March 31, 2007

:: Emeric Thibierge ::

:: บทสัมภาษณ์ Emeric Thibierge ::
โดย มะลิ จาตุรจินดา / สันติ ลอรัชวี


^ 7 มีนาคม 2550 ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอคองคอร์ด

หลายคนคงไม่ค่อยคุ้นเคยกับอาชีพ “ นักออกแบบกระดาษ” เท่าไรนัก
Emeric Thibierge นิยามตัวเองในฐานะนักออกแบบกระดาษ ซึ่งเป็นบทบาทที่สดใหม่
สำหรับอุตสาหกรรมกระดาษและการออกแบบ ผม มะลิ และนิตยสารอีกสองฉบับ
มีโอกาสได้สนทนากับเขาในระหว่างที่เขามาทำกิจกรรมกับแอนทาลิส
และนี่คือบทสนทนาในวันนั้น ...

:: Q :: ทราบมาว่าคุณเป็น ‘นักออกแบบกระดาษ’ เพียงคนเดียวในโลก
ช่วยเล่าความเป็นมาให้เราฟังหน่อย ?
:: A :: ที่จริงแล้วตอนเด็กผมอยากเป็นสถาปนิก แต่พ่อแม่บอกผมว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพ
ที่ไม่มั่นคง และแนะนำให้ผมประกอบอาชีพทำงานในธนาคารผมจึงเข้าเรียนต่อที่
โรงเรียนธุรกิจ ผมเริ่มเข้าทำงานที่ธนาคารจนเมื่อเจ้านายได้อธิบายให้ผมฟังว่า
เมื่อประกอบอาชีพนี้ แล้วผมจะเป็นอย่างไรในอีก 30 ปีข้างหน้า ผมจึงลาออกเพราะ
คิดว่างานนี้ช่างน่าเบื่อเกินไปสำหรับผม ซึ่งจริงๆ แล้วผมไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งผมจะ
กลายมาเป็นนักออกแบบ ผมเพียงแค่ทำตามสัญชาตญาณของผม ผมเริ่มทำงานกับ
กระดาษโดยบังเอิญด้วยความคิดที่ว่ากระดาษนั้นมีศักยภาพมากเหลือเกินในการ
สร้างสรรค์งานออกแบบ เพราะกระดาษมีเรื่องของสี เนื้อกระดาษ effect
รวมทั้งมิติต่างๆ ทางเทคนิคผมสนใจ และด้วยการประกอบกันในเรื่องของสัญชาตญาณ
สุนทรียภาพ และส่วนของเทคนิค ทำให้วันนี้ผมกลายมาเป็นสิ่งที่ผมเคยฝันอยากเป็น
ในตอนเด็กเมื่อ 20 ปีที่แล้วนั่นคือ สถาปนิกทางด้านกระดาษ

:: Q :: แล้วคุณมาเริ่มอาชีพนี้ได้อย่างไร ?
:: A :: ผมจับพลัดจับผลูได้มาเริ่มงานกับบริษัทผลิตกระดาษแห่งหนึ่ง ประมาณปี 1998
และโชคดีได้พบกับเจ้านายของผม เขาบอกผมว่าผมมีความสามารถพอที่จะสร้างสรรค์
สิ่งต่างๆ แล้วผมก็มีโอกาสผลิตกระดาษขึ้นมารูปแบบหนึ่งสำหรับบริษัท ArjoWiggins
ใช้ชื่อว่า Rives ซึ่งในตอนนั้นประสบความสำเร็จไปทั่วโลก

:: Q :: อยากทราบตอนที่คุณออกแบบกระดาษแผ่นแรกของคุณ ?
:: A :: ผมสร้างขึ้นในความคิดของผม

:: Q :: งั้นในฐานะนักออกแบบเมื่อคุณจะต้องออกแบบกระดาษซักแบบหนึ่ง
คุณมีวิธีการ sketch งานอย่างไร ?
:: A :: มันค่อนข้างยาก เพราะเหมือนกับว่าถ้าผมต้องถ่ายทอดกระดาษที่อยู่ใน
ความคิดผมออกมาเป็นภาพแล้ว ผมก็คงทำได้แค่วาดสี่เหลี่ยมขึ้นมารูปหนึ่ง ส่วนเรื่อง
ลวดลายในกระดาษนั้นเป็นเรื่องของ effect ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณไม่สามารถวาด effect
ขึ้นมาได้ ดังนั้นผมจึงใช้วิธีสื่อสารกับวิศวกรของผมผ่านคำพูด เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ใน
หัวผมให้แก่พวกเขา

:: Q :: หลายคนเรียกผลงานของคุณว่า ‘boutique paper’
อยากให้คุณอธิบายคำๆ นี้ ?
:: A :: คุณคงต้องไปถามพวกเขา (หัวเราะ) ผมคิดว่าเขาคงหมายถึงกระดาษที่
มีเอกลักษณ์เฉพาะ คุณเข้าใจคำว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะไหม
มันก็เหมือนกับคนนั่นแหล่ะ แต่ละบุคคลล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งนั้น

:: Q :: โดยปกติแล้วเมื่อคนพูดถึงงานออกแบบจะนึกถึงเรื่องของความคิดเชิง
สร้างสรรค์ก่อนเรื่องกระดาษ ฉะนั้นอะไรทำให้คุณหันมาเป็นนักออกแบบกระดาษ ?
:: A :: ผมจะเล่าเรื่องให้คุณฟังเรื่องหนึ่ง เมื่อสมัยที่ผมทำงานให้กับ Arjo Wiggins
ผมพบว่าทางเลือกของกระดาษต่อนักออกแบบมีน้อยเหลือเกิน ผมหมายถึงสีที่มีอยู่
ก็น่าเบื่อ และไม่น่าสนใจเอาเสียเลย ในขณะที่ผมยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับกระดาษนั้น
ผมก็ได้มีโอกาสเดินทางไปยังกลางกรุงปารีส แถว St. Germain des Prés
ที่เต็มไปด้วยร้านขายผ้า ผมจึงตระหนักว่าทางเลือกของกระดาษนั้นมีจำกัดมาก
ยิ่งเมื่อเทียบกับผ้าแล้วผ้ามีแบบให้เราเลือกเยอะมาก ขนาดที่คุณใช้เวลาค้นหาชั่วชีวิต
ก็ยังไม่หมด ในขณะที่เมื่อเทียบกับกระดาษนั้นเพียงชั่วโมงเดียวคุณสามารถรู้จัก
กระดาษในโลกทุกแบบแล้ว ผมเลยเริ่มสงสัยว่าทำไมถึงได้แตกต่างกันนักระหว่าง
ทางเลือกของแบบกระดาษกับแบบผ้า ผมพบว่าสำหรับผ้านั้นเรามี Fashion Designer
ที่มองหาผ้าแบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ส่วนกระดาษเราก็มี Graphic Designer
ที่มองหานวัตกรรมทางด้านกระดาษใหม่เหมือนกัน ทั้งที่กระดาษมีให้เราเลือกน้อยมาก
ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมีอาชีพที่เรียกว่านักออกแบบผ้า (Fabric Designer)
ดังนั้นการที่ในโลกนี้มีกระดาษให้เลือกน้อยแบบนั้นอาจเป็นเพราะเรายังไม่มี
อาชีพนักออกแบบกระดาษ (Paper Designer) ก็ได้ ในขณะที่ผมเพิ่งเริ่มเข้าสู่
อุตสาหกรรมกระดาษได้เพียง 3 อาทิตย์ ผมคิดว่าเราต้องการอาชีพใหม่เกี่ยวกับ
กระดาษ และหลังจากนั้นเพียง 2 ปี ผมก็เริ่มบริษัทเล็กๆ ของผมคือ
Thibierge & Comar เพื่อสานต่อความคิดของผมในเรื่องนี้
ซึ่งในตอนนั้นผมเป็นคนหนุ่มที่สร้างบริษัทเล็กๆ ของตัวเองขึ้น สร้างสรรค์อาชีพใหม่
ของตัวเอง และสร้างสรรค์งานกระดาษด้วย ที่ผมพูดมาคือปี 1992 เมื่อ 15 ปีที่แล้ว

:: Q :: โดยปกติเวลานักออกแบบสร้างงานขึ้นมาชิ้นหนึ่งนั้นมักจะคำนึงถึงเรื่อง
กระดาษเป็นเรื่องรอง คุณมีวิธีโน้มน้าวให้คนหันมาให้ความสำคัญกับกระดาษอย่างไร ?
:: A :: ผมคิดว่ายิ่งเราสร้างทางเลือกให้กับกระดาษมากขึ้นเท่าไหร่ พวกเขาก็จะให้
ความสำคัญกับกระดาษมากขึ้นเท่านั้น วิธีการที่ถูกคือการที่นักออกแบบคิดถึงกระดาษ
ที่จะใช้ก่อนแล้วค่อยคิดว่าจะออกแบบอย่างไรให้เหมาะสมกับกระดาษที่ตนเลือกใช้
เช่น ถ้าคุณเลือกที่จะใช้กระดาษเคลือบ คุณจะรับรู้ได้ว่ากระดาษเคลือบนั้นเย็นชา
มีความแบนราบ ไร้สี ฉะนั้นถ้าคุณออกแบบบนคอมพิวเตอร์แล้วเพียงแค่พิมพ์ลงบน
กระดาษเคลือบ มันก็ไม่น่าสนใจเท่าไหร่นัก เมื่อวานนี้ผมพบกับ Creative Director
ของ J.Walter Thompson เขาบอกผมว่าคนที่เลือกว่าจะใช้กระดาษอะไรใน
งานออกแบบคือ Production Manager นั่นหมายถึงว่าการเลือกไม่ได้ตั้งอยู่บน
พื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์ แต่กลับเลือกบนพื้นฐานทางเทคนิค ดังนั้นผมคิดว่า
ยิ่งเราสร้างกระดาษแบบต่างๆ มากขึ้นเท่าไหร่ เราจะยิ่งดึงความสนใจของนักออกแบบ
ได้มากเท่านั้น นั่นคือการสร้างความเคยชินให้คนหันมาใส่ใจกับเรื่องของกระดาษว่า
เป็นส่วนสำคัญหลักในงานออกแบบ โดยคิดว่าจะเลือกแบบกระดาษก่อนทึ่จะคิดถึงเรื่อง
งาน Graphic Illustration รูปถ่าย หรือ Typography เพราะกระดาษจัดเป็น
องค์ประกอบหนึ่งของงานออกแบบ ดังนั้นนักออกแบบควรคิดว่าจะนำเสนอกระดาษ
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบได้อย่างไร ผมจึงต้องทำงานต่อไปเพื่อ
สร้างสรรค์แบบกระดาษที่แตกต่าง

:: Q :: กระดาษของคุณได้รับความสนใจในประเทศต่างๆ แค่ไหน ?
:: A :: ผมคิดว่าได้รับความสนใจพอๆกับที่ฝรั่งเศสเลย เมื่อตอนที่เริ่มทำงานนี้ผมคิดว่า
ถ้าเราโชคดีเราอาจสร้างความสนใจให้คนในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เยอรมัน
และประเทศอื่นๆทั่วโลก ผมค่อนข้างประหลาดใจที่ผมสามารถส่งออกกระดาษไปกว่า
20 ประเทศทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และในตอนนี้เราส่งออกไปถึง 35 ประเทศทั่วโลก
ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศญี่ปุ่น ผมภูมิใจในการนำเสนอกระดาษของผมสู่ประเทศญี่ปุ่นมาก
มันเหมือนกับคุณขายน้ำแข็งให้กับพวกเอสกิโม ชาวญี่ปุ่นมีทักษะความรู้
และความช่ำชองในการเลือกใช้กระดาษมาก

:: Q :: คุณพยายามที่จะสร้างความสมดุลระหว่างหน้าที่ของกระดาษเพื่อรองรับ
งานออกแบบกับการแสดงลักษณะเฉพาะของกระดาษมั้ย ?
:: A :: ผมไม่ได้คำนึงถึงกระดาษในเชิงหน้าที่เสมอไป เช่น ผมได้แรงบันดาลใจใน
การสร้างกระดาษ CROMATICO จาก Murano Island ที่มีชื่อเรื่องการทำแก้ว
ผมหลงไหลในความโปร่งแสงของแก้ว และสีที่เข้มลึกของมัน ผมว่ามันน่ามองและ
ประทับใจผมมาก ผมจึงอยากจะสร้างกระดาษที่มีความเข้มลึกของสี และโปร่งแสงอย่างแก้ว
ซึ่งนั่นไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของกระดาษเลย หน้าที่อย่างเดียวของมันคือเติมเต็มความต้องการ
ส่วนตัวของคน มันเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกล้วนๆ ผมใช้เวลาถึง 2 ปีในการพัฒนา
กระดาษนี้ให้สามารถกระทบกับแสงคล้ายแก้วแต่สียังคงเข้มข้นอยู่ ผมสร้างกระดาษตัวนี้ขึ้นมา
5 สีด้วยกัน แต่ในขณะที่กำลังจะขายมีคนบอกว่าผมบ้าที่ใช้เวลาถึง 2 ปีในการพัฒนา
กระดาษขึ้นมา และเสี่ยงนำขายในตลาดเพียงเพราะได้ไปเห็นคนทำแก้วที่เกาะ Murano
และคิดว่ามันสวยเหลือเกิน เนื่องจากอุตสาหกรรมกระดาษเป็นตลาดที่ใหญ่มาก
ผมจึงตัดสินใจทำ Market Research โดยเอากระดาษของผมไปให้นักออกแบบ
ที่เมืองบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยมดู และผมก็ผิดหวังมากเพราะการตอบรับค่อนข้าง
ไปในทางลบ โดยเขาคิดว่าไม่มีีใครใช้กระดาษโปร่งแสง เพราะมันประหลาด ใช้ยาก
พิมพ์ก็ยาก และราคาแพง แต่คนสุดท้ายที่ผมไปพบเป็น Creative Director ของ
Publicis ซึ่งเป็นผู้มากประสบการ์ณบอกผมว่า คุณมีความคิดที่ยอดเยี่ยม
ควรทำต่อไป แต่ 5 สีที่ทำนั้นไม่พอ ควรสร้าง 8, 10 หรือ 12 สี แล้วคุณจะพบว่า
คุณได้สร้าง fashion ที่ทุกคนจะต้องตามคุณ นี่เป็นสิ่งที่ผมอยากที่จะได้ยิน
ผมจึงกลับไปยังออฟฟิศและบอกทุกคนว่าเราจะทำกระดาษ 12 สี แต่ทุกคนบอกว่า
ผมควรจะหยุดมันเพราะ Market Research บอกอย่างนั้น และในที่สุดกระดาษของผม
ก็ประสบความสำเร็จไปทั่วโลก ผมยังคงทำ Market Research อยู่ แต่ทำในสิ่งตรงข้าม
กับผลที่ออกมา ตอนที่ CROMATICO ขายในตลาดนั้นคือปี 1998
ตรงกับที่ imac รุ่นสีลูกกวาดวัสดุใสที่ออกแบบใน California ออกมาพอดี
กระดาษที่ผมทำจึงจัดว่า trendy มาก ในตอนนั้นผมเริ่มจดความคิดผมทั้งหมดลงใน
สมุดโน้ตซึ่งนี่อาจเป็น trend ใหม่ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าก็ได้

:: Q :: คุณคิดว่าทิศทางของงานออกแบบกระดาษในอนาคตจะเป็นอย่างไร ?
:: A :: เป็นคำถามที่ยากมาก ผมพยายามสร้างกระดาษที่มีความลักษณะเฉพาะตัว
และโดดเด่น ผมจะไม่พยายามผสมผสานลักษณะเฉพาะของกระดาษแต่ละตัวเข้าด้วยกัน
ผมรู้สึกว่าอีกหน่อยกระดาษจะมีลักษณะเฉพาะมากขึ้น
เช่นกระดาษด้านก็จะมีความด้านมาก หรือกระดาษมันก็จะมันมาก ไม่มีครึ่งๆ กลางๆ
ปีที่แล้วผมกลับไปร่วมงานกับ Art director ของ ArjoWiggins อีกครั้งเพื่อสร้างกระดาษ
ใช้เวลา 2 เดือนในการเยี่ยมชมโรงงานกระดาษ 32 แห่ง ซึ่งมีเครื่องจักรกว่า 50 เครื่อง
จากการเยี่ยมชมผมเสนอความคิดเกี่ยวกับกระดาษใหม่ถึง 17 ความคิดด้วยกัน
เพื่อผลิตกระดาษ 17 แบบซึ่งแสดงให้เห็นว่าศักยภาพของความคิดสร้างสรรค์จากกระดาษ
ไม่มีที่สิ้นสุด ตอนนี้ผมทำงานกับวิศวกรจาก Technology Innovation Department
ให้เขาผลิตต้นแบบให้ผมจำนวน 23 ต้นแบบ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะผลิตมันออกมาจริงได้ทั้งหมด
ผมจึงมีอิสระเต็มที่ในการสร้างสรรค์งานกระดาษ

:: Q :: เป็นที่รู้กันว่ากระดาษเหล่านี้มีคุณภาพเยี่ยมยอดแต่ราคาก็แพงตามไปด้วย
ไม่ทราบว่าคุณมีคำแนะนำอย่างไรในการใช้กระดาษเหล่านี้ได้อย่างคุ้มค่า ?
:: A :: กระดาษพวกนี้ราคาแพงกว่ากระดาษทั่วไปอยู่แล้ว เพราะการออกแบบกระดาษ
เหล่านี้ต้องอาศัยความรู้ด้านเทคโนโลยี ประสบการณ์และ ความชำนาญเฉพาะด้าน
แต่ตอนนี้กระดาษก็อยู่ในราคาที่จ่ายได้ เมื่อสักครู่คุณพูดถึงเรื่องหน้าที่ (function)
ของกระดาษ ผมขอบอกว่าบางครั้งกระดาษไม่มีหน้าที่อะไรนอกจากเพื่อดึงดูดความสนใจ
เหมือนกับที่คุณใส่ตุ้มหู ตุ้มหูก็ไม่มีหน้าที่อะไรนอกจากเพื่อความสวยงาม กระดาษก็อาจ
ใช้เป็นเครื่องประดับได้เหมือนกัน ถ้าคุณมีกระดาษแผ่นหนึ่งที่สวยและดึงดูดความสนใจ
คุณอาจใช้กระดาษเพียงแค่แผ่นเดียวซึ่งก็ตีเป็นราคาไม่มาก
แต่คุณจะได้งานที่แตกต่างและโดดเด่นได้

:: Q :: คุณมีวิธีโน้มน้าว graphic designer อย่างไร
ให้หันมาให้ความสำคัญกับการเลือกใช้กระดาษ ?
:: A :: อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่าวิธีหนึ่งคือการสร้างทางเลือกของกระดาษให้มากขึ้น
เพื่อให้นักออกแบบหันมาสนใจนำการเลือกใช้กระดาษให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวน
การออกแบบ อีกวิธีหนึ่งคือการให้ความรู้ ที่จริงผมค่อนข้างผิดหวังที่ผมประกอบ
อาชีพนี้มากว่า 19 ปี พยายามเผยแพร่อาชีพนี้ในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นยุโรป
เอเชีย แต่ผมก็ยังสงสัยว่า ทำไมจนบัดนี้เรายังไม่มีนักออกแบบกระดาษคนอื่น
ผมรู้สึกว่าผมโชคดีที่ได้ทำอาชีพนี้ ทำไมไม่มีนักออกแบบผ้าที่หันมาสนใจกระดาษ
เพราะทั้งสองวิชามีความใกล้เคียงกันมาก
ผมหวังว่าในอนาคตเราจะมีโรงเรียนสอนออกแบบกระดาษเหมือนกับที่มีการเรียน
การสอนออกแบบผ้าในญี่ปุ่น ฝรั่งเศส หรืออเมริกา เมื่อ 2 ปีที่ผมและ Antalis
ไปประเทศจีน เพื่อโปรโมท Thibierge & Comar ผมบอกกับนักเรียนที่นั่นว่า
ผมฝันที่จะก่อตั้งโรงเรียนหรือวิชาออกแบบกระดาษขึ้น ผมอยากสอนในสิ่งที่
ผมได้เรียนรู้และสั่งสมมาในระยะเวลา 20 ปีนี้ ซึ่งเท่าที่ผ่านมาผลตอบรับกับ
ความคิดนี้ค่อนข้างดีมาก ผมจึงคิดว่าในอนาคตอันใกล้นี้ผมจะทำมันขึ้นมา
วันหนึ่งผมทำงานกับผู้ผลิตกระดาษที่มีเครื่องจักรใหญ่โตแต่เขากลับบอก
ผมว่าเขาไม่ทำงานร่วมกับนักออกแบบกระดาษ ซึ่งผมก็แปลกใจ
เพราะผมเป็นเพียงนักออกแบบกระดาษคนเดียวที่มี
ผมฝันที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดกับนักออกแบบกระดาษคนอื่นๆบ้าง

:: Q :: คุณออกแบบกระดาษเพื่อตอบสนองความต้องการของคนทั่วไปแค่ไหน ?
:: A :: ไม่เสมอไป แต่ผมพยายามสร้างกระดาษที่ใช้ได้จริง ผมเคยคิดจะออกแบบ
กระดาษที่มีรู แต่วิศวกรเตือนว่าให้ระวัง เพราะคุณไม่สามารถพิมพ์
ทำเป็นซองจดหมาย หรือเย็บขึ้นมาเป็นเล่มได้ ผมพยายามคิดว่านักออกแบบจะใช้
กระดาษผมอย่างไร เพราะกระดาษจะต้องถูกนำไปใช้ต่อ ก็เหมือนกันกับไวโอลิน
และนักออกแบบไวโอลิน ความน่าสนใจของไวโอลินเกิดขึ้นเมื่อนักดนตรีนำไปเล่น
กระดาษก็เหมือนกันที่ว่า จะน่าสนใจเมื่อผ่านมือ Graphic Designer

:: Q :: คุณคิดว่ากระดาษของคุณจะถูกนำไปใช้ในงานออกแบบอื่นนอกจากงานพิมพ์ได้ไหม ?
:: A :: แน่นอน เนื่องจากกระดาษบางตัวของผมโปร่งแสงจึงมีนักออกแบบบางคน
นำกระดาษ CROMATICO ไปทำเป็นแผ่นครอบไฟต้นคริสมาสต์ซึ่งประสบ
ความสำเร็จมากในยุโรป เพราะมันช่วยสร้างสิ่งใหม่ที่มีสีสันและความงาม เช่น
ทำเป็นโคมไฟแล้วห้อยลงมาจากเพดาน ผมอยากให้มีคนเอากระดาษผมไปทำเป็น
เฟอร์นิเจอร์ เพราะกระดาษมีลักษณะเฉพาะบางอย่างที่ดีว่าวัสดุหลายตัวเช่นความเบา
เมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้วผมได้ไปดูงานแสดงเฟอร์นิเจอร์ชื่อ Design Now
ผมเห็นนักออกแบบใช้วัสดุต่างๆ เช่น พลาสติก เหล็ก หิน ไม้ แต่ไม่มีใครใช้กระดาษเลย
ผมเลยคิดว่านักออกแบบกระดาษควรสร้างสรรค์กระดาษที่เหมาะกับงานเฟอร์นิเจอร์
งานออกแบบภายใน หรือโคมไฟบ้าง เมื่อก่อนที่ผมจะมากรุงเทพ
มีคนสนใจจะใช้ Dentelle เพราะลวดลายในเนื้อของกระดาษ เขาใช้แผ่นแกัว 2 แผ่นมา
ประกบกระดาษ Dentelle เพื่อผสมผสานความอบอุ่นนุ่มนวลของกระดาษ Dentelle
เข้ากับเนื้อแก้วที่แข็ง นอกจากนั้นผมยังพบว่ากระดาษที่มีตอนนี้ยังไม่มีตัวไหนที่ไม่ไหม้ไฟ
นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไม Interior Designer ไม่ใช้กระดาษในงานออกแบบ
ฉะนั้นนักออกแบบกระดาษบางครั้งน่าจะสร้างกระดาษเพื่อตอบสนองความต้องการ
เฉพาะสำหรับนักออกแบบภายในบ้าง

:: Q :: กระดาษจะใช้สร้างงานประติมากรรมได้ไหม ?
:: A :: แน่นอน เคยมีวันหนึ่งขณะที่ผมกำลังผลิต CROMATICO สีส้มอยู่นั้น
เกิดมีกระดาษขาดติดอยู่ข้างในเครื่องจักร ทำให้ทุกอย่างหยุดลง กระดาษกระเด็น
ออกมานอกเครื่องจักรไม่หยุดเลยทำให้เกิด CROMATICO สีส้มกองมหึมาตกอยู่
ข้างเครื่องจักร ผมเห็นกองกระดาษสีส้มเหมือนงานประติมากรรมต้องกับแสงที่สาด
ลงมาจากหลังคาแล้วสวยมาก รีบวิ่งกลับเข้าไปเอากล้องในออฟฟิศเพื่อมาเก็บภาพ
แต่น่าเสียดายพอออกมาพวกเขาทำความสะอาดไปหมดแล้ว
ผมพยายามทำขึ้นมาใหม่แต่ก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว

:: Q :: คำถามสุดท้าย คุณได้แรงบันดาลใจจากการไปเยือนเมืองต่างๆ
ไม่ทราบว่ากรุงเทพสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างกระดาษแก่คุณหรือเปล่า
ถ้าใช่กระดาษจะออกมาเป็นแบบไหน ?
:: A :: ผมขอตอบคำถามนี้ในอีก 2 ปีข้างหน้าได้ไหม…

No comments: