December 17, 2007

| Hello! Is anybody there? |


^ หน้าปก ฉบับภาษาอังกฤษ

^ หน้าปก ฉบับภาษาไทย
---
หนังสือเล่มเล็กๆ ที่ผมประทับใจในช่วงหลายปีมานี้ มีชื่อแปลเป็นไทยว่า “สวัสดีชาวโลก” หรือ “Hello! Is anybody there?”
ผลงานของโยสไตน์ กอร์เดอร์ แปลโดย วิลาวัณย์ ฤดีศานต์ หลายๆ คนคงรู้จักกอร์เดอร์จากหนังสือเรื่อง “โลกของโซฟี” แล้วนะครับ
---
สวัสดีชาวโลกเป็นเรื่องราวจากจดหมายหรือข้อเขียนฉบับหนึ่งที่ลุงโจเขียนให้กับคามิลลา หลานของเขาอ่าน
เกี่ยวกับจินตนาการหรือประสบการณ์ของเด็กชายโจ ระหว่างกำลังรอเวลาที่น้องชายหรือน้องสาวกำลังจะกำเนิดมาบนโลกใบนี้
---
เด็กชายต้องอยู่บ้านคนเดียงขณะที่พ่อต้องพาแม่ไปคลอดน้องของเขาที่โรงพยาบาล และระหว่างที่อยู่บ้านตามลำพังนั้นเอง
ที่โจได้พบกับมิกะ เด็กชายผู้ไม่มีสะดือที่มาจากดวงดาวซึ่งมีแรงดึงดูดมากกว่าโลกของเรา

// ความน่ารักและแง่คิดดีๆ ถูกสอกแทรกไว้ในบทสนทนาของเด็กชายทั้งสอง ผมได้ตระหนักถึงความเหมือน ความแตกต่าง
ได้หยุดสังเกตความพิเศษของสิ่งต่างๆ ที่เราไม่เคยมองเห็น เกิดความอิ่มเอมทางความรู้สึก และเป็นอีกครั้งที่ได้รับความสุขจากการอ่าน //
---
โจยื่นผลแอปเปิ้ลให้มิกะ ก่อนจะถามว่า “เธอชอบไหม?”
มิกะไม่ตอบ แต่โค้งคำนับลงต่ำ...
“รสชาติมันเป็นอย่างไรเหรอ” โจถามต่อด้วยความอยากรู้
มิกะคำนับอีกครั้ง... โจรู้สึกสงสัยจนต้องถามถึงเหตุผลในการคำนับของมิกะ
---
มิกะอธิบายถึงดวงดาวที่เขาจากมาว่า ผู้คนที่นั่นจะคำนับถ้ามีใครถามคำถามที่น่าสนใจ และยิ่งเป็นคำถามที่ลึกซึ้งมากเท่าไหร่
ก็จะยิ่งคำนับต่ำลงมากขึ้นอีก คนบนดาวดวงนั้นจึงพยายามคิดหาคำถามดีๆ มาถามตอนทักทายกัน...

มิกะอธิบายว่า เมื่อเราถามคำถาม นั่นเป็นการสร้างหนทาง ขณะที่การตอบนั้นไม่ใช่ นั่นก็เพราะคำตอบคือถนนที่ทอดยาวอยู่เบื้องหลังเราเสมอ
มีเพียงคำถามเท่านั้นที่เปิดเส้นทางไปสู่หนทางข้างหน้า... (แต่โจก็ยังคำนับให้กับคำตอบของมิกะอยู่ดี)

//ผมเลยเล่าบทสนทนาเกี่ยวกับคำถาม-คำตอบระหว่างโจกับมิกะให้นักศึกษาในชั้นเรียนฟัง เพราะเด็กๆ ไม่ค่อยชอบถาม (โดยเฉพาะในชั้นเรียน)
แต่จะกรูเข้ามาถามตอนเลิกชั้นเรียน ผมว่าการถาม (บนดาวของเรา) ไม่ได้เป็นการแสดงออกแค่การไม่รู้หรือไม่เข้าใจเท่านั้น
คนถามก็ไม่ได้เป็นคนโง่ คนตอบก็ไม่ได้แสดงว่าฉลาดกว่า การตั้งคำถาม ข้อสังเกตมากมายที่ทำให้เกิดการค้นพบใหม่ๆ...//
---
“ข้อดีของการเดินทางไปเยือนดาวเคราะห์แปลกๆ ก็คือ มันทำให้เธอเข้าใจดาวของเธอดีขึ้นอีกนิดหน่อย
เธอจะเห็นว่าดาวเคราะห์ทุกดวงมีข้อดีและข้อเสียของมันเอง”

// ประโยคนี้ของมิกะทำให้ผมนึกถึงเวลาเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ (อย่าเข้าใจผิดว่าผมโอ่ว่าไปเมืองนอกบ่อยนะครับ นานๆ มีโอกาสซักที)
พอกลับมาก็มักมาเล่าให้คนรอบข้างว่าต่างบ้านต่างเมืองที่ไปเห็นมาเป็นอย่างไรบ้าง แต่สุดท้ายก็จบด้วยคำพูดที่ว่า “ไม่มีที่ไหนสบายกว่าบ้านเรา”
ซึ่งคำพูดนี้คงไม่หลุดออกจากปากใครถ้าคนๆ นั้นไม่ได้ห่างบ้านไปซักพัก หลายคนไม่เคยขึ้นไปบนดาดฟ้าของบ้านหลังตรงข้าม
แล้วมองกลับมาที่บ้านของเรา เพื่อจะได้พบว่า... อืมม์... บ้านของเราก็น่าอยู่เหมือนกันแฮะ..

การได้อยู่ห่างจากคนที่รักและใกล้ชิดบ้าง ก็ทำให้เราได้มีเวลาในการนั่งคิดถึงสิ่งดีๆ ที่มีร่วมกัน การใช้เวลาร่วมกันอย่างใกล้ชิดและเนิ่นนานโดยไม่เว้นวรรค
ก็อาจทำให้เราเห็นแต่ภาพครึ่งตัวของคนที่เรารัก ไม่ค่อยได้เห็นภาพเต็มตัวกันซักเท่าไหร่ //
---
โจเรียนรู้จากมิกะว่า ไม่มีอะไรที่ธรรมดา บางครั้งคนเราก็พูดถึง “วันธรรมดา” แต่จริงๆ แล้วก็ไม่มีวัน 2 วันที่เหมือนกัน
แล้วเราก็ไม่รู้ว่ามี “วัน” มากมายแค่ไหนในชีวิตเราที่ถูกทิ้งไปเปล่าๆ และสิ่งที่แย่ไปกว่า “วันธรรมดา” ก็คือการพูดถึง
“เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงธรรมดา” เพราะเรามักใช้คำนี้เวลาที่เราไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องรู้จักใครอย่างลึกซึ้ง...

// ขณะที่ผมตื่น... มีสิ่งต่างๆ ผ่านเข้ามาในชีวิต และทุกคืนขณะที่หลับก็อาจจะลืมสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไป บางทีที่เราฝันอาจเป็นเพราะ
สมองพยายามเอาเหตุการณ์ในลิ้นชักอื่นๆ มาเติมเต็มช่องว่างของเหตุการณ์ที่เราลืมขณะหลับ พอตื่นขึ้นมาเราก็ลืมสิ่งที่ฝันอย่างรวดเร็ว
เพื่อให้มีที่ว่างอีกครั้งสำหรับสิ่งที่กำลังจะผ่านเข้ามา
---
ในตอนท้ายของหนังสือเล่มนี้ ลุงโจได้บอกหลานคามิลลาว่า “การจดจำความฝันเกือบเป็นเรื่องยากพอๆ กับการจับนกไว้ในมือ...
แต่บางทีมันกลับเหมือนนกที่บินมาเกาะไหล่ของเราตามความต้องการของมันเอง”

// ทุกวันนี้ผมไม่ค่อยฝัน... แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า คืนที่เราไม่ได้ฝันจะเป็นแค่คืนธรรมดาๆ คืนหนึ่งเท่านั้น...

2 comments:

natas,, said...

ขออนุญาตินำบทความนี้ไปลงบลอคผมนะอาจารย์

Min said...

อ่านแล้วประทับใจอย่างบอกไม่ถูก ทั้งเรื่องคำถามและเรื่องความฝัน รวมทั้งการจดจำความฝัน

ไว้จะต้องไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านบ้างแล้ว :)