July 31, 2008

| Interviewed with a day |


บทสัมภาษณ์ในนิตยสาร a day
ฉบับเดือนกรกฎาคม 2551 หน้า 67
เรื่อง > จิราภรณ์ วิหวา
ภาพ > ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ในยุคที่ทุกความจริงหนึ่งถูกอีกความจริงหนึ่งแทนที่ตลอดเวลา
นักออกแบบคนหนึ่งจึงสะท้อนความจริง (ที่ยังจริงอยู่) นี้ออกมา ด้วยนิทรรศการศิลปะ
ที่ใช้วัตถุดิบเป็นหนังสือพิมพ์จำนวน 3 ตัน!

ไม่ อาจ จะ ใช่ คือชื่อนิทรรศการศิลปะของ สันติ ลอรัชวี ที่สามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ 2 แบบ
ไม่, อาจจะใช่ กับ ไม่อาจจะใช่
ในความต่างเพียงการเว้นวรรค ชุดคำนี้ผลิตความหมายคนละขั้วฝั่ง สะท้อนบริบทในสังคมที่ย้อนแย้งกันเต็มความหมาย
และสื่อสารความนึกคิดบางอย่างของนักออกแบบคนนี้ร่วมกับพื้นที่ว่างใน BUG gallery และหนังสือพิมพ์อีก 3 ตัน

“โลกทุกวันนี้เป็นโลกของข่าวสาร เราต้องปะทะกับชุดข้อมูลหลายๆ ชุด พร้อมกันทุกวัน จนท้ายที่สุดแล้ว
เราตอบไม่ได้ว่าชุดข้อมูลไหนคือความจริง” สันติเริ่มต้นเล่าถึงคอนเซปต์งานชิ้นนี้อย่างย่นย่อ
พลางหยิบชิ้นตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ตัดทำจากกระดาษหนังสือพิมพ์ซ้อนกันมาจัดวางเป็นชื่อนิทรรศการ yes I am not
“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราจะพบว่ารูปแบบของสารที่เข้ามาปะทะกับเรา มันหลายมิติ หลายขั้วมาก เอาให้ชัดก็เช่นว่า
การเกิดขึ้นของรายการประเภทคุยสดแล้วมีคู่กรณี ผมรู้สึกว่ามันปะทะกับผมมาก คู่กรณี ก. กับ ข. ที่มีเรื่องพิพาทกันอยู่
มีพิธีกรที่เผ็ดร้อนหน่อยคอยดำเนินการโต้แย้ง และเราในฐานะผู้ชมก็คอยตัดสินว่าใครถูกหรือใครผิด แต่ทุกครั้งที่ผมดู
รายการประเภทนี้จบ ผมจะไม่สามารถสรุปอะไรได้แล้วปิดโทรทัศน์ด้วยความรู้สึกงุนงงว่าความจริงคืออะไร
เพราะ ก. และ ข. มีความจริงคนละข้อ แล้วเรายิ่งเห็นเรื่องนี้ชัดมากในทางการเมือง หนังสือพิมพ์ 2 เล่ม ทีวี 2 ช่อง
พูดไม่เหมือนกัน ทุกอย่างล้วนเป็นอัตวิสัยหมด บางครั้งเรารู้ความจริงจาก information ด้านหนึ่ง แต่พรุ่งนี้ความจริง
จะถูกลบล้างออกโดย information อีกชุด ความจริงเป็นของชั่วคราวมากในช่วงเวลานี้” สันติอธิบายสถานการณ์ที่เขาตระหนัก
ได้อย่างเป็นช่องเป็นฉากก่อนจะสรุปให้เห็นภาพด้วยวัฏจักรว่า
‘รับข้อมูล เกิดความคิด เกิดการกระทำ เกิดการหักล้าง เกิดการรับข้อมูลใหม่’ วนเวียนไปเรื่อยๆ

“ผมพยายามไม่สื่อสารแต่จำลองสถานการณ์ของวัฏจักรนี้ออกมา” สันติพูดถึงตัวงานที่จัดวางตัวอักษรจากหนังสือพิมพ์กว่า 3 ตัน
ลงบนพื้นที่ให้เกิดเป็นชุดคำและความหมาย และอาศัยหนังสือพิมพ์เป็นสัญลักษณ์ของความจริงในสังคม “เหมือนผมพยายามยัดข้อมูลให้
แต่ไม่ได้ยัดเยียดว่าจะต้องคิดอย่างไร แต่อาจจะมีบางคนที่เห็นด้วยกับผมว่า เราจับต้นชนปลายอะไรไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่มีข้อมูลกองอยู่เต็มพื้น”

สันติบอกว่า งานชิ้นนี้ออกจะแตกต่างจากงานออกแบบส่วนใหญ่ที่เขาเคยทำในสังกัด Practical Studio ซึ่งมีปัจจัยหลักคือโจทย์และลูกค้า
แต่นั่นไม่ได้แปลว่านิทรรศการนี้จะอยู่นอกเหนือไปจากสิ่งที่นักออกแบบควรทำ เพราะพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรม ไม่ควรจำกัดอยู่แค่คนที่ได้ชื่อว่า“ศิลปิน”

“ผมเชื่อว่านักออกแบบไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงานตามโจทย์หรืองานเชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่มันเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต ถ้าประเด็นนี้ถูกเข้าใจ
ทัศนคติทางการออกแบบก็จะเปลี่ยนไป เราจะไม่มีนักศึกษาที่นั่งดูแต่หนังสือกราฟิกดีไซน์ เราจะไม่เห็นนักออกแบบที่ขลุกพูดคุยกันแต่เรื่อง
การออกแบบ แต่รับรู้ถึงความเคลื่อนไหวทางสังคม เปิดกว้างต่อศาสตร์อื่นๆ วัตถุดิบ หรือ inspiration ของนักออกแบบไม่ได้จำกัดอยู่ใน
หนังสือเมืองนอก ไม่ใช่ว่าทำงานกราฟิกก็ต้องดูงานกราฟิก ทำงานสถาปัตย์ก็ต้องดูตึก คนทำงานกราฟิกก็ไปดูตึก
คนออกแบบตึกก็ไปอ่านวรรณกรรม มันก็จะเชื่อมโยงกัน ถ้าทำอย่างนี้ได้ คำว่า inspiration หรือวัตถุดิบทางความคิดของเราจะกว้าง
หลากหลาย แล้ววันหนึ่งคำว่านักออกแบบก็จะกว้างขึ้นและทำให้ทัศนคติที่มีต่อนักออกแบบกับงานพาณิชย์มันเล็กลง ไม่ได้ปฏิเสธนะครับ
ผมเห็นด้วยว่าการพาณิชย์มีความสำคัญต่อวงการออกแบบสูงมาก แต่ว่ามันไม่ใช่ทั้งหมด” สันติตอบข้อถามเรื่องงานศิลปะและ
งานเชิงพาณิชย์ ก่อนจะโยงมาถึงหน้าที่ที่เขารับผิดชอบในฐานะอาจารย์พิเศษ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ว่าหากภาพที่เขาวาดไว้เป็นจริงขึ้นมาได้ เด็กรุ่นใหม่ๆ ก็จะเห็นว่าภาพของการทำงานออกแบบไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียว
ที่จะต้องต่อรองกับลูกค้าในเชิงพาณิชย์

“การเข้ามาเป็นอาจารย์ทำให้ผมโตเร็วมากขึ้น” นักออกแบบเจ้าของ Practical Studio เริ่มต้นเลกเชอร์ด้วยรอยยิ้ม
“ความรับผิดชอบต่อตัวเองต่อสิ่งที่พูด ต่อสิ่งที่ทำต้องสูงขึ้น เพราะเราไม่สามารถสอนบางสิ่งให้เด็กได้ถ้าเราเองยังทำสิ่งนั้นอยู่
ผมว่าช่วงเวลาที่เป็นอาจารย์เป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับผม เพราะทำให้ใจและทัศนคติกว้างมากขึ้น กับเด็กเอง เราต้องรู้จักฟังมากขึ้น
เพราะบางครั้งมันมีอะไรน่าสนใจอยู่เสมอ ผมถึงบอกเด็กว่า ถ้าไม่ตั้งใจเรียนเสียเปรียบผมนะ ผมคิดว่าคนสอนได้มากกว่าคนเรียน
เพราะว่าคนสอนต้อง push ตัวเองอย่างหนัก ห้องนึงมีเด็ก 20 คน อาจารย์คนเดียว นั่นคือการฝนอาจารย์ให้แหลมคมมาก”

เมื่อถูกถามว่า นักเรียนของเขาจะเข้าใจสิ่งที่เขาบอกหรือไม่ในช่วงวัยเท่านี้ เขาเชื่อว่าใช่ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะท้ายที่สุดแล้ว
เด็กทุกคนต้อง ‘ลอง’ ใช้ชีวิตและเข้าใจทุกอย่างด้วยตัวเอง เหมือนเขาที่ผ่านทั้งการเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ไฟแรงที่สนุกกับงาน
เป็นเจ้าของบริษัทออกแบบตามพิมพ์นิยม รับงานเป็นฟรีแลนซ์มืออาชีพแต่ไร้แรงขับในชีวิต จนมาถึงวันที่รู้ว่างานออกแบบที่ดี
ควรมีวัตถุดิบเป็นอะไร

“การปะติดปะต่อประสบการณ์ด้วยกรอบสายตาแบบนักออกแบบ” เขาตอบ

No comments: