July 20, 2008

| Review from Manifah |



พอดีได้ไปอ่านบทวิจารณ์ใน http://manifah.multiply.com ที่เขียนถึงนิทรรศการ “ไม่ อาจ จะ ใช่”
ขออนุญาตนำมาโพสต์โดยผมเองไม่ทราบว่าผู้เขียนเป็นใคร ถ้าทราบภายหลังจะนำเครดิตมาลงให้นะครับ
แต่ต้องขอขอบคุณมากๆ ที่ให้มุมมองสะท้อนกลับมาด้วยครับ / ขอบคุณครับ

---------->
หากพูดถึงโลกแห่งการสื่อสารปัจจุบันนี้ คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงกระแสโลกาภิวัฒน์ ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่การคิดค้นอินเตอร์เนท
เครื่อข่ายโยงใยการสื่อสารทั่วทั้งโลกเข้าด้วยกัน จากการพัฒนาระบบสารสนเทศ ก่อให้เกิดผลกระทบ อย่างรวดเร็วมหาศาลต่อ เศรฐกิจ
การเมือง สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมภายใต้สังคมทุนนิยม การถ่ายทอดวัฒนธรรมจึงกลายเป็นผลพวงทำให้เกือบทุกชาติรับวัฒนธรรมตะวันตก
ความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่นี้สร้างกระแสของการมีเสรีภาพในการเลือกบริโภค ข้อมูลข่าวสารที่โถมเข้ามาอย่างพรั่งพรู

งานศิลปะบ้านเรานับร้อยเป็นงานน่าสนใจ แต่จะมีสักกี่งานที่สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตและสะท้อนความเป็นอยู่ในโลกปัจจุบัน
ณ วันนี้เรารับอิทธิพลความคิดแบบตะวันตก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เราสามารถรับข่าวสารได้อย่างง่ายดาย
แต่ความง่ายดายนั้นเราเคยคืดหรือไม่ว่า มันได้ทำลายโสตประสาทโดยที่เราไม่เคยรู้ตัวเลย “YES I AM NOT” (ไม่ อาจ จะ ใช่) โดย สันติ ลอรัชวี
อาจารย์พิเศษ นักออกแบบกราฟิกภายใต้กลุ่ม Practical Studio และครั้งแรกของบทบาทศิลปิน การรวบรวมสื่อสิ่งพิมพ์ที่ผลิตโดยกระบวนการ
die-cut กว่า1000ตัวอักษร ถ่ายทอดมุมมองการบริโภคสื่อที่ถูกปรุงแต่งตามกระแสโลกาภิวัฒน์ เป็นการตั้งคำถามกับตัวเองและสังคม
เพื่อแสวงหาความจริงของกระบวนการเสพข้อมูลในโลกปัจจุบัน

ภายในนิทรรศการทั้งสองห้อง ตัวหนังสือถูกตัดออกทั้งในรูปแบบ positive และnegative จัดเรียงทั่วห้อง เมื่อก้าวเข้าห้องแรก เสมือนเป็นการเข้าสู่
โลกของความเป็นจริง เราหลงอยู่ในความมืดเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่ไม่สามารถจับต้องได้ ตัวหนังสือในห้องนี้บางคำอ่านออก
บางคำไม่มีความหมายที่ศิลปินจัดเรียงด้วยอารมณ์ขัน เพียงแต่จำต้องเลือกรับรู้ในสาระสำคัญ ในขณะเดียวกันแสงสว่างตรงกลางห้องนั้น
ทำให้รู้สึกใจชื้นว่าเราสามารถรับรู้บางสิ่งในห้องนี้ได้ การฉายภาพแบบ random กลับหัวไปมาไม่ซ้ำกัน ด้วยความเร็วในการเปลี่ยนภาพนั้น
ไม่ได้ช่วยให้เข้าใจข้อมูลใดๆ หากแต่สามารถรับรู้ได้เพียงความสวยงามของการจัดแต่งตัวอักษร เหลือเพียงความเข้าใจว่าในโลกนี้มีสารมากมาย
แต่เรากำลังหลงอยู่ในโลกของมัน

ห้องที่สองเสมือนการคลี่คลายในสิ่งที่ทั้งตัวศิลปินและผู้ชมเกิดความสงสัย กองตัวหนังสือถูกเรียงเป็นประโยคไปทั่วห้อง ทำให้ต้องค่อยๆอ่าน
ในสิ่งที่ศิลปินพยายามสื่อ ไม่ต่างอะไรกับการใช้วิจารณญาณในการเสพข่าวสาร ใช่ มันคือมุมมองความคิดใต้จิตสำนึกของศิลปิน
ความหลากหลายในการจัดวางตัวอักษร มีระดับสูงต่ำบวกอารมณ์ขันในข้อความของศิลปินที่ทำให้เราไหลไปตามพื้นที่ห้องจัดแสดงจนจบ
ทำให้เก็บไปคิดว่า จริงหรือที่เราได้ถูกรุกรานทางความคิดจากสื่อพวกนั้น? อย่างนี้ถือเป็นการยอมรับในสิ่งที่เป็นอยู่ หรือเป็นการต่อต้านกันแน่?

ไม่ว่าจะใช้ภาษาใดก็ไม่ต่าง เนื่องจากภาษาเป็นเพียงสัญลักษณ์แทนสิ่งที่เราต้องการสื่อให้คนอื่นเข้าใจ ในโลกไร้พรมแดนนี้ เราใช้ภาษาอังกฤษ
สื่อสารกันในปัจจุบัน ความจริงแล้วความน่าสนใจของงานไม่ได้อยู่ที่ภาพที่เราเห็น มันคือกระบวนการทางความคิดสดใหม่ และมุมมองอิสระของ
ศิลปินที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ได้อย่างชัดเจน เห็นได้จากภาพในโปรเจคเตอร์ที่ปรากฎในห้องแรก มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นสดๆในห้องที่สอง
การสื่อความหมายแบบตรงไปตรงมาผ่านสื่อที่เรารับรู้ได้ Lawrence Weiner กล่าวว่า "ART IS NOT A METAPHOR UPON THE RELATIONSHIP
OF HUMAN BEINGS TO OBJECTS & OBJECTS TO OBJECTS IN RELATION TO HUMAN BEINGS BUT A REPRESENTATION OF AN
EMPIRICAL EXISTING FACT," "IT DOES NOT TELL THE POTENTIAL & CAPABILITIES OF AN OBJECT (MATERIAL) BUT PRESENTS A
REALITY CONCERNING THAT RELATIONSHIP." ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ต่างก็มีหน้าที่ในตัวมันเองอย่างน่าสนใจ สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นไป
ของโลกนี้กับศิลปิน หรือแม้แต่ผู้ชมเองก็ตาม

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า สื่อในโลกปัจจุบันให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีการผลิต และแข่งขันกันเพื่อการแย่งชิงกลุ่มลูกค้าจนขาดความเป็นกลาง
โดยไม่สนใจว่าข้อความถูกนำเสนออย่างไร ผู้รับสื่อก็พยายามบริโภคสื่อเพื่อทันโลก ทันเหตุการณ์ สุดท้ายแล้วก็ตกเป็นเครื่องมือที่ใช้เป็นหนทาง
แสวงหากำไรของสื่อ นี่เป็นตัวอย่างของการบริโภคสื่อ โดยเริ่มต้นมองจากตัวเอง และตั้งคำถามขึ้นเพื่อการรู้เท่าทันสื่อ ผลงานภายใต้แนวทาง
Communication Revolution นี้ แสดงให้เห็นถึงความอิสระในการออกความคิดเห็นในสังคมประชาธิไตย กระตุ้นให้ตื่นตัวกับปัญหาที่เกิดขึ้น
ในสังคม แม้เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นจากกลุ่มเล็กๆ ก็สามารถแผ่ขยายแนวความคิดออกในวงกว้างได้ไม่ช้าก็เร็ว

การจัดแสดงงานในพื้นที่จำกัดของแกเลอรี่ ทำให้ความน่าสนใจของงานถูกเสพจากกลุ่มคนเฉพาะกลุ่ม อาจยังไม่เติมเต็มในแก่นสำคัญของเนื้อหา
เป็นการขัดแย้งต่อจุดมุ่งหมายของการสื่อสารในโลกปัจจุบันหรือไม่ งานที่น่าสนใจและน่าติดตามต่อเช่นนี้ มีความหวังอย่างยิ่งที่จะปรากฏ
และมีปฏิสัมพันธ์ต่อสารธณชน เพื่อเพิ่มคุณค่าของงานศิลปะ สามารถเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขปัญหาสังคมต่อไปในอนาคต.

No comments: