September 15, 2008

| ข้อเขียนที่เขียนถึงข้อเขียน |

ไปพบข้อเขียนที่พูดถึงบทความที่เคยเขียนลงใน aday weekly ฉบับแรกโดยบังเอิญ
รู้สึกประทับใจที่ข้อเขียนของตัวเองนั้น พอจะมีคนชอบบ้างและคิดต่อ ขอบคุณครับ

ศิลปะ…ไม่ใช่บัญญัติไตรยางค์
สิงหาคม 17, 2008 by janghuman

อ่านบทความของ คุณสันติ ลอรัชวี* กราฟฟิกดีไซน์คนหนึ่ง เขียนลงไว้ใน a day weekly ฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อปี ๒๕๔๗ เล่าถึงหลานสาวของคุณสันติ
ชื่อน้องเตย ที่ชอบวาดรูปตามประสาเด็กๆ แต่อยู่มาวันหนึ่งน้องเตยก็มาบ่นให้คุณสันติฟังว่า “เตยไม่ชอบวาดรูปแล้วล่ะ” … คุณสันติได้ให้มุมมองที่น่าสนใจไว้ว่า

“…ในที่สุดผมก็ถึงบางอ้อจนได้ว่าที่น้องเตยไม่อยากวาดรูป (ไม่ใช่ไม่ชอบ) ก็เพราะตั้งแต่ขึ้น ป.๖ มา เธอได้คะแนนไม่ค่อยดีในวิชาศิลปะ วิชาที่เธอเคยทำได้ดีมาตลอด
ผลงานที่ส่งอาจารย์แต่ละชิ้นได้ผลการตัดสินที่ทำให้เธอรู้สึกว่าเธอคงวาดรูปไม่เก่ง มีเพื่อนที่ทำได้ดีกว่าเธอหลายคน วิชาศิลปะยากและไม่สนุกซะแล้ว
จนในที่สุดการวาดรูปกับน้องเตยก็เป็นเหมือนวิชาคณิตศาสตร์กับเด็กอีกหลายคน…

ในความเห็นของผมการวัดผลในวิชาศิลปะระดับประถมศึกษา โดยเฉพาะการให้คะแนนของผลงานควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมในการทำงานศิลปะของเด็กมากกว่าจะคอยใส่ตัวเลขว่า
เธอวาดสวย (ในสายตาใคร?) เอาไป ๑๐ คะแนน เธอวาดพอใช้ (ในสายตาใคร?) เอาไป ๗ คะแนน เธอวาดไม่สวย (ในสายตาใคร?) เอาไป ๔ คะแนน ผลสุดท้ายอาจจะเป็น
กระบวนการหนึ่งที่กีดกันให้ศิลปะกลานเป็นของคนกลุ่มเล็กๆ และคนอื่นๆ ก็จะรู้สึกไม่อยากเกี่ยวข้อง ไม่อยากสนใจ เพราะเคยถูกตัดสินมาแล้ว คุณทำได้ไม่ดี คุณไม่เก่ง
จนในที่สุดก็คือ คุณไม่เกี่ยว…”


เมื่อสมัยเด็กๆ ข้าพเจ้าจำได้ว่าทำคะแนนในวิชาศิลปะได้ดีเป็นพิเศษ คงเพราะเป็นวิชาที่ไม่ต้องใช้ความคิดอะไรมาก สามารถบรรเลงสีสันได้อย่างตามใจนึกตามแต่หัวข้อที่อาจารย์
กำหนดให้ วิชาศิลปะในแต่ละระดับชั้นมีการเรียนการสอนที่แตกต่างกันไป เมื่อประถมข้าพเจ้าจำได้ว่าแทบจะไม่มีการสอนเรื่องของทฤษฎีใดๆ ทั้งสิ้น วิชาศิลปะในแต่ละสัปดาห์
อาจารย์จะบอกล่วงหน้าว่าอาทิตย์นี้จะใช้สีอะไรในชั่วโมงเรียน ซึ่งก็ไม่พ้นจำพวกสีไม้ สีชอล์ก หรือสีน้ำ อาจารย์จะกำหนดหัวข้ออย่างคร่าวๆ ที่เหลือก็ให้นักเรียนบรรเลงเอง
ตามแต่จะนึก ขั้นตอนการเรียนเป็นเช่นนี้มาตลอด แต่สิ่งหนึ่งที่ขัดใจข้าพเจ้ามาตลอดคือการให้คะแนนของอาจารย์ ข้าพเจ้านึกสงสัยตั้งแต่เมื่อครั้งนั้นว่า
ทำไมข้าพเจ้าได้คะแนนต่างจากครั้งที่แล้ว ทำไมข้าพเจ้าได้คะแนนน้อยกว่าเพื่อน หรือทำไมงานของเพื่อนถึงได้คะแนนสูงนักทั้งที่ไม่เห็นจะสวยเท่าไหร่เลย ฯลฯ
เหล่านี้คาใจข้าพเจ้ามาตลอด แม้เมื่อเริ่มร่ำเรียนเกี่ยวกับทฤษฎีศิลปะแล้ว ข้าพเจ้าก็ยังไม่เข้าใจว่าทฤษฎีเหล่านี้มันกลั่นกรองออกมาเป็นตัวเลขได้จริงล่ะหรือ
มีอาจารย์ด้านศิลปะท่าหนึ่งเคยให้ทัศนะไว้ว่าการเป็นกรรมการตัดสินผลงานศิลปะนั้นเป็นเรื่องที่น่าหนักใจที่สุด เชื่อเถอะว่าไม่ว่าใครๆ ต่างก็ต้องมองว่าผลงานของตนนั้นดีเยี่ยม
สมบูรณ์อย่างที่สุดแล้ว แต่เมื่อถูกตัดสินให้แพ้ใครอีกคน คงยากจะทำใจยอมรับ ศิลปะไม่ใช่คณิตศาสตร์ ไม่สามารถเทียบบัญญัติไตรยางค์ได้ ไม่มีสูตรตายตัว
ไม่มีทฤษฎีศิลปะใดที่แน่นอน เราเชื่อได้ไหมว่าการตัดสินงานศิลปะนั้นมีเรื่องของทัศนคติส่วนตัว ความนิยมส่วนตัว มาเกี่ยวข้องด้วย
ถ้าคุณนิยมศิลปะไทย แต่ต้องให้คะแนนผลงานศิลปะร่วมสมัย คุณก็คงอดไม่ได้ที่จะพิจารณาว่าผลงานชิ้นไหนมันแทรกศิลปะแบบไทยๆ ที่คุณชอบเอาไว้บ้าง
หรือถ้าคุณเป็นศิลปินหัวทันสมัยแล้วต้องไปให้คะแนนศิลปะระดับเยาวชน คุณก็จะให้คะแนนผลงานที่แสดงความเป็น Modern มากหน่อย เพราะคุณจะรู้สึกว่าผลงานนี้มันสะดุดใจคุณ
เรื่องของศิลปะไม่น่าจะมีการให้คะแนนเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างที่คุณสันติว่าไว้ หากเด็กรู้สึกว่าเขาทำคะแนนได้ไม่ดี เขาก็จะเริ่มรู้สึกว่ามันไม่เหมาะกับเขา พาลจะเบื่อหน่าย
และรังเกียจ แต่ถ้ามองในสายตาของครูผู้สอน เขาคงจะถามว่าแล้วจะให้ใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินคะแนนแก่เด็กล่ะ คำตอบของข้าพเจ้าก็คือ ไม่มี ไม่ต้องมีคะแนน
วิชาศิลปะไม่มีตก ไม่มีไม่ผ่าน ควรเป็นวิชาบังคับที่ให้นักเรียนผ่านทุกคนโดยไม่จำเป็นต้องสอบด้วยซ้ำ

จำได้แม่นว่าครั้งหนึ่งข้าพเจ้าส่งงานศิลปะชิ้นหนึ่งแล้วถูกตีกลับมาโดยอาจารย์โน้ตไว้ว่า ไม่สามารถให้คะแนนงานที่ยังไม่เสร็จได้ ข้าพเจ้าหัวเสียมาก เพราะอาจารย์ให้หัวข้อไว้ว่า
ให้ใช้เทคนิคอิสระ งานชิ้นนั้นข้าพเจ้าใช้หมึกดำเขียนเป็นลายเส้น ข้าพเจ้าพอใจผลงานชิ้นนี้มากแต่อาจารย์กลับบอกว่ามันเป็นงานที่คุณขีดๆ มาส่งเท่านั้น เอาไปลงสีให้เรียบร้อย …
ถ้าเป็นตอนนี้คงได้มีเรื่องเถียงกันไม่จบแน่ แต่ในตอนนั้นข้าพเจ้าทำงานชิ้นใหม่ไปส่งอย่างเสียไม่ได้

“… พ่อแม่ของน้องเตยเคยเปรยกับผมถึงการจะให้น้องเตยได้ไปเรียนศิลปะตามสถาบันศิลปะเด็กต่างๆ ที่เปิดกันเต็มบ้านเต็มมเอง
แต่ผมกลับเห็นว่าถ้าจะสนับสนุนหรือส่งเสริมเด็ก สิ่งสำคัญเห็นจะเป็นการสร้างความผูกพันระหว่างศิลปะกับเด็ก มากกว่าจะเป็นกติกาหรือกิจวัตรที่ทุกเสาร์หรืออาทิตย์ ๙ โมงเช้าถึงเที่ยง
เด็กต้องไปเรียนเปียโน บ่ายโมงถึง ๕ โมงเย็น ต่อด้วยเรียนวาดรูป จนบางคนกลายเป็นเครื่องมือให้พ่อแม่ไปอวดบารมีกัน…”

เห็นด้วยกับคุณสันติเลยครับ ไม่รุ้ว่าบรรดาพ่อๆ แม่ๆ ที่ชอบส่งลูกไปเรียนพิเศษ เคยถามลูกไหมว่าลูกอยากไปเรียนหรือไม่ ยิ่งเรื่องของศิลปะ มันไม่ใช่เรื่องที่จะบังคับด้วยเวลากันได้
เอ้า ๑๐ โมงต้องวาดรูป แล้วถ้าไอ้ตอน ๑๐ โมง เด็กเขาไม่อยากวาดรูปล่ะ ที่ลูกๆ ไปเรียนพิเศษกันโครมๆ ข้าพเจ้าว่าเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้ปกครองเสียมากกว่า
แม้จะประสงค์ด็ก็เถอะแต่น่าจะเข้าใจจิตใจเด็กๆ ด้วย

No comments: