June 07, 2007

Understanding Design Concept (3)

-------------------------------------------------------------------------->
บทวิเคราะห์ : การถ่ายภาพ จริยธรรม และเบเนตอง
-------------------------------------------------------------------------->
จากการอ่านบทความดังกล่าวให้นักศึกษาฟังในชั้นเรียน เพื่อวิเคราะห์บทความ
ก่อให้เกิดประเด็นในการสนทนากันอย่างหลากหลาย อาทิ
• ข้อถกเถียงเกี่ยวกับบริบทของการเป็นอัตวิสัย หรือ ภววิสัย ของภาพถ่าย
• อะไรที่เป็นองค์ประกอบที่ทำให้ภาพถ่ายแบบที่นิตยสาร Colors ใช้
เหมาะสมที่จะอยู่ในโปสเตอร์โฆษณาของเบเนตอง
• ภาพถ่ายความเสียหายของรถยนต์ที่พนักงานประกันภัยถ่ายไว้เป็นหลักฐาน
ทำให้ภาพถ่ายอยู่ในกรณีเป็น “ความจริง” ได้หรือไม่
• นัยยะที่เลื่อนไหลของภาพถ่าย ทำให้เราในฐานะของนักออกแบบ จำเป็นจะต้อง
ติดตามความผันแปรนั้นอย่างเท่าทัน เพื่อผลแห่งการนำไปใช้ต่อไป
-------------------------------------------------------------------------->
เราลองมาอ่านบทวิเคราะห์จาก อ.จักรพันธ์ วิลาสินีกุล ซึ่งเคยเขียนบทวิเคราะห์
ข้อเขียนนี้ ซึ่งน่าจะเป็นการขยายมุมมองต่อการอ่านให้กว้างขึ้น
-------------------------------------------------------------------------->
บทวิเคราะห์
-------------------------------------------------------------------------->
ข้อเขียนของทิบอร์ คาลมาน อดีตบรรณาธิการวารสาร Colors ที่ยกมาข้างต้นนี้
มีจุดประสงค์ในการชี้แจงข้อกล่าวหาบางประการ ซึ่งผู้เขียนให้เหตุผลแก้ต่าง
สิ่งที่ตัวเองควรจะต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบมากกว่าที่เป็นอยู่
อย่างไรก็ดีคำชี้แจงของเขามีทัศนะเชิงวิจารณ์ต่อสื่อศิลปะภาพถ่ายอยู่มาก
ยิ่งกว่านั้นคำอธิบายของคนที่อยู่วงในก็ช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติของภาพถ่าย
และวิธีการทำงานของผู้ที่ใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อได้ชัดเจน ที่สำคัญที่สุดข้อเขียนนี้
สะท้อนทัศนคติของผู้ใช้สื่อดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ประเด็นสำคัญที่นำไปสู่บทวิจารณ์นี้ ได้แก่ข้อถกเถียงทางจริยธรรมจากการใช้
สื่อภาพถ่าย ซึ่งไม่เพียงแต่ศิลปะการออกแบบที่นำภาพถ่ายมาใช้เท่านั้นที่ก่อให้
เกิดประเด็นถกเถียงนี้ขึ้น ในวงการทัศนศิลป์ก็พบปัญหาในลักษณะที่ไม่ต่างกันนัก
ในท่ามกลางข้อขัดแย้งจากการถกเถียงนี้ บทบาทของนักวิจารณ์ที่จะเข้ามาเชื่อมโยง
ระหว่างผู้สร้างสรรค์กับผู้ชมจึงเป็นบทบาทอันสำคัญ ข้อเขียนของทิบอร์ คาลมาน
อาจช่วยให้ผู้ชมเข้าใจฝ่ายผู้สร้างสรรค์มากขึ้น แต่ก็ยังมีแง่มุมบางประการใน
บทวิจารณ์นี้ที่เราควรนำมาพิจารณาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน เป็นสิ่งที่น่าสนใจที่
นักวิจารณ์หลายท่านกล่าวถึงคุณลักษณะของภาพถ่ายที่นำไปสู่ปัญหาในทิศทาง
เดียวกัน ในบทวิจารณ์ชื่อ “กล้องถ่ายภาพไม่เคยโกหก (มาก)”
คีท มิลเลอร์ ให้ความเห็นว่า กล้องถ่ายภาพสามารถถ่ายทอดความจริงจาก
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้เพียงบางส่วน คุณลักษณ์ของภาพถ่ายจึงเป็นเพียง
“การอนุมานความจริง”เท่านั้น หาใช่ความจริงสมบูรณ์ไม่ และความสับสนในการ
ถือเอาการอนุมานความจริงไปเป็นความจริง จึงเป็นปมของปัญหาในศิลปะของภาพถ่าย
สิ่งที่คีท มิลเลอร์ ให้ความเห็นไว้ดูจะสอดคล้องไปในทางเดียวกันกับ
สิ่งที่ทิบอร์ คาลมาน เสนอในบทวิจารณ์นี้ แต่คาลมานเสนอความคิดที่ไปไกล
ถึงขั้นที่ปฏิเสธความเป็น “ภววิสัย” ของภาพถ่ายอย่างสิ้นเชิง
ทั้งยังเลยไปถึงการปฏิเสธความ “จริง” ของปรากฏการณืที่เคยเกิดขึ้น
ซึ่งกล้องถ่ายภาพได้บันทึกไว้ เมื่อเขากล่าวว่า “ช่วงเวลาดังกล่าวอาจถูกปรับเปลี่ยน
ได้มากพอๆ กับสิ่งอื่นๆ” การตอกย้ำว่าภาพถ่ายไม่เคยเป็นภววิสัยเลยนั้น นัยสำคัญก็คือ
ความพยายามที่จะสื่อความให้ผู้อ่านเห็นว่า “กล้องถ่ายภาพไม่เคยพูดความจริง”
หากมองในแง่ที่คาลมานอธิบายทั้งในแง่ของกระบวนการสร้าง การนำภาพถ่ายไปใช้
ในบริบทต่างๆ หรือการนำเอาเทคนิคอันทันสมัยทางคอมพิวเตอร์มาปรับแต่งภาพลักษณ์
ของภาพถ่ายได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วแล้ว เราก็คงเห็นตามนั้นโดยไม่มีข้อถกเถียงใดๆ
แต่หากเราทบทวนเรื่องนี้โดยนึกถึงสิ่งที่โรลองด์ บาร์ธส์ กล่าวถึงคุณลักษณ์ของภาพถ่าย
ว่า “ดูเหมือนจริงราวกับมีชีวิต” แล้วย้อนกลับมาพิจารณาภาพถ่ายที่ถูกใช้ในสื่อต่างๆ
ไม่ว่าจะอยู่ในบริบทใด หรือไม่ว่าจะด้วยกลวิธีปรับแต่งภาพอันวิเศษเพียงใดก็ตาม สิ่งที่
ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ ภาพถ่ายที่ถูกนำมาใช้หรือถูกปรุงแต่งนั้น ยังคงถูกนำมาใช้ให้
“ดูเหมือนจริง” อยู่ดีนั่นเอง มิฉะนั้นภาพถ่ายจะไม่อาจนำมาใช้การโฆษณาสินค้า
หรือรณรงค์ให้คนหันมามองปัญหาบางประการดังที่เบเนตองคาดหวังได้เลย
ไม่ว่าภาพถ่ายจะเป็นภววิสัยหรืออัตวิสัยก็ตาม สิ่งที่ภาพถ่ายโกหกก็ไม่เคยปกปิด
ความจริงได้มิดชิด

เราคงต้องยอมรับว่าในฐานะนักวิจารณ์ ข้อเขียนจองทิบอร์ คาลมาน สามารถอธิบาย
ให้เราเข้าใจธรรมชาติของภาพถ่าย และการใช้ภาพถ่ายในสื่อศิลปะออกแบบได้อย่าง
มีเหตุผลน่าเชื่อถือ ทั้งในคำอธิบายนี้เขาก็ยังวิพากษ์วิจารณ์วงการของตัวเอง
และวงการอื่นๆ ที่ใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อด้วยในขณะเดียวกัน แต่คำอธิบายต่อสาธารณะว่า
ภาพถ่ายพร้อมจะโกหกทุกเมื่อและผู้ชมควรจะตระหนักถึงความลวงนี้ ยังไม่อาจนับว่า
เป็นการแสดงความรับผิดชอบที่สมบูรณ์ในฐานะของสื่อ และวิถีทางนี้ก็ไม่ใช่
“วิถีทางที่ซื่อสัตย์ที่สุดวิธีเดียว” ที่เปิดไว้แก่สื่อ เพราะแทนที่นักวิจารณ์จะออกมา
เรียกร้องให้ผู้ชมมีสติในการรับรู้สิ่งที่สื่อถ่ายทอดมา ในทางตรงกันข้ามนักวิจารณ์
มีทางเลือกที่จะย้อนกลับไปอธิบายถึงคุณสมบัติของภาพถ่ายในลักษณะเดียวกันนี้
ให้ผู้สร้างสรรค์ตระหนักถึงความจริงที่ว่า ภาพถ่ายที่พวกเขาใช้สามารถสร้างความสับสน
หรือเบี่ยงเบนออกไปจากเป้าหมายที่เขาตั้งใจสื่อได้เสมอ นักวิจารณ์ควรจะเรียกร้อง
ให้ผู้สร้างสรรค์ตระหนักถึงความเสี่ยงอันละเอียดอ่อนในการใช้สื่อภาพถ่าย
เป็นความจริงที่ว่า เราไม่อาจออกกฏหมายที่ระบุว่า บรรณธิการหรือนักข่าวห้ามโกหก
และในบางทีความผิดทางจริยธรรมก็ไม่ใช่ความผิดทางกฏหมาย ดังนั้น แทนที่
นักวิจารณ์จะเรียกร้องต่อผู้ชมไม่ให้ตั้งอยู่บนความประมาท นักวิจารณ์สามรถชี้แจง
ด้วยเหตุผลเดียวกัน เพื่อเรียกร้องให้ผู้สร้างสรรค์ใช้วิจารณญาณต่อความเสี่ยงด้าน
จริยธรรมไปพร้อมกันกับการใช้ความสามารถด้านการสร้างสรรค์ของพวกเขาด้วย
ซึ่งการเรียกร้องในวิถีทางนี้ก็คือ ทางเลือกที่นักวิจารณ์จะแสดงถึงจริยธรรมที่ตัวเขา
เองมีออกมาเช่นกัน

ไม่ว่าทิบอร์ คาลมาน จะยืนอยู่บนบทบาทของนักวิจารณ์ ผู้สร้างสรรค์
หรือในฐานะของสื่อ และไม่ว่าการเรียกร้องของเขาจะเป็นไปในทิศทางใดก็ตาม
เหตุผลและคำอธิบายต่อศิลปะภาพถ่ายของเขาก็มีน้ำหนักเพียงพอที่จะกระตุ้นให้เรา
ตระหนักว่า โลกที่เต็มไปด้วยสื่อภาพถ่ายนี้พร้อมที่จะลวงเราได้เสมอ หากเราไม่ตั้งมั่น
อย่างมีสติและใช้วิจารณญาณไตร่ตรองเสียก่อน ในแง่นี้บทวิจารณ์นี้จึงสามารถกระตุ้น
ทางปัญญาได้ และมีค่าแก่การศึกษาอย่างยิ่ง
-------------------------------------------------------------------------->
จักรพันธ์ วิลาสินีกุล : ผู้วิเคราะห์
-------------------------------------------------------------------------->
ข้อคิดเห็น :

ดูเหมือนการจะสรุปว่าภาพถ่ายเป็นภววิสัยหรืออัตวิสัย จะน่าสนใจน้อยกว่า
การกลับมาสำรวจตนเองในฐานะนักออกแบบสื่อสาร ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ภาพ
การปรับเปลี่ยนและตกแต่งภาพ และการคัดเลือกภาพ ว่าในการทำงานเราเองมีความพยายาม
ที่จะพิจารณาภาพที่เราสร้างสรรค์ ตกแต่ง หรือเลือกสรร มากน้อยเพียงใด
เพราะถ้าในฐานะผู้สร้างสรรค์ไม่เท่าทันภาพที่ใช้เสียเอง จะคาดหวังอะไรได้อีก...

No comments: