March 02, 2007

คะแลบบะเร'เชิน ๒ (Collaboration 2)

โดย สันติ ลอรัชวี
๒๑ มกราคม ๒๕๕๐



// คำถามที่นักศึกษาออกแบบส่วนใหญ่ถามผมเวลาใกล้สำเร็จการศึกษา มักจะเป็นคำถามที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ โดยมุ่งประเด็นไปที่ว่าจะทำอะไรดี ทำงานเลยหรือเรียนต่อ สมัครงานที่ไหนดี บางคนก็กังวลว่าจะหางานทำได้หรือไม่...

คำถามที่ผมไม่ค่อยได้ตอบกับนักศึกษาของผมก็คือ จะเป็นนักออกแบบแบบไหนดี...

สภาพสังคมที่คนในสังคมคุ้นเคยกับการแข่งขัน เอาตัวรอดมาตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียนอนุบาล ต้องพยายามและดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งความสามารถในการบริโภคสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่มากมายรอบตัวเรา และใช้สิ่งเหล่านั้นมาเป็นบรรทัดฐานความสำเร็จในการศึกษาและประกอบอาชีพ... สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อบัณฑิตน้องใหม่ จนหลายคนอาจจะหลงลืมความฝันหรือเหตุผลที่ได้ให้กับตัวเองตอนเลือกที่จะเรียนในสาขาวิชาของตน

การหลงลืมที่จะถามตัวเองว่าจะเป็นนักออกแบบแบบไหน เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความคุ้นเคยของนักศึกษาที่มีต่อคำถามประเภท “อะไร” มากกว่าคำถามประเภท “อย่างไร” ซึ่งเป็นคำถามที่ให้พัฒนาการทางความคิดมากกว่า

“งานออกแบบไม่ได้มีไว้สำหรับวัตถุประสงค์ใดโดยเฉพาะ งานออกแบบเกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตมากเกินกว่าจะมีไว้เพียงแค่เป็นเครื่องมือทางการตลาดเท่านั้น” คำพูดกำปั้นทุบดินนี้ นักศึกษาออกแบบทุกคนรู้แก่ใจดี แต่จะให้ทำอย่างไร ถ้าช่องทางในการก้าวเดินออกจากรั้วมหาวิทยาลัยไม่ได้มีรูปแบบให้เลือกมากนัก นอกจากเดินเข้าสู่ตลาดแรงงานที่เป็นกระแสหลัก ในขณะที่โอกาสที่เป็นทางเลือกอื่นยังไม่ชัดเจนเป็นรูปธรรม และต้องใช้ความพยายามอย่างมากในเส้นทางสายทางเลือก






ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ภาควิชานิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้เชิญให้ผมมาช่วยเป็นคิวเรเตอร์ให้กับนิทรรศการแสดงผลงานการออกแบบของนักออกแบบหน้าใหม่ ๖ คน ที่ผ่านการคัดเลือกมาจากบัณฑิตในรุ่น เพื่อสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ได้นำเสนอผลงานเฉพาะตัว เป็นการจุดประกายให้นักออกแบบกลุ่มนี้ได้เดินสู่สังคมการออกแบบที่เปิดกว้างและไม่ได้อยู่ในมิติของการทำงานในกระแสหลักเท่านั้น นิทรรศการครั้งนั้นมีชื่อว่า ๖๖๒ เป็นงานออกแบบที่นำเสนอมุมมองที่นักออกแบบมีต่อกรุงเทพมหานคร
และเป็นอีกครั้งที่งานออกแบบถูกสร้างสรรค์ขึ้นมานอกเหนือจุดมุ่งหมายทางการบริโภค

ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ผมถูกเชิญให้ทำหน้าที่นี้อีกครั้ง ได้ร่วมทำงานกับนักออกแบบชุดใหม่ที่ผ่านการคัดเลือกมาจากภาควิชาฯ ผมมีความชื่นชมและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่โครงการนี้กำลังจะมีขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๒ เพราะนั่นทำให้เราคาดหวังได้ว่ามันจะเกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่ ๓ และต่อๆ ไป นักออกแบบ ๕ คน กับนิทรรศการครั้งที่ ๒ ภายใต้ชื่อ “คะแลบบะเร’ เชิน (Collaboration)” เป็นผลงานการออกแบบนิเทศศิลป์ (Communication Design) ที่นำมุมมองของนักออกแบบแต่ละคนอันได้มาจากประสบการณ์ชีวิตทั้งในฐานะนักออกแบบและพลเมืองของสังคมมาเสนอต่อผู้ชมนิทรรศการ ภายใต้แนวคิดการทำงานร่วมกันในมิติต่างๆ ให้เกิดสัมพันธภาพที่หลากหลายในนิทรรศการครั้งนี้ โดยนำเสนอผลงานผ่านความร่วมมือกันระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ในการสร้างสรรค์งานออกแบบสื่อสาร





// กัมปนาท เฮี้ยนชาศรี // ที่ว่าการอำเภอ
->งานออกแบบอักขรศิลป์ (Typography)
กัมปนาทนำเสนอมุมมองของตนเองจากการพบปะผู้คนที่หลากหลายขึ้นตั้งแต่เขาเริ่มเข้าสู่อาชีพนักออกแบบเรขศิลป์ (Graphic Designer) เขามองเห็นความเป็นปัจเจกของบุคคลที่เขาค้นพบท่ามกลางการซ้ำของชื่อในทะเบียนราษฎร
ผลงานการออกแบบตัวอักษรของชื่อบุคคลต่างๆ ในสังคมที่เขาได้พบปะพูดคุย จะเป็นภาพสะท้อนอัตลักษณ์บุคคลเหล่านั้นจากมุมมองของผู้ออกแบบ





// กนกนุช ศิลปวิศวกุล // สถานะการณ์ (ธงชาติ) / ไทย-แลนด์ (แผนที่) / ซี เอ็ม วาย เค (ฟ้า บานเย็น เหลือง ดำ)
->เรขศิลป์จากการทอผ้าด้วยมือ (Graphic From Tapestry)
“การทำงานร่วมกันระหว่างสัญญะของวัสดุ” คือแกนความคิดหลักของผลงานสองมิติ ผ่านกระบวนการทอผ้าด้วยมือ (Tapestry)
กนกนุชนำเสนอมุมมองที่มีต่อเรื่องราวต่างๆ รอบตัว ได้แก่ ระบบสี CMYK จากการทำงานสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์ ใบปลิว ความขัดแย้งในสังคม โดยใช้การอยู่ร่วมกันของเส้นตั้งและเส้นนอนที่มาจากวัสดุต่างๆ เพื่อผลทางการสื่อสาร





// ณัชชพันธ์ พิศาลก่อสกุล // ๑ บาท
->งานออกแบบมัลติมีเดีย (Multimedia Design)
ผลงานการออกแบบเชิงโต้ตอบกับผู้ชมนิทรรศการที่ชวนให้ตระหนักถึง “ผลแห่งการกระทำ” โดยใช้น้ำหนักในการเหยียบลงบนแผ่นรับน้ำหนัก ผู้ชมนิทรรศการจะได้เห็นภาพที่แตกต่างกันอันเป็นผลมาจากน้ำหนักเท้าที่เหยียบลงไปของแต่ละคน





// ปริวัฒน์ อนันตชินะ // สทรีท (จริงหรือเท็จ)
// เดโช พิทักษ์เจริญ // สทรีท (เท็จหรือจริง)
->เรขศิลป์บนผนัง (Wall Graphics)
คะแลบบะเร’เชิน ด้วยการร่วมมือกันของนักออกแบบสองคน ที่มีแนวทางในการทำงานที่แตกต่างกัน แต่มีจุดร่วมที่ความสนใจเนื้อหาที่เป็นรายละเอียดทั้งหลายที่มีที่มาจากถนนหนทางในกรุงเทพมหานคร ภาพถ่ายของปริวัฒน์กับกราฟิกของเดโชที่อยู่บนผนังของห้องแสดงงานศิลปะ เป็นส่วนผสมที่สะท้อนข้อเท็จจริงและสิ่งปรุงแต่งที่ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป
อาจสะกิดให้เรามองเห็นการดำรงอยู่ของสิ่งต่างๆ ที่แปลกแยก แต่คุ้นชิน และบางสิ่งที่ขัดหูขวางตาแต่ก็ละเลยมันไป

ช่วง ๓ – ๔ เดือน ระหว่างการเตรียมผลงานออกแบบชุดนี้ ผมเห็นนักออกแบบทั้ง ๕ คน ที่มีงานประจำต้องรับผิดชอบอยู่ค่อนข้างจะรัดตัว หลายคนใช้เวลาช่วงกลางคืนทำงาน ใช้เงินส่วนตัวเพิ่มเติมจากงบที่ภาควิชาฯ สนับสนุน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ไม่มีผลตอบแทนเป็นจำนวนเงิน ในใจผมคิดอยู่ตลอดว่า...ไม่ง่ายนักที่จะมีทัศนคติและความมุ่งมั่นเช่นเดียวกับคนกลุ่มนี้ ผมดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของพวกเขา ผมขอบคุณภาควิชานิเทศศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่ทำให้เส้นทางการออกแบบสายทางเลือกไม่โดดเดี่ยวและอ้างว้างจนเกินไป และทำให้ผมยังคงเชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยมีหน้าที่มากกว่าผลิตแรงงานป้อนสู่ตลาดเหมือนที่ใครหลายคนเข้าใจเท่านั้น

และสุดท้ายคงต้องขอบคุณนักออกแบบทั้ง ๕ คน ที่ทำให้ผมตาสว่างว่า สังคมเราไม่ได้มีแต่คนที่ตั้งคำถามว่าจะทำอะไรเท่านั้น ถึงพวกเขาและเธอไม่เคยบอกผมว่าจะเป็นนักออกแบบแบบไหน...
...จากนิทรรศการครั้งนี้ ผลงานของทั้ง ๕ คน ก็แสดงออกมาแล้วว่าพวกเขาเป็นนักออกแบบแบบไหน...

“ยินดีต้อนรับครับ” //

No comments: