February 08, 2008

| คำถามฟุ้งตลบอบอวล จาก “The Orange Girl” |


Appelsinpiken (The Orange Girl) หรือ ส้มสื่อรัก
Jostein Gaarder เขียน; จิระนันท์ พิตรปรีชา แปล; สำนักพิมพ์มติชน



^ Jostein Gaarder

“...นั่งสบายๆ หรือยัง คุณผู้อ่าน? แล้าเราจะเริ่มคุยกัน”

หนังสือหลายๆ เล่มทิ้งคำถามให้ตลบอบอวลและค้างเติ่งอยู่กับผม
ให้ผมได้พิจารณาคำถาม แสวงหาหนทางของการตอบ
ดูเหมือน “ส้มสื่อรัก” ของกอร์เดอร์ จะมีเจตนาแบบนี้อยู่ชัดเจน
เล่าเรื่องผ่านจดหมายปึกใหญ่ของพ่อที่กำลังจะเสียชีวิตจากโรคร้าย
ในขณะที่กำลังพอใจกับชีวิต จดหมายนั้นเขียนให้ลูกชายซึ่งขณะนั้นอายุ 3 ขวบครึ่ง
โดยหวังว่าวันนึงลูกชายจะได้อ่านจดหมายฉบับนี้ที่ซ่อนอยู่ในรถเข็นเด็ก
ซึ่งในที่สุดลูกชายก็ได้อ่านมันเมื่ออายุ 15 ปี

สำหรับผม...จดหมายฉบับนั้น น่าจะเป็นจดหมายที่มีความหมายที่สุดฉบับหนึ่ง
(เหตุผลหนึ่งน่าจะมาจากการที่ผมไม่ค่อยได้รับจดหมายมากฉบับซักเท่าไหร่)
ขณะอ่านจดหมาย(ในหนังสือ) ผมไม่ค่อยรู้สึกว่าผมกำลังอ่านจดหมายของคนอื่น
ผมรู้สึกเหมือนจดหมายฉบับนั้นเขียนตรงมาหาผมโดยเฉพาะ
ทำให้ข้อความและคำถามในจดหมาย เพ่งเล็งมาที่ผมจนทำให้ผมต้องแสวงหาคำตอบนั้น
หรืออย่างน้อยมันก็หมุนวนเวียนในความคิดหลังจากที่ปิดหนังสือไปแล้ว...

โยสไตน์คอยย้ำเตือนให้เราปรับมโนทัศน์ต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว
ของขวัญล้ำค่าหรือไร้ค่า สิ่งสามัญธรรมดาหรือสิ่งมัศจรรย์ ล้วนขึ้นตรงกับการโฟกัสความคิดและมุมมองของเราเอง

บางครั้ง...การจำลองสถานการณ์แห่งการสูญเสีย จะทำให้เราเสียศูนย์จากความเคยชิน และมองเห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัว
...หน้า 152
“อย่ามาบอกพ่อให้ยากเลยว่าธรรมชาติไม่ใช่ปาฏิหารย์ อย่ามาบอกพ่อว่าโลกนี้ไม่ใช่เทพนิยาย
คนที่มองไม่เห็นก็จะมองไม่เห็นต่อไป จนกว่าเทพนิยายเรื่องนี้ใกล้จุดอวสาน
เมื่อโอกาสสุดท้ายที่จะขยี้ตามองด้วยความอัศจรรย์ใจได้มาถึง
...โอกาสสุดท้ายที่จะเลิกหมกมุ่นกับตัวเอง แล้วหันไปมองสิ่งมหัศจรรย์เหล่านั้น เพียงเพื่อเอ่ยคำอำลาก่อนจากไป”



คำถามที่ผมเที่ยวเอาไปถามคนรอบข้าง หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ เพื่อให้แน่ใจว่าผมพร้อมจะตอบมันแล้ว...
...หน้า 163
“สมมติว่า ลูก(คุณ)กำลังยืนอยู่ตรงหน้าประตูทางเข้าเทพนิยายเรื่องนี้เมื่อหลายพันล้านปีก่อน
ในระหว่างที่ทุกอย่างกำลังก่อรูปขึ้น แล้วลูกสามารถเลือกได้ว่าจะมาใช้ชีวิตบนโลกนี้สักช่วงเวลาหนึ่งหรือไม่
โดยที่ลูกไม่มีทางรู้ว่าตัวเองจะเกิดเมื่อไหร่ หรือมีชีวิตอยู่ได้กี่ปี รู้แค่ว่ามันนานพอที่ลูกจะโตเป็นผู้ใหญ่ก็แล้วกัน
แล้วลูกยังรู้ด้วยว่า ถ้าเกิดเป็นมนุษย์บนโลกนี้ สักวันลูกก็จะต้องจากโลกนี้ไปโดยทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง
นั่นอาจทำให้ลูกโศกเศร้าเสียใจเป็นที่สุด อย่างที่หลายคนพูดว่าแค่คิดขึ้นมาก็น้ำตาไหลแล้ว
เพราะว่าโลกมีสิ่งที่สวยงามมากมายจนไม่มีใครทำใจได้เมื่อถึงวาระที่ต้องจากไป”

“ลูก(คุณ)จะเลือกอย่างไหนล่ะ”
...กับการมีชีวิตอยู่บนผืนโลกสักระยะหนึ่ง ไม่ว่าจะสั้นหรือยาว มันก็แค่จุดเล็กๆ จุดหนึ่งในห้วงเวลานับหมื่นล้านปี...
“หรือจะปฏิเสธไม่ขอลงสนาม เพราะไม่ชอบกติกาการแข่งขัน”


คำถามอาจจะดูคมคายและเต็มไปด้วยแง่คิด
แต่อย่าลืมนะครับว่า...ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ตอบครับ

No comments: