราเสมอ
มีเพียงคำถามเท่านั้นที่เปิดเส้นทางไปสู่หนทางข้างหน้า... (แต่โจก็ยังคำนับให้กับคำตอบของมิกะอยู่ดี)

//ผมเลยเล่าบทสนทนาเกี่ยวกับคำถาม-คำตอบระหว่างโจกับมิกะให้นักศึกษาในชั้นเรียนฟัง เพราะเด็กๆ ไม่ค่อยชอบถาม (โดยเฉพาะในชั้นเรียน)
แต่จะกรูเข้ามาถามตอนเลิกชั้นเรียน ผมว่าการถาม (บนดาวของเรา) ไม่ได้เป็นการแสดงออกแค่การไม่รู้หรือไม่เข้าใจเท่านั้น
คนถามก็ไม่ได้เป็นคนโง่ คนตอบก็ไม่ได้แสดงว่าฉลาดกว่า การตั้งคำถาม ข้อสังเกตมากมายที่ทำให้เกิดการค้นพบใหม่ๆ...//
---
“ข้อดีของการเดินทางไปเยือนดาวเคราะห์แปลกๆ ก็คือ มันทำให้เธอเข้าใจดาวของเธอดีขึ้นอีกนิดหน่อย
เธอจะเห็นว่าดาวเคราะห์ทุกดวงมีข้อดีและข้อเสียของมันเอง”

// ประโยคนี้ของมิกะทำให้ผมนึกถึงเวลาเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ (อย่าเข้าใจผิดว่าผมโอ่ว่าไปเมืองนอกบ่อยนะครับ นานๆ มีโอกาสซักที)
พอกลับมาก็มักมาเล่าให้คนรอบข้างว่าต่างบ้านต่างเมืองที่ไปเห็นมาเป็นอย่างไรบ้าง แต่สุดท้ายก็จบด้วยคำพูดที่ว่า “ไม่มีที่ไหนสบายกว่าบ้านเรา”
ซึ่งคำพูดนี้คงไม่หลุดออกจากปากใครถ้าคนๆ นั้นไม่ได้ห่างบ้านไปซักพัก หลายคนไม่เคยขึ้นไปบนดาดฟ้าของบ้านหลังตรงข้าม
แล้วมองกลับมาที่บ้านของเรา เพื่อจะได้พบว่า... อืมม์... บ้านของเราก็น่าอยู่เหมือนกันแฮะ..

การได้อยู่ห่างจากคนที่รักและใกล้ชิดบ้าง ก็ทำให้เราได้มีเวลาในการนั่งคิดถึงสิ่งดีๆ ที่มีร่วมกัน การใช้เวลาร่วมกันอย่างใกล้ชิดและเนิ่นนานโดยไม่เว้นวรรค
ก็อาจทำให้เราเห็นแต่ภาพครึ่งตัวของคนที่เรารัก ไม่ค่อยได้เห็นภาพเต็มตัวกันซักเท่าไหร่ //
---
โจเรียนรู้จากมิกะว่า ไม่มีอะไรที่ธรรมดา บางครั้งคนเราก็พูดถึง “วันธรรมดา” แต่จริงๆ แล้วก็ไม่มีวัน 2 วันที่เหมือนกัน
แล้วเราก็ไม่รู้ว่ามี “วัน” มากมายแค่ไหนในชีวิตเราที่ถูกทิ้งไปเปล่าๆ และสิ่งที่แย่ไปกว่า “วันธรรมดา” ก็คือการพูดถึง
“เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงธรรมดา” เพราะเรามักใช้คำนี้เวลาที่เราไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องรู้จักใครอย่างลึกซึ้ง...

// ขณะที่ผมตื่น... มีสิ่งต่างๆ ผ่านเข้ามาในชีวิต และทุกคืนขณะที่หลับก็อาจจะลืมสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไป บางทีที่เราฝันอาจเป็นเพราะ
สมองพยายามเอาเหตุการณ์ในลิ้นชักอื่นๆ มาเติมเต็มช่องว่างของเหตุการณ์ที่เราลืมขณะหลับ พอตื่นขึ้นมาเราก็ลืมสิ่งที่ฝันอย่างรวดเร็ว
เพื่อให้มีที่ว่างอีกครั้งสำหรับสิ่งที่กำลังจะผ่านเข้ามา
---
ในตอนท้ายของหนังสือเล่มนี้ ลุงโจได้บอกหลานคามิลลาว่า “การจดจำความฝันเกือบเป็นเรื่องยากพอๆ กับการจับนกไว้ในมือ...
แต่บางทีมันกลับเหมือนนกที่บินมาเกาะไหล่ของเราตามความต้องการของมันเอง”

// ทุกวันนี้ผมไม่ค่อยฝัน... แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า คืนที่เราไม่ได้ฝันจะเป็นแค่คืนธรรมดาๆ คืนหนึ่งเท่านั้น...

December 13, 2007

| Typography WorkShop |


การอบรมเชิงปฏิบัติการในโครงการอักขรศิลป์ “ทรงพระเจริญ”
จัดโดย สมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย
->
เสาร์ที่ 15 ธันวาคม 2550
13.00 น. - 15.00 น.
หัวข้อ การเขียนตัวอักษรไทยประดิษฐ์ด้วยปากกาหัวตัด
โดย อาจารย์ปราโมทย์ บุญเต็ม จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง
ณ บริเวณโถงจัดนิทรรศการ ชั้น 1 สยามดิสคัพเวอรี่ เซ็นเตอร์
ผู้ประสานงาน กนกนุช ศิลปวิศวกุล และ Practical Studio
->
อาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม 2550
13.00 น. - 15.00 น.
หัวข้อ การออกแบบตัวอักษรเชิงสร้างสรรค์
โดย กลุ่มนักออกแบบเรขศิลป์
ณ ห้องกิจกรรม ชั้น 4 สยามดิสคัพเวอรี่ เซ็นเตอร์
ผู้ประสานงาน Be Our Friend Studio และ Practical Studio

December 12, 2007

Post-Corruption



หลังจากจัดทำต้นแบบประเทศไทยที่ถูกโยงใยยึดเหนี่ยวด้วยหมุดและยางยืด
เพื่อถ่ายรูปสำหรับโปสเตอร์ที่จะต้องแสดงในนิทรรศการ
สัปดาห์ต่อมาเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดไว้ก็แสดงตัวออกมา ประหนึ่งกำลังจะย้ำเตือนว่า
ไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะยึดเหนี่ยวโยงใยเหนียวแน่นเหนอะหนะอย่างไร
ผมจึงมีความคิดว่าจะต้องบันทึกงานนี้อีกครั้งเพื่อแสดงถึงความล่มสลายแห่งการคอร์รัปชั่น
ดังที่ปรากฏแก่สภาพของยางยืด ที่น่าจะรุ่งริ่งไปมากกว่านี้และมีอันเป็นไปในที่สุด





ที่กังวลก็คือขออย่าให้บ้านเมืองต้องขาดผึงรุ่งริ่งเหมือนงานข้าพเจ้าชิ้นนี้เลย
ไม่อย่างนั้น เป็ด-ไก่ อย่างเราจะหันหน้าไปทางไหนดี ช่วยบอกหน่อยนะ...

December 08, 2007

:: The Art of Corruption // ศิลปะแห่งการคอร์รัปชั่น ::

-> ขอเชิญร่วมชมนิทรรศการ “ศิลปะแห่งการคอร์รัปชั่น”
ในวันเปิด อังคารที่ 11 ธันวาคม 2550
| 15.00 | บรรยายพิเศษเรื่อง “ศิลปะแห่งการคอร์รัปชั่น” โดย Prof. Benedict Anderson
| 16.00 | ร่วมเปิดและชมผลงาน
ณ ห้องโถงอาคาร ทีพีไอ ทาวเวอร์ ถ.นราธิวาสราชนครินทร์

-> นิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่ วันที่ 11 ธันวาคม 2550 ถึง 20 มกราคม 2551

จัดโดย สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) สำนักนายกรัฐมนตรี
by Office of Knowledge Management and Development (OKMD)

นิทรรศการผลงานศิลปะและผลงานออกแบบเรขศิลป์
ที่สะท้อนปัญหาและสถานการณ์การคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
นักออกแบบกราฟิกทั้ง 8 คน ร่วมสร้างสรรค์ผลงานร่วมแสดงในนิทรรศการ
ผ่านโปสเตอร์ ขนาด 84 x 120 ซม. และ 42 x 60 ซม.
และออกแบบปกหนังสือ ซึ่งเขียนโดย คุณประเสริฐ เลิศรัตนวิสุทธิ์

ใบปิด/โปสเตอร์ ”ต่อต้านคอรัปชั่น” เป็นอีกช่องทางหนึ่งของการสื่อสาร
กับประชาชนวงกว้างที่คาดว่าจะให้ผลตอบรับที่เร็ว โดยได้เชื้อเชิญ
และมอบหมายให้นักออกแบบไทยจำนวน 8 ท่าน ได้แก่ วิเชียร โต๋ว /
สำเร็จ จารุอมรจิต / สันติ ลอรัชวี / อนุทิน วงศ์สรรคกร /
บี อาว เฟรนด์ สตูดิโอ / เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช /
ศิวะ ศิริฤทธิชัย / และ กนกนุช ศิลปวิศวกุล ร่วมกันออกแบบใบปิด
เพื่อใช้ในการเผยแพร่เนื้อหา โดยคาดหมายว่าจะได้รับความร่วมมือ
จากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน ในการติดแสดงเผยแพร่

:: ขอขอบคุณ อาจารย์สรรเสริญ มิลินทสูต, พี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
และ พี่ประเสริฐ เลิศรัตนวิสุทธิ์ สำหรับข้อมูลและคำแนะนำ

// วิเชียร โต๋ว //

// สำเร็จ จารุอมรจิต //

// สันติ ลอรัชวี //

// อนุทิน วงศ์สรรคกร //

// บี อาว เฟรนด์ สตูดิโอ //

// เอกลักษณ์ เพียรพนาเวช //

// ศิวะ ศิริฤทธิชัย //

// กนกนุช ศิลปวิศวกุล //


รายนามศิลปินที่ร่วมแสดงผลงานในส่วนงานศิลปกรรม
ขวัญสรวง อติโพธิ / กมล เผ่าสวัสดิ์ / วสันต์ สิทธิเขตต์ /
มานิต ศรีวานิชภูมิ / อิ๋ง กาญจนวณิชย์ / สุธี คุณาวิชยานนท์ /
สาครินทร์ เครืออ่อน / วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ /
พรทวีศักดิ์ ริมสกุล / พรรษา พุทธรักษา

December 02, 2007

:: สัญญะ ของ Charles Sanders Peirce ::

->
ทฤษฎีสัญญะ ที่หลายๆ คนในชั้นเรียนให้ความสนใจกันอยู่มีแนวทางมาจากบุคคล 2 ท่าน
คือ แฟร์ดิน็องด์ เดอ โซซูร์ (Ferdinand de Saussure) นักภาษาศาสตร์ชาวสวิส กับ
นักปรัชญาชาวอเมริกัน ชาร์ลส์ แซนเดอร์ส เพิร์ส (Charls sanders Peirce)

“สัญญะ” ของเพิร์สต่างจากของ โซซูร์ ตรงที่เพิร์สแบ่งสัญญะออกเป็นตรีภาค (triadic signs)
ซึ่งครอบคลุมปรากฏการณ์อื่นๆ นอกเหนือระบบภาษา ขณะที่โซซูร์ให้ความสำคัญกับสัญญะทางภาษา
และมีลักษณะเป็นทวิภาค (dyadic signs) มโนมัศน์ - สัทภาพ // รูปสัญญะ - ความหมายสัญญะ

ในบทความ Logic as Semiotic : Theory of Signs (1987)
เพิร์สได้แบ่งสัญญะของเขาเป็นตรีลักษณะ (trichotomy) ซึ่งมีอยู่ 3 ชุดด้วยกัน
แต่ที่รู้จักหรือมีความสำคัญเป็นตรีลักษณะชุดที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย

1) รูปปรติมากรรม ( I c o n )
เป็นสัญญะที่มีความชัดเจนในตัวเอง ไม่ต้องผ่านสื่อหรือกำหนดความหมาย มีคุณลักษณะใกล้เคียง
กับวัตถุที่มันอ้างอิงอยู่เกือบครบถ้วน เช่น ภาพเส้นตรงสามเส้นที่บรรจบกัน มีมุมหนึ่งมีค่าเท่ากับ 90º
เป็นรูปปรติมากรรมของ ‘สามเหลี่ยมมุมฉาก’ รูปปรติมากรรมของเพิร์สแบ่งออกเป็น 2 ระดับ
ระดับแรกคงคุณลักษณะครบถ้วนมากที่สุด เรียก พิมพ์ปรติมา ( h y p o i c o n )
ได้แก่ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ และคอมพิวเตอร์กราฟิกเสมือนจริง
ส่วนที่ลดทอนลงมา แต่ยังมีลักษณะคล้ายคลึงได้แก่ รูปปรติมา ( i c o n i c )
ได้แก่ภาพลายเส้น รูปกราฟืก หรือการ์ตูน
2) ดรรชนี ( i n d e x หรือ s e m e )
เป็นสัญญะที่คงบุคลิกภาพที่เป็นจริงของวัตถุ หรือสิ่งที่ปรากฏขึ้น โดยส่วนหนึ่งอ้างอิงกับวัตถุ หรือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
อธิบายให้ง่ายขึ้น ดรรชนีคือสัญญะที่สามารถยืนยันการมีอยู่ของบางสิ่งบางอย่างได้ ไม่ว่าบางสิ่งนั้นจะมีอยู่
หรือไม่มีอยู่ ณ ที่แห่งนั้นก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น รอยเท้าที่ย่ำไปบนพื้น หรือรอยกระสุนปืน เป็นดรรชนีที่บ่งชี้ถึงคน
หรือการยิงปืน แม้เราจะมองไม่เห็น หรือได้ยินเสียงปืนในขณะเกิดเหตุ แต่รูปสัญญะที่ปรากฏนั้นสามารถ
บอกเราในข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้
3) สัญลักษณ์ ( s y m b o l )
เป็นสัญญะที่สื่อถึงวัตถุผ่านนัยยะบางอย่าง ที่โดยปรกติแล้วเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในห้วงความคิด
‘สัญลักษณ์’ เกี่ยวข้องโดยตรงกับการตีความ ( i n t e r p r e t a n t ) จะสื่อความหมายได้หรือไม่ก็ขึ้นกับ
กฏและเงื่อนไขที่เราวางไว้ เช่น การโยนผ้าขึ้นบนเวทีมวย เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ว่านักมายชกต่อไปไม่ไหวแล้ว
แต่หากปราศจากข้อตกลง การโยนผ้าก็ไม่มีความหมายอะไร ดังนั้นสัญญะชนิดนี้จึงเป็นสัญญะที่มีลักษณะหรือนัยยะ
ของการสื่อสารที่ซับซ้อนกว่า รูปปรติมากรรม หรือ ดรรชนี เพราะถ้าเราไม่เข้าใจเงื่อนไขพื้นฐานของสัญลักษณ์
มันอาจไม่ได่บ่งชี้อะไรเลย ‘สัญลักษณ์’ จึงเป็นสัญญะที่ต้องพึ่งพิงกฏเกณฑ์บางอย่างที่ทำให้มันสามารถสื่อสารได้
สัญลักษณ์ คือ การใช้สัญญะในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นรูปปรติมากรรม ( i c o n ) หรือ ดรรชนี ( i n d e x )
เพื่อสื่อความบนเงื่อนไขบางอย่าง สัญญะประเภทสัญลักษณ์นี้จึงเหมือนการประชุมรวมของนัยยะต่างๆ ที่เราต้องการสื่อ

// อ้างอิง - วารสารหนังสือใต้ดิน ฉบับที่ 12. “เชิงอรรถ - สืบวงศืวานการสืบสวน,”
หน้า 105-106 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ไชน์ ตุลาคม 2550)