เริ่มพูดคุยประเด็นรักแร้ จั๊กกะแร้ จั๊กแร้ หรือ วงแขน (ตามการบัญญัติจากงานโฆษณาในยุคหลังๆ) ของผู้หญิง
กับคนรอบข้างมาซักพัก อีกทั้งยังมีความสนใจอยากจะถ่ายภาพจั๊กแร้ของสาวๆ เก็บไว้เพื่อจัดเป็นนิทรรศการภาพถ่ายในอนาคต
เผื่อว่าหลายๆ คนจะลืมไปว่าจริงๆ แล้วจั๊กแร้ของเราๆ ไม่อาจขาวใสเนียนปราศจากตุ่มใดๆ ได้ดังภาพมายาที่เราเห็นจากภาพ
ในนิตยสารแฟชั่นต่างๆ ที่รีทัชกันจนตึงในระดับที่ไม่อาจจะพับแขนลงมาได้...
แต่ก่อนจะเริ่มลงมือถ่ายภาพชุดนี้ สงสัยต้องหาสาวๆ ผู้ที่เข้าใจและให้”ความร่วมจั๊กแร้”ก่อน...
พอดีได้ไปอ่านบทความในเว็บของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในหมวด*หมายเหตุสังคม
ก็เลยนำมาลงไว้เพื่อเป็นข้อมูลค้นคว้าของตนเองต่อไป อีกทั้งอาจมีผู้อ่านที่สนใจเกี่ยวกับจั๊กแร้ของสาวๆ เหมือนกันครับ
เชิญครับ...
เมื่อจั๊กแร้เริ่มเลือนหายไป
(ย่อความจากบทความของเกษียร เตชะพีระ ใน มติชนรายวัน 6 ก.ย. 2545 น.6)
สังเกตบ้างไหมครับว่าโฆษณาทีวีระยะหลังนี้แอ็กเกรซสีฟขึ้นมาก... เช่น แทนที่จะโฆษณาแป้ง น้ำยาฉีดพ่นหรือลูกกลิ้งทาจั๊กแร้
ว่าทำให้ผู้ซื้อใช้จั๊กแร้ขาวและหอม โดยสร้างสถานการณ์ที่ตัวแสดงต้องยกแขนเผยให้คนอื่นได้เห็นและได้กลิ่นจั๊กแร้ของตนโดยบังเอิญ
(เช่น โหนรถเมล์ ชี้มือชี้ไม้ประกอบการพรีเซ้นต์ต่อที่ประชุม ฯลฯ) หรือจำเป็น (ถูกโจรทะลึ่งจี้ให้ยอมแพ้ยกมือขึ้นกลางซูเปอร์สโตร์ ฯลฯ)
ดังก่อน เดี๋ยวนี้กลับให้ตัวแสดง (ซึ่งเป็นหญิงสาวเสมอ) ตั้งอกตั้งใจหาข้ออ้าง ฉวยโอกาสและสร้างเหตุการณ์สารพัด
ในอันที่จะยกแขนเปิดโชว์จั๊กแร้ทั้งสองของเธอเต็มจอต่อหน้าธารกำนัล (อาทิ ยกแขนโบกมือทักทายคนไม่รู้จัก ยกแขนฟุ่มเฟือยโพสท่าถ่ายรูป ฯลฯ)
เพื่ออวดโอ่ความขาวจั๊วะและ/หรือความหอมฉุยของจั๊กแร้ ให้ท่ายั่วยุและโฆษณาจั๊กแร้ตัวเองให้คนอื่นมาเชยชมและดอมดม
หากลองจับตาดูเอาหูฟังให้ดี น่าสนใจมากว่าในกระบวนการนี้ คำว่า "จั๊กแร้" "รักแร้" หรือ "ซอกแขน"
อันเป็นนามปกติธรรมดาที่เราใช้เรียก "ส่วนร่างกายที่อยู่ใต้โคนแขนเหนือสีข้างขึ้นไป" ชักจะค่อยๆ เลือนหายไปจากภาษาโฆษณาทีวี
และถูกแทนที่ด้วยคำว่า "วงแขน"
ผมเที่ยวเปิดพจนานุกรมภาษาไทยเล่มต่างๆ ที่มีอยู่ดู แต่ไม่พบคำ "วงแขน" ที่ไหนเลย ตัวเองก็ไม่เคยพบเคยเห็นหรือได้ยินได้ฟังใครใช้คำๆ นี้
เรียกสิ่งที่ปกติเราเรียกว่า "จั๊กแร้" มาก่อน สันนิษฐานว่าคงเป็นศัพท์ใหม่ที่วงการโฆษณาบัญญัติขึ้นใช้แทนคำว่า "จั๊กแร้" "รักแร้"
หรือ "ซอกแขน" ส่วนสาเหตุนั้น พอเข้าใจได้ไม่ยาก
การเปลี่ยนคำ (signifier) เป็นการเบิกทางไปสู่การเปลี่ยนความหมาย (signified) กล่าวคือ จะชอบหรือไม่อย่างไรก็ตาม คำว่า "จั๊กแร้" "รักแร้"
หรือ "ซอกแขน" ที่เราใช้เรียกบริเวณซอกเนื้ออับแคบที่อยู่ใต้แขนของเรามานานนมกาเลนั้น มันปนเปื้อนกลิ่น (เหม็นสาบฉุนเฉียว)
และแปดเปื้อนสี (ดำด่างรกทึบ) อย่างช่วยไม่ได้เสียแล้ว ต่อให้โกนขนถอนขนจนเกลี้ยงแล้วประทาฉีดพ่นทั้งแป้งหอม น้ำยาและลูกกลิ้ง
เพื่อดับกลิ่นล้างสีอย่างไร ความหมาย-กลิ่น-สีเดิมๆ ก็ยังคงเปื้อนคำอยู่ดี ยากแก่การลบล้างแยกออก
ดังแสดงเป็นสมการได้ว่า: -
"จั๊กแร้" = [บริเวณใต้แขน + เหม็น + ดำ]
"จั๊กแร้" ที่ขาวและหอมเพราะโกนเกลี้ยงปรุงแต่งมาเสร็จสรรพ พร้อมสำหรับเพ่งพิศสูดดมนั้น ถึงจะขาวและหอมอย่างไร มันก็ยังเป็น "จั๊กแร้"
อยู่นั่นเอง ไม่ขาวสะอาดและหอมขาดเต็มร้อยไปได้ เพราะติดตรงที่มันยังเรียกเป็น "จั๊กแร้" ที่ติดสีกระดำกระด่างและติดกลิ่นตุๆ เดิมๆ อยู่
ล้างไม่ออก ทางแก้ปัญหาจึงต้องตัด "จั๊กแร้" "รักแร้" หรือ "ซอกแขน" ทิ้งเสียเลยทีเดียว แล้วแทนที่ด้วยคำที่กลางๆ กว้างๆ ปลอดโปร่งอากาศ
ถ่ายเท ("วง" ย่อมกว้างและโปร่งโล่งกว่าเป็นไหนๆ เมื่อเทียบกับ "ซอก") ไม่เปื้อนสี ไม่โชยกลิ่นติดคำมาก่อนหน้าอย่าง "วงแขน" ไง
ดังแสดงเป็นสมการได้ว่า: -
"วงแขน" = [บริเวณใต้แขน + หอม + ขาว]
เพียงเรียกใหม่ว่า "วงแขน" เท่านั้น อีตรงนั้นก็น่าดูน่าดมกว่า "จั๊กแร้" เป็นไหนๆ เห็นไหมครับ?
ถ้าโฆษณา "วงแขน" ประสบความสำเร็จในการบัญญัติศัพท์เปลี่ยนภาษาใหม่ในกรณีนี้ ก็หมายความว่าในอนาคตไกลๆ เบื้องหน้า อนุชนรุ่นหลาน
เหลนโหลนของเราอาจไม่รู้จักคำ "จั๊กแร้" ด้วยซ้ำ รู้จักแต่ "วงแขน" หรือต่อให้รู้จัก "จั๊กแร้" ก็คงรู้จักและใช้มันในชีวิตประจำวันน้อยกว่า "วงแขน"
นักต่อนัก กล่าวคือ เราจะเปลี่ยนการรับรู้เป็นว่า "วงแขน" (ขาวและหอม) เป็นคำปกติ ส่วน "จั๊กแร้" เป็นคำโบราณหลงเหลือตกทอดมา
และหมายถึง "วงแขน" บางวงของใครบางคนที่ผิดปกติ เหม็นฉึ่งและดำรกเท่านั้น
ปรากฎการณ์นี้สอนให้รู้ว่า การทำจั๊กแร้หรือชิ้นส่วนอื่นๆ ของร่างกายให้เป็นสินค้า (commodification)
ย่อมดำเนินผ่านกระบวนการดังนี้คือ ->
-การแยกส่วนหรือปลดเปลื้องจั๊กแร้ออกมาจากบริบทองค์รวมแห่งร่างกายที่เป็นซอกอับแคบเสียก่อน (decontextualization)
-จากนั้นก็สลายวัตถุภาวะ (materiality) ของจั๊กแร้ หรือระเหิดมันทิ้งเสีย จนมันไม่ปนกลิ่น เปื้อนสีตามธรรมชาติ
หรือนัยหนึ่งก็คือเหมือนไม่เป็นจั๊กแร้ธรรมดาอีกต่อไป (dematerialization or sublimation)
-ดัดแปลงแนวคิด (concept) เกี่ยวกับจั๊กแร้เสียใหม่ จาก [บริเวณใต้แขน + เหม็น + ดำ] -> [บริเวณใต้แขน + หอม + ขาว]
โดยบัญญัติศัพท์ใหม่ว่า "วงแขน" ใช้เรียกบริเวณร่างกายส่วนนั้นแทน "จั๊กแร้" เสีย เพื่อให้ "วงแขน" สื่อความหมาย [หอม + ขาว]
แทนความหมาย [เหม็น + ดำ] ของจั๊กแร้แต่เดิม (resignification of จั๊กแร้)
-นำไปสู่การอวดโอ่โฆษณาจั๊กแร้ตัวเองต่อสาธารณะอย่างเต็มภาคภูมิ (publicization of จั๊กแร้) ซึ่งก็คือการปลดปล่อยจั๊กแร้จากพื้นที่สงวน
ส่วนตัว (private sphere) ไปเริงร่าอยู่ในพื้นที่สาธารณะ (public sphere) เป็นของโก้ของโชว์ เป็นส่วนหนึ่งของภาพลักษณ์สาธารณะ
และเอกลักษณ์แห่งตัวตน (จั๊กแร้ as part of one own's public image & self-identity) ในที่สุด...
บัดนั้น การทำจั๊กแร้ให้เป็นสินค้าก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์ ล้วงจั๊กแร้ออกมาจากซอกแขนสาวๆ สำเร็จ เสกมันให้กลายเป็น "วงแขน"
แล้วเพิ่มยอดขายสินค้าผูกพ่วง "วงแขน" ให้พุ่งปรู๊ดปร๊าด
ทุนนิยมโฆษณา-บริโภคนิยมได้รุกคืบเข้าทำจั๊กแร้ให้เป็นสินค้าเรียบร้อยแล้ว หลังจากประสบความสำเร็จในการทำชิ้นส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
ให้เป็นสินค้ามาก่อน ไม่ว่าทรงผม ใบหน้า ขาอ่อน ทรวดทรง สะโพก ก้น ท้องน้อย สะดือ... และก็คงจะล้วงลึกเข้าไปเปิดอะไรต่อมิอะไร
ออกมาโชว์ เปลี่ยนและขายอีกในไม่ช้า
อย่าเพ่อแน่ใจว่าจะมีอะไรเหลือ ของที่เคยรักนวลสงวนปิด ไม่เคยคิดว่าเปิดได้ ได้ถูกเปิดโชว์เปลี่ยนขายมาแล้วด้วยธนานุภาพโฆษณา-บริโภคนิยม
และ...ถ้าชื่อเดิมมันน่าเกลียดนัก...ก็อาจบัญญัติศัพท์ไพเราะสะอาดสะอ้านหอมฉุยใหม่ๆ เรียกมันซะใหม่ก็ได้
March 03, 2008
| บทความว่าด้วยเรื่องจั๊กแร้ |
Posted by Tik Lawrachawee at Monday, March 03, 2008
Labels: Article, Inspiration
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment