September 25, 2008

| Communication Design 5 Class : Final Project |



ผลงานสุดท้ายของวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ 5 ที่ผมสอนคู่กับอาจารย์อนุทิน วงศ์สรรคกร
ที่ภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นชั้นเรียนที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาที่มุมมองต่อสถานการณ์รอบตัวด้วยวิจารณญาณเชิงการออกแบบ
ความพยายามของชั้นเรียนกำลังทดลองให้นักศึกษาออกแบบก้าวผ่านสถานะของผู้เพียงแค่ส่งผ่านสาร ไปสู่สถานะของผู้ผลิตตัวบทของสารที่ต้องการจะสื่อ
มีหลายท่านอาจจะเปรียบเทียบอาชีพ Graphic Designer หรือ Communication Designer เสมือนการร้องคาราโอเกะเท่านั้น แต่สำหรับยุคสมัยที่เส้นแบ่งกั้น
ระหว่างสิ่งต่างกำลังเลือนรางและทับซ้อนกันมากขึ้น การร้องคาราโอเกะอาจจะไม่เพียงพอสำหรับนักออกแบบสื่อสาร อาจเพราะนักออกแบบสื่อสารส่วนหนึ่งมีความต้องการสร้าง
เนื้อพลงหรือท่วงทำนองที่เป็นปัจเจก จนบางครั้งเพลงหรือท่วงทำนองของผู้อื่นไม่อาจตอบสนองความนึกคิดเหล่านั้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่วงทำนองในร้านคาราโอเกะนั้น
มีแต่เนื้อหาและทำนองที่ซ้ำไปมาจนไม่เกิดความท้าทายใดๆ จริงอยู่ว่าศักยภาพการตอบสนองโจทย์ของนักออกแบบนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการดำรงวิชาชีพ
แต่โจทย์ที่ว่าจะเป็นโจทย์ของเราเองแทนที่จะเป็นจากลูกค้าได้หรือไม่ เป็นโจทย์ทางวิชาชีพแทนโจทย์ทางอาชีพได้หรือไม่

สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ชั้นเรียนนี้พยายามจะหาคำตอบไปด้วยกัน...

แม้การดำเนินไปของชั้นเรียนนี้จะมีอุปสรรคอยู่สำหรับนักร้องคาราโอเกะหน้าใหม่ โดยเฉพาะหลายคนอาจจะยังร้องเพี้ยน ไม่ตรงจังหวะ การให้เสียงยังไม่เข้ากับอารมณ์ของเพลง
ก็ถูกผลักดันให้แต่งเพลงซะแล้ว ทำให้บรรยากาศในการทำงานจะตึงเครียดไม่น้อย แต่ในแง่ดีที่ผมอยากจะพูดถึง (เพราะพูดในแง่ไม่ดีไปเยอะแล้วในชั้นเรียน)
ก็คือความคิดหรือประเด็นส่วนบุคคลที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ (ในที่นี้หมายถึงใหม่ต่อนักศึกษา) ความพยายามที่จะสร้างชุดความคิดขึ้นมาก่อนที่จะทำงานออกแบบที่เป็นรูปแบบ
เพราะเดิมทีนักศึกษาเองอาจไม่เคยรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาหรือประเด็นที่กำลังจะทำงานออกแบบ ‘ความรับผิดชอบเชิงรูปแบบ’ จึงกลายเป็นเหมือนหน้าที่อันจำกัดที่นักออกแบบ
พึงต้องยอมรับ และนำไปสู่การไม่ก้าวล้ำไปสู่การสร้างชุดความคิดของตนในการสร้างงานออกแบบถึงแม้ว่างานออกแบบนั้นจะเป็นงานออกแบบส่วนตัวก็ตาม อีกทั้งความคิดลักษณะนี้
ยังนำมาซึ่งความฉาบฉวยในการสร้างรูปแบบ ซึ่งเดิมทีอาจเคยถือว่าเป็นความรับผิดชอบหลักอีกด้วย

การต่อสู้กับความไม่คุ้นเคยเป็นภาพเชิงบวกที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนนี้ มีการพูดคุยกันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนหลายต่อหลายครั้งต่อความอึดอัดทั้งหลาย
เพื่อนำไปสู่การปรับตัวของทั้งสองฝ่าย ผมอยากชี้ให้เห็นถึงความน่าสนใจของความคิดหลายความคิดที่นักศึกษาได้นำเสนอออกมา
แม้ว่าตัวผลงานเองอาจจะไม่สามารถแสดงความน่าสนใจของชุดความคิดนั้นได้เท่าที่ควร
ก็เหมือนกับคุณเริ่มแต่งเพลงได้น่าสนใจ แต่พอจะร้องเพลงของตัวเองดันร้องเพี้ยนหรือผิดจังหวะซะเอง...

ต้นฉบับ VS สำเนา


ในชั้นเรียนผมค่อนข้างสนุกเวลาพูดคุยในหัวข้อนี้ การตั้งข้อสงสัยถึงสถานะของการเป็นต้นฉบับและสำเนาของนักศึกษา
น่าจะเป็นหัวข้อหนึ่งที่ท้าทายต่อความคิดของนักออกแบบได้อย่างดี การกำกับให้สิ่งใดเป็นต้นฉบับ และสิ่งใดเป็นสำเนา ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เลื่อนไหลจนต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน
การทำงานออกแบบเพื่อนำเสนอสถานะที่เลื่อนไหลนี้ออกมาเป็น visual communication ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงตัวตนของนักออกแบบและภาวะของการออกแบบได้อย่างดี

การผลิตตรายางคำว่า ‘ต้นฉบับ’ ซักอัน เราจะพบการเปลี่ยนสถานภาพของการเป็นต้นฉบับและสำเนาอยู่ตลอดเวลา
-> นักออกแบบคนหนึ่งต้องสร้างแบบต้นฉบับของตรายางในคอมพิวเตอร์
-> จากนั้นพิมพ์ลงบนกระดาษ(สำเนาของไฟล์)เพื่อเป็นต้นฉบับให้ร้านตรายาง
-> ร้านตรายางนำต้นฉบับกระดาษไปถ่ายเป็นฟิล์ม(สำเนาของกระดาษ)
-> แล้วนำต้นฉบับฟิล์มไปทำเป็นแม่พิมพ์โลหะ(สำเนาของฟิล์ม)
-> นำต้นฉบับแม่พิมพ์โลหะไปสร้างเป็นแบบบนแผ่นยาง(สำเนาของแม่พิมพ์โลหะ)

เราก็จะได้ตรายางคำว่า ‘ต้นฉบับ’ ที่ไปประทับบนเอกสารใบไหนก็ได้ ไม่ว่าเอกสารใบนั้นจะเขียนด้วยลายมือ พิมพ์จากเลเซอร์พริ้นท์ หรือถ่ายเอกสารมา
เอกสารใบนั้นก็จะมีสถานภาพเป็นต้นฉบับทันที อ้อ! ถ้าจะให้ดี เซ็นต์ชื่อกำกับด้วย...

อีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจสำหรับเรื่องนี้ก็คือ ‘การปกป้องการลอกเลียนของผู้ละเมิดลิขสิทธิ์’
หลายคนคงรู้จักค่ายซีดีเพลง mp3 เถื่อน ที่ทรงอิทธิพลต่อวงการเพลงในตลาดมืด ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่มืดแถมติดแอร์ด้วย
“แวมไพร์ เรคคอร์ด” คือแบรนด์แผ่นซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ที่รู้จักกันอย่างดี ในที่นี้ขอกล่าวข้ามความไม่เหมาะสมและจริยธรรมในการละเมิดลิขสิทธิ์
แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปฏิกิริยาที่น่าขันของผู้ที่หาประโยชน์จากการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือ การทำสำเนานั่นเอง ปฏิกิริยาดังกล่าวนั้นคือ การกลัวการถูกเลียนแบบ
กล่าวคือ ผู้ลอกสำเนาจากต้นฉบับอื่นมา ไม่ต้องการให้ผู้อื่นมาลอกเลียนหรือทำสำเนาจากสำเนาของตน ในกรณีอาจคิดไปได้ว่า แวมไพร์ เรคคอร์ดนั้น
คิดว่าสำเนาของตนเองนั้นได้กลายเป็นต้นฉบับแห่งวงการซีดีเถื่อน และไม่อยากให้ใครมาลอกเลียนความเป็นต้นฉบับแห่งการลอกเลียนนี้
ดังนั้นจะเห็นว่าสิ่งที่แวมไพร์เห็นว่าเป็นต้นฉบับนั้นหาใช่เป็นผลงานดนตรีที่บรรจุในแผ่นซีดี แต่เป็นรูปแบบการลอกเลียนต่างหากที่ถือว่าเป็นต้นแบบ
โดยเฉพาะความพยายามให้เห็นถึงคุณภาพของการลอกเลียน (ซึ่งอาจจะอ้างว่าไม่พบในซีดีเถื่อนยี่ห้ออื่น) เช่น การใส่ข้อความเตือนลงบนปกซีดีว่า
‘ระวัง! ถ้าไม่ใช่‘แผ่นปั๊ม’โปรดเรียกเงินคืนจากผู้ขาย’ หรือ ‘ของแท้ต้องมี Vampired records บนแผ่น’
การวางมาตรฐานอีกชุดในตลาดละเมิดลิขสิทธิ์ ก็เป็นเรื่องที่ทำให้ประเด็นที่กล่าวกันมาดูเลื่อนไหลและทับซ้อน
จนทำให้คำสองคำนี้ดูจะมีความหมายในตัวของมันเองลดน้อยถอยลง

ทำให้นึกถึงการบรรยายครั้งหนึ่งของ ดร. สายันต์ แดงกลม ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ใจความว่า Original อาจเกิดขึ้นเพียงครั้งแรกและครั้งเดียวตั้งแต่โลกถือกำเนิดมา ‘นั่นก็คือตอนที่พระเจ้าสร้างโลกนั่นเอง’

อ่านยาก ภาพเกิด


ผมเคยได้อ่านข้อมูลอ้างอิงจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่ว่า ในการอ่านคำๆ หนึ่ง
อาจไม่สำคัญว่าลำดับของตัวอักษรในคำๆ นั้นจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญอยู่ที่อักษรตัวแรกและตัวสุดท้ายที่ต้องอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง
ทำให้เรายังสามารถอ่านและเข้าใจได้อย่างไม่ยากเย็นนัก นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้รับรู้ทุกตัวอักษร แต่เรารับรู้จากภาพรวมของคำ
เช่น ‘Legibility Raserch at Cmabrigde Uinervtisy’ ก็ยังสามารถอ่านเข้าใจได้ เรียกง่ายๆ ว่าเราอาจจะจำรูปทางกายภาพของคำๆ หนึ่ง
แล้วเชื่อมโยงไปสู่ความหมายของคำๆ นั้น โดยยิ่งเมื่อเกิดความคุ้นเคยในการอ่านมากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องสังเกตรายละเอียดหรือลำดับของตัวอักษรทุกตัว
ก็สามารถรับรู้ถึงคำๆ นั้นได้ ส่วนเรื่องตัวอักษรตัวแรกและตัวสุดท้ายนั้น อาจจะต้องอ่านวิจัยนั้นอย่างละเอียดจึงพอจะให้ความคิดเห็นได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราจะเอาข้อสังเกตนี้มาวิเคราะห์กับภาษาไทยด้วย นั่นก็ต้องคิดเยอะทีเดียว...
ถ้าจะใช้แนวคิดจากงานวิจัยที่อ้างตอนต้นเราก็จะสร้างข้อความงงๆ ได้ว่า ‘กณุรา ดง สูบุบรี่’
ถ้าไม่เว้นวรรค ‘กณุราดงสูบุบรี่’ ก็จะยิ่งงงหนักเข้าไปอีก... แต่อ่านอีกทีก็พอได้นะ

แต่ประเด็นที่ผมจะพูดต่อจากนี้คือเรื่องความคุ้นเคยในการรับรู้หรือในที่นี้ก็คือ ‘การอ่าน’ ที่สืบเนื่องมาจากหัวข้อในการออกแบบของนักศึกษา
พูดให้ง่ายก็คืองานชุดนี้พยายามจะเปลี่ยนปฏิกิริยาแรกของคนที่มีต่อคำหรือประโยค จาก ‘การอ่าน’ ให้เป็น ‘การมอง’
เมื่อสิ่งที่คนเรามองเห็นไม่สร้างสภาวะคุ้นชินให้กับสมองว่าสิ่งนั้นคือภาษา การตอบสนองของเราอาจเปลี่ยนเป็นการมองมากกว่าการอ่าน
เปลี่ยนสภาวะจากตัวอักษรหรือคำไปเป็นภาพ สิ่งที่ผมสนใจไปกว่านั้นก็คือเมื่อเรามองไปซักพักกลับพบว่าสิ่งที่เรามองอยู่นั้น ‘อ่านได้’
ภาพที่เราเห็นกลับกลายเป็นข้อความที่เราเข้าใจได้ ความสามารถของกราฟิก ดีไซน์ ที่สามารถชะลอการรับรู้เชิงความหมาย เพื่อให้การรับรู้เชิงรูปแบบ
นั้นได้มีโอกาสเผยตัวสู่ผู้พบเห็น ซึ่งจำเป็นต้องจัดการกับความเคยชินต่อภาษาของผู้คนที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงความงามทางรูปแบบ

หลายครั้งที่ผู้คนเข้าใจว่าการออกแบบเชิงตัวอักษร (Typography) นั้นเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองการอ่านเท่านั้น
แต่ก็หลายต่อหลายครั้ง...ที่นักออกแบบพยายามนำเสนอผลงานออกแบบเชิงตัวอักษรที่ก้าวผ่านประเด็นการสื่อสารทางภาษาเขียน
กล่าวคือไม่ได้คาดหวังจะใช้ศักยภาพของคำหรือภาษาอย่างเดียว (ซึ่งสามารถสื่อสารได้โดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม)
แต่ยังมองว่าตัวอักษร(ซึ่งเป็นผลผลิตการออกแบบอยู่แล้ว)ยังสามารถถูกจัดการเพื่อสื่อสารเชิงรูปแบบหรือความงาม
รวมไปถึงความสามารถในการสื่อสารเชิงอารมณ์และบริบทของการสื่อสารนั้นๆ อีกด้วย

ดังนั้นการบริหารจัดการเรื่อง ‘Ligebility’ ในงานออกแบบเชิงตัวอักษร จึงเป็นเหมือนการจัดการสัดส่วนในการสื่อสารของงาน
ระหว่างการสื่อความหมายเชิงภาษา สำนวน และอารมณ์ความรู้สึก ว่าในงานออกแบบชิ้นนั้นๆ ต้องการให้มีผลผลิตอย่างไร
สำหรับผลงานออกแบบชุดนี้ ใช้ข้อความที่เป็นคำเตือนหรือข้อห้ามสาธารณะมาใช้ การลดทอนรายละเอียดของตัวอักษรภาษาไทยให้มีความเป็นรูปทรงเรขาคณิต
อาจเป็นทางเลือกที่ดีในการที่จะสร้างสิ่งเชื่อมโยงการรับรู้จากคำไปสู่ภาพได้โดยไม่ยากนัก รวมไปถึงการจัดองค์ประกอบที่ไม่ได้เป็นไปตามครรลองแบบการอ่าน
ทำให้ผลงานชุดนี้ประสบความสำเร็จในแง่การหันเหความสนใจของผู้ดูได้
แต่ทั้งนี้ยังมีคำถามให้ขบคิดต่อได้อีกว่า เมื่อสามารถเบี่ยงเบนความสนใจจาก ‘ใจความ’ ไปสู่ ‘รูปแบบ’ ได้แล้ว
รูปแบบนั้นให้สิ่งที่มีคุณภาพทัดเทียมและชดเชยกับความฉงนที่ตัวงานได้ให้ไว้หรือไม่?
และเมื่อนักออกแบบต้องการให้ผู้ดูกลับมา ‘อ่าน’ หลังจากได้รับสารเชิงรูปแบบแล้ว ผู้อ่านจะยังจะรับใจความนั้นได้หรือไม่?
นั่นเป็นสิ่งที่ต้องการเวลาต่อไปให้กับการเริ่มต้นนี้...

ระหว่างการเตือนหรือห้ามด้วยความงามและความปราณีต กับ การขู่กรรโชกโฮกฮาก เราจะให้ความร่วมมือกับใคร?
นึกต่อว่า... ถ้าเราติดตั้งงานชุดนี้บนผนังของโถงชั้นล่างของอาคารเรียนที่นักศึกษายังนิยมสูบบุหรี่ทั้งๆ ที่มีป้ายห้ามสูบบุหรี่ติดอยู่
เราจะได้รับความร่วมมือหรือเปล่า?

ผมเดาต่ออีกว่า... ยังไงก็ยังมีคนสูบบุหรี่ใต้ตึกอยู่ดี เพราะคนบางคน พูดจาดีๆ ก็ฟังไม่รู้เรื่อง...

(จริงๆ ที่เตรียมจะเขียนมีอีกหลายโครงการ แต่ช่วงนี้ขอพักไปทำงานก่อนครับ...)







2 comments:

mizeskate said...

รอติดตามตอนต่อไปครับ

Unknown said...

รอติดตามตอนต่อไปด้วยคนครับ

ขออนุญาติ นำไปโพสไว้ใน blog นะครับอาจารย์

http://pommeid.com