July 31, 2008

| Gra+Fiction News 3 / August 08 : “Yes, We are Not” |


นิทรรศการ “Yes We are Not”
โดย สันติ ลอรัชวี
จัดแสดง ณ แกรนด์ ฮอลล์ ชั้น 1 สยาม ดิสคัพเวอรี่
ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 23 ส.ค. - 31 ส.ค. 2551


เป็นหนึ่งกิจกรรมในโครงการ Eco Projects ที่ร่วมมือกันระหว่างสยาม ดิสคัพเวอรี่กับนักออกแบบ
โดยนิทรรศการ “Yes We are Not” ของ สันติ ลอรัชวี เป็นงาน Graphic Installation ที่ต่อเนื่องมาจากนิทรรศการ “Yes, I am Not ”
ที่เพิ่งจัดแสดงที่หอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 โดยแนวคิดของนิทรรศการครั้งนี้จะหันมานำเสนอประเด็นที่เป็นสาธารณะ
โดยสะท้อนให้เห็นถึงการนำก้อนกระดาษหนังสือพิมพ์มาสร้างเป็นงานศิลปะผ่านรูปแบบแผนที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งนอกเหนือจากประเด็นเรื่องวัสดุแล้วตัวงานเองยังตั้งคำถามกลับไปสู่ผู้ชมให้ตระหนักถึงบทบาทของตนเอง
ไม่ว่าจะเป็นบทบาทที่เป็นส่วนรวมและส่วนบุคคล ซึ่งนำเสนอด้วยการจัดวางในพื้นที่ที่สามารถสื่อสารกับผู้คนได้หลายลักษณะการมองเห็น
ผู้ชมสามารถชมผลงานได้ตั้งแต่การเข้าไปมองระยะประชิดจนกระทั่งมองเห็นภาพรวมของผลงานจากชั้นบนสุดของศูนย์การค้า
โดยจะมีการกำหนดจุดชมผลงานในแต่ละชั้นของสยาม ดิสคัพเวอรี่

ขอเชิญร่วมพิธีเปิดนิทรรศการ
วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม 2551 เวลา 18.00 น.
ณ แกรนด์ ฮอลล์ ชั้น 1 สยาม ดิสคัพเวอรี่

| Wallpaper Magazine : Thai Edition / June 2008 |

| Interviewed with a day |


บทสัมภาษณ์ในนิตยสาร a day
ฉบับเดือนกรกฎาคม 2551 หน้า 67
เรื่อง > จิราภรณ์ วิหวา
ภาพ > ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ในยุคที่ทุกความจริงหนึ่งถูกอีกความจริงหนึ่งแทนที่ตลอดเวลา
นักออกแบบคนหนึ่งจึงสะท้อนความจริง (ที่ยังจริงอยู่) นี้ออกมา ด้วยนิทรรศการศิลปะ
ที่ใช้วัตถุดิบเป็นหนังสือพิมพ์จำนวน 3 ตัน!

ไม่ อาจ จะ ใช่ คือชื่อนิทรรศการศิลปะของ สันติ ลอรัชวี ที่สามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ 2 แบบ
ไม่, อาจจะใช่ กับ ไม่อาจจะใช่
ในความต่างเพียงการเว้นวรรค ชุดคำนี้ผลิตความหมายคนละขั้วฝั่ง สะท้อนบริบทในสังคมที่ย้อนแย้งกันเต็มความหมาย
และสื่อสารความนึกคิดบางอย่างของนักออกแบบคนนี้ร่วมกับพื้นที่ว่างใน BUG gallery และหนังสือพิมพ์อีก 3 ตัน

“โลกทุกวันนี้เป็นโลกของข่าวสาร เราต้องปะทะกับชุดข้อมูลหลายๆ ชุด พร้อมกันทุกวัน จนท้ายที่สุดแล้ว
เราตอบไม่ได้ว่าชุดข้อมูลไหนคือความจริง” สันติเริ่มต้นเล่าถึงคอนเซปต์งานชิ้นนี้อย่างย่นย่อ
พลางหยิบชิ้นตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ตัดทำจากกระดาษหนังสือพิมพ์ซ้อนกันมาจัดวางเป็นชื่อนิทรรศการ yes I am not
“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราจะพบว่ารูปแบบของสารที่เข้ามาปะทะกับเรา มันหลายมิติ หลายขั้วมาก เอาให้ชัดก็เช่นว่า
การเกิดขึ้นของรายการประเภทคุยสดแล้วมีคู่กรณี ผมรู้สึกว่ามันปะทะกับผมมาก คู่กรณี ก. กับ ข. ที่มีเรื่องพิพาทกันอยู่
มีพิธีกรที่เผ็ดร้อนหน่อยคอยดำเนินการโต้แย้ง และเราในฐานะผู้ชมก็คอยตัดสินว่าใครถูกหรือใครผิด แต่ทุกครั้งที่ผมดู
รายการประเภทนี้จบ ผมจะไม่สามารถสรุปอะไรได้แล้วปิดโทรทัศน์ด้วยความรู้สึกงุนงงว่าความจริงคืออะไร
เพราะ ก. และ ข. มีความจริงคนละข้อ แล้วเรายิ่งเห็นเรื่องนี้ชัดมากในทางการเมือง หนังสือพิมพ์ 2 เล่ม ทีวี 2 ช่อง
พูดไม่เหมือนกัน ทุกอย่างล้วนเป็นอัตวิสัยหมด บางครั้งเรารู้ความจริงจาก information ด้านหนึ่ง แต่พรุ่งนี้ความจริง
จะถูกลบล้างออกโดย information อีกชุด ความจริงเป็นของชั่วคราวมากในช่วงเวลานี้” สันติอธิบายสถานการณ์ที่เขาตระหนัก
ได้อย่างเป็นช่องเป็นฉากก่อนจะสรุปให้เห็นภาพด้วยวัฏจักรว่า
‘รับข้อมูล เกิดความคิด เกิดการกระทำ เกิดการหักล้าง เกิดการรับข้อมูลใหม่’ วนเวียนไปเรื่อยๆ

“ผมพยายามไม่สื่อสารแต่จำลองสถานการณ์ของวัฏจักรนี้ออกมา” สันติพูดถึงตัวงานที่จัดวางตัวอักษรจากหนังสือพิมพ์กว่า 3 ตัน
ลงบนพื้นที่ให้เกิดเป็นชุดคำและความหมาย และอาศัยหนังสือพิมพ์เป็นสัญลักษณ์ของความจริงในสังคม “เหมือนผมพยายามยัดข้อมูลให้
แต่ไม่ได้ยัดเยียดว่าจะต้องคิดอย่างไร แต่อาจจะมีบางคนที่เห็นด้วยกับผมว่า เราจับต้นชนปลายอะไรไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่มีข้อมูลกองอยู่เต็มพื้น”

สันติบอกว่า งานชิ้นนี้ออกจะแตกต่างจากงานออกแบบส่วนใหญ่ที่เขาเคยทำในสังกัด Practical Studio ซึ่งมีปัจจัยหลักคือโจทย์และลูกค้า
แต่นั่นไม่ได้แปลว่านิทรรศการนี้จะอยู่นอกเหนือไปจากสิ่งที่นักออกแบบควรทำ เพราะพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรม ไม่ควรจำกัดอยู่แค่คนที่ได้ชื่อว่า“ศิลปิน”

“ผมเชื่อว่านักออกแบบไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงานตามโจทย์หรืองานเชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่มันเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต ถ้าประเด็นนี้ถูกเข้าใจ
ทัศนคติทางการออกแบบก็จะเปลี่ยนไป เราจะไม่มีนักศึกษาที่นั่งดูแต่หนังสือกราฟิกดีไซน์ เราจะไม่เห็นนักออกแบบที่ขลุกพูดคุยกันแต่เรื่อง
การออกแบบ แต่รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวทางสังคม เปิดกว้างต่อศาสตร์อื่นๆ วัตถุดิบ หรือ inspiration ของนักออกแบบไม่ได้จำกัดอยู่ใน
หนังสือเมืองนอก ไม่ใช่ว่าทำงานกราฟิกก็ต้องดูงานกราฟิก ทำงานสถาปัตย์ก็ต้องดูตึก คนทำงานกราฟิกก็ไปดูตึก
คนออกแบบตึกก็ไปอ่านวรรณกรรม มันก็จะเชื่อมโยงกัน ถ้าทำอย่างนี้ได้ คำว่า inspiration หรือวัตถุดิบทางความคิดของเราจะกว้าง
หลากหลาย แล้ววันหนึ่งคำว่านักออกแบบก็จะกว้างขึ้นและทำให้ทัศนคติที่มีต่อนักออกแบบกับงานพาณิชย์มันเล็กลง ไม่ได้ปฏิเสธนะครับ
ผมเห็นด้วยว่าการพาณิชย์มีความสำคัญต่อวงการออกแบบสูงมาก แต่ว่ามันไม่ใช่ทั้งหมด” สันติตอบข้อถามเรื่องงานศิลปะและ
งานเชิงพาณิชย์ ก่อนจะโยงมาถึงหน้าที่ที่เขารับผิดชอบในฐานะอาจารย์พิเศษ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ว่าหากภาพที่เขาวาดไว้เป็นจริงขึ้นมาได้ เด็กรุ่นใหม่ๆ ก็จะเห็นว่าภาพของการทำงานออกแบบไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียว
ที่จะต้องต่อรองกับลูกค้าในเชิงพาณิชย์

“การเข้ามาเป็นอาจารย์ทำให้ผมโตเร็วมากขึ้น” นักออกแบบเจ้าของ Practical Studio เริ่มต้นเลกเชอร์ด้วยรอยยิ้ม
“ความรับผิดชอบต่อตัวเองต่อสิ่งที่พูด ต่อสิ่งที่ทำต้องสูงขึ้น เพราะเราไม่สามารถสอนบางสิ่งให้เด็กได้ถ้าเราเองยังทำสิ่งนั้นอยู่
ผมว่าช่วงเวลาที่เป็นอาจารย์เป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับผม เพราะทำให้ใจและทัศนคติกว้างมากขึ้น กับเด็กเอง เราต้องรู้จักฟังมากขึ้น
เพราะบางครั้งมันมีอะไรน่าสนใจอยู่เสมอ ผมถึงบอกเด็กว่า ถ้าไม่ตั้งใจเรียนเสียเปรียบผมนะ ผมคิดว่าคนสอนได้มากกว่าคนเรียน
เพราะว่าคนสอนต้อง push ตัวเองอย่างหนัก ห้องนึงมีเด็ก 20 คน อาจารย์คนเดียว นั่นคือการฝนอาจารย์ให้แหลมคมมาก”

เมื่อถูกถามว่า นักเรียนของเขาจะเข้าใจสิ่งที่เขาบอกหรือไม่ในช่วงวัยเท่านี้ เขาเชื่อว่าใช่ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะท้ายที่สุดแล้ว
เด็กทุกคนต้อง ‘ลอง’ ใช้ชีวิตและเข้าใจทุกอย่างด้วยตัวเอง เหมือนเขาที่ผ่านทั้งการเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ไฟแรงที่สนุกกับงาน
เป็นเจ้าของบริษัทออกแบบตามพิมพ์นิยม รับงานเป็นฟรีแลนซ์มืออาชีพแต่ไร้แรงขับในชีวิต จนมาถึงวันที่รู้ว่างานออกแบบที่ดี
ควรมีวัตถุดิบเป็นอะไร

“การปะติดปะต่อประสบการณ์ด้วยกรอบสายตาแบบนักออกแบบ” เขาตอบ

July 28, 2008

|Gra+Fiction News 2 / July 08: “Plus Equal”|


3-4 เดือนที่ผ่านมา ผมและนักออกแบบใน Practical Studio ได้มีโอกาสเข้าร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะกับกลุ่มสำนึกสู่สังคม(Nuts Society)
ในโครงการอาร์ตเอดส์และเทศกาลศิลปะร่วมสมัย “ใจเขาใจเรา: ศิลปะแห่งการอยู่ร่วมกัน” ที่สนับสนุนโดย Art Aids Fund และ
ศูนย์ประสานความร่วมมือระหว่างไทย ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ เพื่อ การศึกษาวิจัยทางคลินิกด้านโรคเอดส์ (ฮีฟแนท) ศูนย์วิจัยโรคเอดส์
สภากาชาดไทย โดยพยายามสร้างความตระหนักถึงประเด็นเรื่องโรคเอดส์และจิตสํานึก ของการอยู่ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีในสังคมไทย
นําเสนอแนวคิดผ่าน ผลงานศิลปะร่วมสมัย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการ ยอมรับและการให้โอกาสในการอยู่ร่วม สังคมเดียวกันตลอดจนพยายาม
เปลี่ยน ทัศนคติ ของความเป็นอื่นและมุมมองแง่ลบต่อโรคนี้ ด้วยวิธีคิดของการเอาใจเขามาใส่ใจเราถ่ายทอดออกมาผ่านงานศิลปะหลากหลาย
รูปแบบ โดยมีศิลปินเข้าร่วมทั้งสิ้น 16 คน/กลุ่ม และจัดแสดงหลายสถานที่ในช่วงเวลาเดียวกัน

การรวมกลุ่มของ “นัทส์ โซไซตี้และแพรคทิเคิล สตูดิโอ” (ชื่อที่ใช้ในนิทรรศการนี้) เป็นการทำงานแบบผสมผสานกันระหว่างงานออกแบบกราฟิก
กับบริบททางนิทรรศการศิลปะ ที่แฝงแง่คิด กระตุ้นเตือนสำนึกทางสังคม (ซึ่งเป็นแนวทางหลักของนัทส์ โซไซตี้) ซึ่งการเข้ามาร่วมทำงานของ
Practical Studio ที่ทำงานด้านการออกแบบเชิงอัตลักษณ์อยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงทำให้รูปแบบของงานน่าสนใจและแตกต่างออกไป

ฉัตรติยา นิตย์ผลประเสริฐ คิวเรเตอร์ของนิทรรศการกล่าวถึงกลุ่มในหนังสือของโครงการไว้ว่า “ผลงาน “Plus Equal” ที่จัดแสดง เกิดจากการ
ทำงานร่วมกันระหว่างศิลปินกับผู้ติดเชื้อออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ เสมือนเป็นจุดนัดพบที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมและผู้ติดเชื้อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน
ผ่านรูปแบบของร้านจำหน่ายสินค้า เพื่อทำความเข้าใจและหยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้แก่กัน”

“MORE TO LOVE - The Art of Living together”
24 กรกฎาคม - 15 สิงหาคม 2551

ผลงานในรูปแบบ Installation :
หอศิลป์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์
(PSG Art Gallery ) มหาวิทยาลัยศิลปากร
มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ

ผลงานในรูปแบบร้านจัดจำหน่าย :
หอศิลปวิทยนิทรรศน์ ชั้น 7 สถาบันวิทยบริการ (หอสมุดกลาง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

July 20, 2008

| Review from Manifah |



พอดีได้ไปอ่านบทวิจารณ์ใน http://manifah.multiply.com ที่เขียนถึงนิทรรศการ “ไม่ อาจ จะ ใช่”
ขออนุญาตนำมาโพสต์โดยผมเองไม่ทราบว่าผู้เขียนเป็นใคร ถ้าทราบภายหลังจะนำเครดิตมาลงให้นะครับ
แต่ต้องขอขอบคุณมากๆ ที่ให้มุมมองสะท้อนกลับมาด้วยครับ / ขอบคุณครับ

---------->
หากพูดถึงโลกแห่งการสื่อสารปัจจุบันนี้ คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงกระแสโลกาภิวัฒน์ ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่การคิดค้นอินเตอร์เนท
เครื่อข่ายโยงใยการสื่อสารทั่วทั้งโลกเข้าด้วยกัน จากการพัฒนาระบบสารสนเทศ ก่อให้เกิดผลกระทบ อย่างรวดเร็วมหาศาลต่อ เศรฐกิจ
การเมือง สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมภายใต้สังคมทุนนิยม การถ่ายทอดวัฒนธรรมจึงกลายเป็นผลพวงทำให้เกือบทุกชาติรับวัฒนธรรมตะวันตก
ความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่นี้สร้างกระแสของการมีเสรีภาพในการเลือกบริโภค ข้อมูลข่าวสารที่โถมเข้ามาอย่างพรั่งพรู

งานศิลปะบ้านเรานับร้อยเป็นงานน่าสนใจ แต่จะมีสักกี่งานที่สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตและสะท้อนความเป็นอยู่ในโลกปัจจุบัน
ณ วันนี้เรารับอิทธิพลความคิดแบบตะวันตก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เราสามารถรับข่าวสารได้อย่างง่ายดาย
แต่ความง่ายดายนั้นเราเคยคืดหรือไม่ว่า มันได้ทำลายโสตประสาทโดยที่เราไม่เคยรู้ตัวเลย “YES I AM NOT” (ไม่ อาจ จะ ใช่) โดย สันติ ลอรัชวี
อาจารย์พิเศษ นักออกแบบกราฟิกภายใต้กลุ่ม Practical Studio และครั้งแรกของบทบาทศิลปิน การรวบรวมสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตโดยกระบวนการ
die-cut กว่า1000ตัวอักษร ถ่ายทอดมุมมองการบริโภคสื่อที่ถูกปรุงแต่งตามกระแสโลกาภิวัฒน์ เป็นการตั้งคำถามกับตัวเองและสังคม
เพื่อแสวงหาความจริงของกระบวนการเสพข้อมูลในโลกปัจจุบัน

ภายในนิทรรศการทั้งสองห้อง ตัวหนังสือถูกตัดออกทั้งในรูปแบบ positive และnegative จัดเรียงทั่วห้อง เมื่อก้าวเข้าห้องแรก เสมือนเป็นการเข้าสู่
โลกของความเป็นจริง เราหลงอยู่ในความมืดเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่ไม่สามารถจับต้องได้ ตัวหนังสือในห้องนี้บางคำอ่านออก
บางคำไม่มีความหมายที่ศิลปินจัดเรียงด้วยอารมณ์ขัน เพียงแต่จำต้องเลือกรับรู้ในสาระสำคัญ ในขณะเดียวกันแสงสว่างตรงกลางห้องนั้น
ทำให้รู้สึกใจชื้นว่าเราสามารถรับรู้บางสิ่งในห้องนี้ได้ การฉายภาพแบบ random กลับหัวไปมาไม่ซ้ำกัน ด้วยความเร็วในการเปลี่ยนภาพนั้น
ไม่ได้ช่วยให้เข้าใจข้อมูลใดๆ หากแต่สามารถรับรู้ได้เพียงความสวยงามของการจัดแต่งตัวอักษร เหลือเพียงความเข้าใจว่าในโลกนี้มีสารมากมาย
แต่เรากำลังหลงอยู่ในโลกของมัน

ห้องที่สองเสมือนการคลี่คลายในสิ่งที่ทั้งตัวศิลปินและผู้ชมเกิดความสงสัย กองตัวหนังสือถูกเรียงเป็นประโยคไปทั่วห้อง ทำให้ต้องค่อยๆอ่าน
ในสิ่งที่ศิลปินพยายามสื่อ ไม่ต่างอะไรกับการใช้วิจารณญาณในการเสพข่าวสาร ใช่ มันคือมุมมองความคิดใต้จิตสำนึกของศิลปิน
ความหลากหลายในการจัดวางตัวอักษร มีระดับสูงต่ำบวกอารมณ์ขันในข้อความของศิลปินที่ทำให้เราไหลไปตามพื้นที่ห้องจัดแสดงจนจบ
ทำให้เก็บไปคิดว่า จริงหรือที่เราได้ถูกรุกรานทางความคิดจากสื่อพวกนั้น? อย่างนี้ถือเป็นการยอมรับในสิ่งที่เป็นอยู่ หรือเป็นการต่อต้านกันแน่?

ไม่ว่าจะใช้ภาษาใดก็ไม่ต่าง เนื่องจากภาษาเป็นเพียงสัญลักษณ์แทนสิ่งที่เราต้องการสื่อให้คนอื่นเข้าใจ ในโลกไร้พรมแดนนี้ เราใช้ภาษาอังกฤษ
สื่อสารกันในปัจจุบัน ความจริงแล้วความน่าสนใจของงานไม่ได้อยู่ที่ภาพที่เราเห็น มันคือกระบวนการทางความคิดสดใหม่ และมุมมองอิสระของ
ศิลปินที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ได้อย่างชัดเจน เห็นได้จากภาพในโปรเจคเตอร์ที่ปรากฎในห้องแรก มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นสดๆในห้องที่สอง
การสื่อความหมายแบบตรงไปตรงมาผ่านสื่อที่เรารับรู้ได้ Lawrence Weiner กล่าวว่า "ART IS NOT A METAPHOR UPON THE RELATIONSHIP
OF HUMAN BEINGS TO OBJECTS & OBJECTS TO OBJECTS IN RELATION TO HUMAN BEINGS BUT A REPRESENTATION OF AN
EMPIRICAL EXISTING FACT," "IT DOES NOT TELL THE POTENTIAL & CAPABILITIES OF AN OBJECT (MATERIAL) BUT PRESENTS A
REALITY CONCERNING THAT RELATIONSHIP." ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ต่างก็มีหน้าที่ในตัวมันเองอย่างน่าสนใจ สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นไป
ของโลกนี้กับศิลปิน หรือแม้แต่ผู้ชมเองก็ตาม

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า สื่อในโลกปัจจุบันให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีการผลิต และแข่งขันกันเพื่อการแย่งชิงกลุ่มลูกค้าจนขาดความเป็นกลาง
โดยไม่สนใจว่าข้อความถูกนำเสนออย่างไร ผู้รับสื่อก็พยายามบริโภคสื่อเพื่อทันโลก ทันเหตุการณ์ สุดท้ายแล้วก็ตกเป็นเครื่องมือที่ใช้เป็นหนทาง
แสวงหากำไรของสื่อ นี่เป็นตัวอย่างของการบริโภคสื่อ โดยเริ่มต้นมองจากตัวเอง และตั้งคำถามขึ้นเพื่อการรู้เท่าทันสื่อ ผลงานภายใต้แนวทาง
Communication Revolution นี้ แสดงให้เห็นถึงความอิสระในการออกความคิดเห็นในสังคมประชาธิไตย กระตุ้นให้ตื่นตัวกับปัญหาที่เกิดขึ้น
ในสังคม แม้เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นจากกลุ่มเล็กๆ ก็สามารถแผ่ขยายแนวความคิดออกในวงกว้างได้ไม่ช้าก็เร็ว

การจัดแสดงงานในพื้นที่จำกัดของแกเลอรี่ ทำให้ความน่าสนใจของงานถูกเสพจากกลุ่มคนเฉพาะกลุ่ม อาจยังไม่เติมเต็มในแก่นสำคัญของเนื้อหา
เป็นการขัดแย้งต่อจุดมุ่งหมายของการสื่อสารในโลกปัจจุบันหรือไม่ งานที่น่าสนใจและน่าติดตามต่อเช่นนี้ มีความหวังอย่างยิ่งที่จะปรากฏ
และมีปฏิสัมพันธ์ต่อสารธณชน เพื่อเพิ่มคุณค่าของงานศิลปะ สามารถเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขปัญหาสังคมต่อไปในอนาคต.

July 14, 2008

| Gra+Fiction News 1 / July 08 : “How do you do? Cultural Seminar” |

ขอแนะนำ Gra+Fiction News ที่พยายามจะนำเสนอข่าวคราวกิจกรรมต่างทางด้านศิลปะและการออกแบบ
รวมไปถึงกิจกรรมทางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ และเพื่อเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงในการเผยแพร่
และในฐานะที่เป็นคนชอบทำกิจกรรม จึงอยากสนับสนุนคนทำกิจกรรมได้มีกำลังใจในการสร้างสรรค์ต่อไปครับ
สำหรับผู้ที่มีกิจกรรมดีๆ ก็ฝากข่าวมาประชาสัมพันธ์ได้นะครับ ยินดีอย่างยิ่งครับ



หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตทิต สาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม สหสาขาวิชานานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กำลังจะมีสัมมนาวิชาการเชิงเปรียบเทียบ และนำเสนอข้อคิดเห็นที่ชื่อว่า How Do You Do ?
ที่ต้องการเชิญชวนทุกคนมามีส่วนร่วมในการมองอะไร และมองอย่างไร เกี่ยวกับการตีความทางวัฒนธรรม (Interpretation)
และการจัดการทางวัฒนธรรม (Cultural Management) ระหว่างสองประเทศ คือ ประเทศไทยและประเทศอังกฤษ
โดยยกกรณีศึกษาจากองค์กรทางวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ อาทิ York Castle museum, Museum Siam,
บ้านพิพิธภัณฑ์, Madam Tuso, The Joe Louis Theater และ Shakespeare's Globe Theatre

การสัมมนาในครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก มรว.จักรรถ จิตรพงศ์ ผู้มีความรู้ และความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการศิลปวัฒนธรรมมาร่วมเป็นวิทยากรพิเศษในการบรรยาย และแลกเปลี่ยนแนวความคิด อันจะนำมาซึ่งการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวทางวัฒนธรรม
และการเผยแผ่ความรู้ในเชิงวิชาการด้านการพัฒนา และปรับปรุงการบริหารจัดการองค์กรทางวัฒนธรรมในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

" How ดู You ดู? " จะจัดขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคม 2551 เวลา 13.00 – 17.00 นาฬิกา ณ ห้องออดิทอเรี่ยม ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ชั้น 6 ศูนย์การค้าดิเอมโพเรียม

สนใจฟังอะไร ดูอะไร มองอย่างไร และสอบถามอะไรเพิ่มเติมได้ที่
: www.artibest.com หรือ macm8.seminar@gmail.com
สามารถลงทะเบียนเข้าฟัง(ฟรี) ได้ที่ด้านหน้างานเวลา 12.00 น. หรือสำรองที่นั่งได้ที่อีเมลล์ด้านบนได้เลย **

อย่าลืมแวะไปแลกเปลี่ยนและร่วมกิจกรรมที่น่าสนับสนุนให้มีกันมากๆ
ส่วนผู้เสพก็ต้องขยันไปร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่จัดกิจกรรมไม่ท้อกันไปซะก่อน ^_^

July 12, 2008

| Yes, I am Not : Opening Ceremony |



ในที่สุดก็เปิดนิทรรศการที่เตรียมตัวมาด้วยความเรียบร้อย เมื่อช่วงเย็นของวันเสาร์ที่ 5 ก.ค.2551
ท่ามกลางผู้ที่ให้เกียรติมาร่วมงานมากมาย โดยมีคุณประชา สุวีรานนท์ ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน
หลังจากเริ่มตั้งสติได้แล้ว เลยขอนำภาพของวันนั้นมาให้ชมกันครับ
สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้มาชม อย่าลืมมาชมนะครับ นิทรรศการยังจัดแสดงถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้ครับ





























นิทรรศการครั้งนี้เกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดผู้คนรอบข้างที่ให้ความช่วยเหลืออย่างมาก
ผมอยากจะขอบคุณมากๆ อีกครั้งในที่นี้อีกครั้ง
- เริ่มจากทางหอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่ให้โอกาส
- อ.แตน,อ.เก่ง,อ.บอลล์,อ.ธเนศ,อ.นิพันธ์,อ.โอเล่ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
- น้องเบล,น้องนัท,น้องกวง,หมูเล็ก ลูกศิษย์และเพื่อนร่วมงานของผมที่ Practical Studio ที่ร่วมแรงร่วมใจอย่างมาก
ในการต่อสู้กับหลากหลายบทบาทที่พวกเราพยายามทำกันอยู่ ทั้งนิทรรศการนี้,นิทรรศการอื่นและงานออกแบบประจำของเรา
- คุณแวว,คุณหมี่,คุณหน่อย จากบริษัทแอนทาลิส (ประเทศไทย)ที่สนับสนุนกระดาษจำนวนมากมายสำหรับงานนี้
วงการออกแบบยังต้องการผู้สนับสนุนที่เห็นคุณค่าของนักออกแบบเช่นนี้ครับ
(ผมซึ้งคำที่ว่า..."ถ้าไม่พอบอกได้เลยนะคะ" สุดยอดครับ)
- พี่วิรัตน์,คุณหลุยส์,คุณหนิง จากบริษัทพลัสเพรส ที่เป็นกำลังสำคัญในการผลิตทั้งตัวผลงานและสื่อสิ่งพิมพ์
อย่างไม่มีการคำนึงถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจเลย
- คุณอาโด่ง ที่ช่วยทำบล็อกตัวอักษร และคุณชาติ แห่งโรงงานปั๊มไฮโดรลิค
- คุณนก สมบูรณ์ แห่งร้านสมบูรณ์โภชนาที่ให้ยืม TV Plasma 40" 2 เครื่อง มาใช้ห้อยอย่างหวาดเสียว(โดยเฉพาะทีมติตั้ง)
- คุณอนุทิน วงศ์สรรคกร,คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา สำหรับบทความคุณภาพในสูจิบัตร
- คุณวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ แห่ง a day สำหรับคำนิยมที่ผมพลอยนิยมไปด้วย
- พี่ประชา ที่ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน ยินดีมากครับ
- พี่อาร์ต แห่ง Try2benice ที่ช่วยเขียนข่าวประชาสัมพันธ์
- พีม,เบน,น้ำ กำลังสำคัญในการติดตั้ง มืออาชีพและให้ใจมากๆ ศิลปินหลายๆ ท่านรู้จักฝีมือของพวกเขาดี
- ครอบครัวศิลปวิศวกุล ที่ช่วยเหลืออย่างมากในการรวบรวมกระดาษหนังสือพิมพ์จำนวนมาก
- แนน และ คุณวิภว์ บูรพาเดชะ จากนิตยสาร Happening มีเดีย พาร์ทเนอร์ที่ใจดีมากๆ
- คุณซิท จากนิตยสาร Wallpaper
- นิตยสาร Art4D และ นิตยสาร a day ที่ให้ความสำคัญกับนิทรรศการครั้งนี้
- หมูใหญ่,นา,เป็ด,ฯลฯ ทีมงานลูกศิษย์วิชา Communication Design หลายชีวิตที่เข้ามาช่วยตอนติดตั้งก้อนหนังสือพิมพ์จำนวนมหาศาล
(ผมจะลงชื่อหลังจากรวบรวมให้ครบนะครับ ต้องขออภัยก่อน)
- เบนท์ และ เจี๊ยบ จากหอศิลปมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่อำนวยความสะดวกในทุกๆ เรื่อง
- เติร์ก,โม่,เนต,โอ และณัฐ ทีมบอดี้การ์ด ปกป้องงานตอนวันเปิดงาน
- คุณอีริค บุนนาค บู้ท และพี่เจี๊ยบ จากพิพิธภัณฑ์จิม ทอมป์สัน สำหรับไวน์รสดีที่ทุกคนดื่มในวันเปิดงาน
- BU Cafe สำหรับการ delivery กาแฟถึง gallery ตลอดการติดตั้งงาน
- สำคัญมากๆ พ่อ-แม่ และน้องชายของผม ที่ช่วยเหลือทุกอย่างที่ช่วยได้ในนิทรรศการนี้เลยครับ
สุดท้ายขอขอบคุณทุกๆ คนที่สละเวลามาชมนิทรรศการนี้
และหวังว่าผลงานของผมคงจะไม่ทำให้เวลาที่สละมาไม่เสียเปล่าซะทีเดียวนะครับ